พุทธศาสนาไม่มีศีลธรรมทางสังคม?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในบางกรณีที่เรียกว่า “การทำความดี” ในทางพุทธศาสนานั้น หากมองด้วยมาตรฐานจริยธรรมปัจจุบันอาจไม่ใช่ความดีก็ได้ เช่น กรณีที่พระเวสสันดรบริจาคลูกให้เป็นทาสเพื่อตนเองจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ในสายตาของนักจริยศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ เช่น ค้านท์ (Immanuel Kant) ถือว่าเป็น “ความชั่ว” เพราะเป็นการใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือให้บรรลุจุดหมายของตนเอง และเมื่อมองจาก concept ของสิทธิมนุษยชน ระบบทาสเป็นระบบที่เลวร้ายในตัวมันเองอยู่แล้ว การบริจาคลูกให้เป็นทาสจึงนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นสนับสนุนระบบทาสที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ดำรงอยู่อีกด้วย หากพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยของเรา พระองค์คงไม่สร้างเรื่องเล่าเพื่อโปรความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเรื่อง “เวสสันดรชาดก” เป็นแน่ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธควรกล้ายอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่า มาตรฐานทางจริยธรรมบางอย่าง (เช่น หลักสิทธิมนุษยชน) ในยุคสมัยของเราก้าวหน้ากว่าที่พระพุทธเจ้าสอน เวลาที่มีนักคิดตะวันตกบางคน (เช่น แม็กซ์เวเบอร์ วินสตัน แอล.คิง เป็นต้น) วิจารณ์ว่า พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม หรือปรัชญาสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ เพราะเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาคืออิสรภาพทางจิตวิญญาณ หรือความพ้นทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล การทำความดีต่างๆ ทางพุทธศาสนาก็เพื่อเป้าหมายเชิงปัจเจกดังกล่าวเป็นหลัก (เช่น กรณีพระเวสสันดร เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงปัจเจกแล้วยอมแม้กระทั้งบริจาคลูกให้เป็นทาส) ชาวพุทธก็มักจะออกมาโต้แย้งข้อวิจารณ์ดังกล่าวว่า นั่นเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงพุทธศาสนามีมิติทางสังคม และมักจะอ้างเหตุผลประมาณว่า 1) ตอนส่งพระสาวก 60 รูปไปประกาศพรหมจรรย์ พระพุทธองค์บอกแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ให้แสดงธรรมเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน 2) มีคำสอนของพุทธศาสนามากมายที่สอนเกี่ยวกับเรื่องทางสังคม คุณธรรมของผู้ปกครอง (ทศพิธราชธรรม ฯลฯ) คุณธรรมที่ทำให้รัฐเจริญมั่นคง (วัชชีธรรม หรือ อปริหานิยธรรม ฯลฯ) คุณธรรมที่แสดงความมีน้ำใจ และการเกื้อกูลกันในทางสังคม หรือคุณธรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ (สังคหวัตถุ ฆราวาสธรรม มงคล 38 ฯลฯ) 3) พุทธศาสนาถือว่า ถ้าคนแต่ละคนเป็นคนดีมีศีลธรรม เช่น มีศีลห้าเป็นต้น สังคมก็จะดีตามไปด้วย หมายความว่า การมีศีลธรรมของปัจเจกบุคคลแต่ละคนนั่นเอง จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความสงบสุขทางสังคม แต่ประเด็นคือ เวลาที่นักคิดตะวันตกพูดถึง “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) เขาหมายถึง ศีลธรรมที่อยู่บนรากฐานของ “ปรัชญาสังคม” (social philosophy) บางอย่าง ซึ่งหมายความว่า ศีลธรรมทางสังคมจะต้องวางอยู่บนรากฐานของปรัชญาสังคมบางอย่างเสมอ และหลักการทางปรัชญาสังคมสมัยใหม่คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฉะนั้น มโนทัศน์ (concept) เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม นั่นเอง คือรากฐานของศีลธรรมทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในการทำดีทางศีลธรรมอย่างหนึ่ง คือ “การพูดความจริง” ถ้าเราพูดความจริงบน concept ว่า เป็นการปฏิบัติตามศีลห้าข้อที่สี่ เพื่อสั่งสมบุญกุศลแก่ตนเอง หรือเพื่อขัดเกลาตนเอง การพูดความจริงของเราก็เป็นการมีศีลธรรมเชิงปัจเจก (individual morality) แต่ถ้าเราพูดความจริงบน concept ว่า การพูดความจริงเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ เพราะเป็นการเคารพศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ ซึ่งตามความคิดของค้านท์ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี (dignity) ในตัวเอง สิ่งที่แสดงว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรีในตัวเองคือ “เสรีภาพ” (freedom) หมายความว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการปกครองตนเอง ด้วยการที่เขาสามารถใช้เหตุผลวินิจฉัยถูกผิดทางศีลธรรมด้วยตนเองได้ และกำหนดกฎศีลธรรมที่ถูกต้องให้ตนเองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามได้ ฉะนั้น การพูดความจริงเพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ จึงเป็นศีลธรรมทางสังคม บางคนอาจคิดว่า ในเมื่อเป็นการกระทำเดียวกัน คือ “การพูดความจริง” เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะพูด (หรือทำ) บน concept อะไร มันก็มีค่าเท่ากันมิใช่หรือ? แต่ข้อพิจารณาในที่นี้คือ concept ของศีลธรรมเชิงปัจเจกกับศีลธรรมเชิงสังคมที่มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานนั้น ย่อมนำไปสู่ความมีเหตุผลหรือแรงจูงใจในการกระทำทางศีลธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การพูดความจริงบน concept ของศีลธรรมทางสังคมย่อมนำไปสู่การมี “จิตสำนึกทางสังคม” เช่น จิตสำนึกเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งทำให้เรายึดหลักการว่า “การเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ (ทั้งของตนเองและผู้อื่น) เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม” หลักการดังกล่าวบ่งบอกคุณค่าทางสังคมว่า “สังคมอารยะ คือสังคมที่ทุกคนมีพันธะทางจริยธรรมในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” แต่การพูดความจริงบน concept ของศีลธรรมเชิงปัจเจกไม่ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจและคุณค่าของสังคมอารยะในความหมายดังกล่าว ฉะนั้น ศีลธรรมเชิงปัจเจกจึงเป็นหลักประกันคุณค่าเชิงปัจเจกบุคคล แต่ศีลธรรมเชิงสังคมเป็นหลักประกันให้เกิดคุณค่าเชิงสังคม ยกตัวอย่างการกระทำในบางสถานการณ์ เช่น ถ้าเราช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมบน concept ว่า “วิกฤตของประเทศเป็นโอกาสที่เราแต่ละคนจะได้ทำความดีด้วยการแสดงน้ำใจต่อกัน” (ตามที่พระบางรูปสอน) กับถ้าเราช่วยเหลือบน concept ว่า “เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่เราต้องช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ที่เขามีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ” จะเห็นว่า การกระทำทางศีลธรรมตาม concept แรกขึ้นอยู่กับ “ความมีน้ำใจ” ของตัวผู้กระทำเป็นหลัก แต่ตาม concept หลังขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคนอื่นเป็นหลัก concept แรกเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจก ถ้าเราเห็นว่าการแสดงน้ำใจต่อผู้อื่นมันดีสำหรับตัวเรา เช่น ช่วยให้จิตใจเราสูงส่งขึ้น หรือเป็นการขัดเกลาความเห็นแก่ตัวให้ลดลงและ ฯลฯ เราก็ให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้น หรือบังเอิญเราเป็นคนไม่มีน้ำใจ เราก็ไม่ช่วยเหลือ แต่ตาม concept หลัง มันไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำใจ แต่มันเป็น “หน้าที่ทางศีลธรรม” คือ เป็นหน้าของเราทุกคนที่ต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ (ตามความสามารถที่เราช่วยได้) พูดอีกอย่างว่า ศีลธรรมทางสังคมมีลักษณะเป็นพันธะทางสังคม หรือเป็นหน้าที่ทางสังคมที่มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อกันบนหลักการว่า “มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคทางศีลธรรม” ฉะนั้น การให้ความช่วยเหลือตาม concept แรกจึงเป็นหลักการของศีลธรรมเชิงปัจเจกที่มุ่งคุณค่าเชิงปัจเจก เช่น ช่วยพัฒนาจิตใจของปัจเจกให้เป็นคนดี เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว ฯลฯ แต่การให้ความช่วยเหลือตาม concept หลัง เป็นหลักการของศีลธรรมทางสังคมที่มุ่งสร้างคุณค่าเชิงสังคม เช่น สร้างหลักการ ระบบ หรือกติกาทางสังคม เพื่อรองรับการเป็นสังคมอารยะที่มนุษย์เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของกันและกัน และมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องช่วยเหลือกันและกัน เมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสถานะที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าเมื่อนักคิดตะวันตกวิจารณ์ว่า “พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม” นั้น เขาหมายถึงว่า ระบบศีลธรรมของพุทธศาสนาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของปรัชญาสังคม พุทธศาสนาจึงไม่มีมโนทัศน์เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางสังคม เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ที่จะใช้เป็นหลักการรองรับการสร้างระบบ หรือกติกาทางสังคมการเมืองเพื่อส่งเสริม ปกป้องคุณค่าเชิงสังคม เช่น ความเป็นสังคมอารยะที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกันและกันเมื่ออีกฝ่ายมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น