Skip to main content
sharethis

กลุ่ม นศ. หลายมหาวิทยาลัยจัดงานลอยกระทงหน้า ศปภ. ยื่นแถลงการณ์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้รัฐบาล แนะควรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ชี้ มหาวิทยาลัยควรผ่อนผันค่าเทอมให้กับ นศ. ที่ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เวลา 17.00 น. เครือข่ายนักศึกษา ได้จัดกิจกรรมลอยกระทงส่งมวลน้ำลงทะเล ที่หน้า ศปภ. กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดี ซอยวิภาวดี 11 เนื่องด้วยมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าปกคลุมพื้นที่กว่า 26 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศประสบอุทกภัยร่วมกันมา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน เครือข่ายนักศึกษาได้แก่ กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้านมหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (YPD) และเครือข่ายยังเติร์กคอนเนคชั่น ที่ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมลอยกระทง ที่หน้า ศปภ. ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และอ่านแถลงการณ์เสนอต่อรัฐบาลถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอคือ 1. รัฐบาลควรจัดทำนโยบายเฉพาะหน้าในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน 2. รัฐบาลควรสรุปบทเรียนแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ 3. รัฐบาลควรมีบทบาทประสานความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน 4. รัฐบาลควรให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 5. มหาวิทยาลัยควรมีมาตราการยกเว้น หรือผ่อนชำระค่าเทอมในแก่นิสิตนักศึกษาที่ประสบอุทกภัย 6. ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ทำงานด้วยจิตอาสาอันบริสุทธิ์นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ 0000 แถลงการณ์ ข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เยียวยาถ้วนหน้า ร่วมมือฟื้นฟู เตรียมพร้อมป้องกั้น เมื่อมวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่กว่า 26 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศประสบอุทกภัยอย่างแสนสาหัสตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถประเมินได้ว่า กว่าที่สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายผ่านพ้นเข้าสู่สภาวะปกตินั้น ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนและกลุ่มกิจกรรมนิสิตนักศึกษาได้ระดมกำลังกันลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย แต่ก็ยังมีพื้นที่บางพื้นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง บางพื้นที่ซึ่งเคยเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยถูกละเลยทอดทิ้ง ในหลายพื้นที่ยังได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และพื้นที่เกษตรกรรมก็เกิดให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรโดยที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ ด้วยเหตุนี้เรา เครือข่ายนักศึกษาที่ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ จึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะชน ดังนี้ 1. รัฐบาลควรจัดทำนโยบายเฉพาะหน้าในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายของประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท ระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างผู้ประกอบกับลูกจ้าง 2. รัฐบาลควรสรุปบทเรียน แนวทางในการบริหารจัดการน้ำ และจัดทำแผนการรับมืออุทกภัยโดยเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน และต้องไม่มีการขายสัมปทานกิจการบริหารจัดการน้ำให้ชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการ 3. รัฐบาลและ ศปภ.ควรมีบทบาทในการประสานความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร สิ่งของที่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเอง 4. รัฐบาลควรให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเรื่องสถานการณ์น้ำ 5. มหาวิทยาลัยทั้งที่อยู่ตั้งในเขตอุกทกภัยและนอกเขตอุทกภัย ควรมีมาตรการในการยกเว้น ปรับลดค่าเทอมในอัตราที่เหมาะสม หรือมีมาตรการในการผ่อนชำระค่าเทอม ให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ประสบอุทกภัย และต้องมีการเยียวยา ฟื้นฟูทั้งส่วนเจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย 6. ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ทำงานด้วยจิตอาสาอันบริสุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ “เราจะร่วมฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” ด้วยจิตคารวะ 10 พฤศจิกายน 2554 กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย(YPD) และเครือข่ายยังเติร์กคอนเนกชั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net