แต่หลักศีลธรรมของพุทธศาสนาเป็นศีลธรรมเชิงปัจเจก เพราะเป็นศีลธรรมที่วางอยู่บน concept ของคุณค่าเชิงปัจเจกในความหมายว่า ไม่ว่าคุณจะทำความดีในเรื่องใดๆ ก็ตาม คุณก็ทำความดีนั้นๆ เพื่อขัดเกลาจิตใจตนเองเป็นหลัก เช่น เพื่อยกระดับจิตใจตนเองให้สูงส่งขึ้น และ/หรือเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือความพ้นทุกข์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็น “ปัจจัตตัง” หรือเป็นเรื่องของคุณค่าที่เป็นความสุขส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง และแม้ว่าพุทธศาสนาจะมีหลักการว่า แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน แต่ประโยชน์สุขที่ว่านั้น ก็คือประโยชน์สุขในมิติปัจเจกบุคคลในระดับต่างๆ จนสูงสุดคือความหลุดพ้นดังกล่าวที่พุทธศาสนาต้องการหยิบยื่นให้แก่มหาชน ฉะนั้น หากชาวพุทธจะโต้แย้งข้อวิจารณ์ของนักคิดตะวันตกที่ว่า “พุทธศาสนาไม่มีมิติทางสังคม” ก็ต้องโต้แย้งด้วยการแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนามีระบบศีลธรรมทางสังคมที่อยู่บนรากฐานของปรัชญาสังคมแบบไหน อย่างไร หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของระบบสังคมการเมือง เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ตามทัศนะของพุทธศาสนามีเนื้อหาเป็นอย่างไร ไอ้ที่เถียงๆ เขาต่างๆ นานานั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อวิจารณ์ของเขาได้เลยครับ เพราะเถียงมั่วๆ แบบ “มวยวัด” เสียโดยมาก! แถมอีกนิด การทำความดีบางเรื่องที่สอนๆ กันอยู่ก็แสดงถึง “ตรรกะวิบัติ” อีกต่างหาก เช่น ที่สอนกันว่า “บุญหรือความดีคือสิ่งที่ทำแล้ว สุขใจ สบายใจ บาปหรือความชั่วคือสิ่งที่ทำแล้วทุกข์ใจ ไม่สบายใจ” นั้น ถามง่ายๆ ว่า พระเวสสันดรบริจาคลูกให้เป็นทาส (ความดีตามที่พระพุทธเจ้าสอน) ทำไปด้วยความสุขใจสบายใจไหม จินตนา แก้วขาว ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนจนตนเองต้องติดคุก สุขใจ สบายใจไหม ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ สละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ สุขใจ สบายใจไหม หากคนในตัวอย่างเหล่านี้ (เป็นต้น) เห็นว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นคือความถูกต้อง แล้วเขาก็ตัดสินใจทำแม้จะต้องแลกด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง หรือแม้กระทั่งยอมตาย ถ้านิยามดังกล่าวถูกต้อง การกระทำของพวกเขาก็ไม่นับว่าเป็น “ความดี” ใช่หรือไม่! และอีกอย่างคือ ธรรมะที่นิยมสอนๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ก็มักจะเน้น “ธรรมะทำใจ” ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นด้านหลัก สังคมเกิดความขัดแย้งก็ให้ทำใจปล่อยวางตัวกูของกู ไม่ให้โกรธกัน ให้รักกัน ให้เมตตาต่อกัน วิกฤตธรรมชาติก็ให้ทำใจ ฯลฯ ซึ่งที่จริงธรรมะทำใจถ้าทำได้ก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ว่าความยุติธรรมไม่ใช่ธรรมะหรือ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นต้นไม่ใช่ธรรมะหรือ ถ้าใช่ทำไมพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปจึงไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อ “ธรรมะเชิงสังคม” เหล่านี้เลย แล้วที่ป่าวประกาศอยู่ตลอดเวลาว่า พระพุทธเจ้าสอนสัจธรรมที่แท้จริง สอนความจริง ความถูกต้อง จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อสังคมพุทธแห่งนี้เองกลับมีกฎหมายอย่าง ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายห้ามพูดความจริงที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจสาธารณะเพื่อรักษาความถูกต้องโปร่งใส เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมของสังคม ทำไมไม่เห็นพระปัญญาชน พระเอ็นจีโอ พระเซเลบริตี้ หรือ “กูรูทางพุทธศาสนา” คนใดเลยที่โปรสัจจะ ความจริง ความถูกต้อง ออกมาเรียกร้องให้แก้ ม.112 (เป็นต้น) บ้าง พูดก็พูดเถอะครับ ขอแถมอีกหน่อย คือ ผมชักเกิด “ซาโตริ” กับไอเดียเสื้อข้างล่างนี้ครับ ว่ามันสะท้อน “ศีลธรรมทางสังคม” ที่เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองและสภาวะทางศีลธรรมในสังคมปัจจุบันอย่างลึกซึ้งถึงราก ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า มีคนจำนวนหนึ่งใส่เสื้อนี้ไปเยี่ยมพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพบก กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ...ผมว่ามันอาจจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างเกินความคาดหมาย และเปลี่ยนได้ดีกว่า “ธรรมะทำใจ” อย่างแน่นอน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท