น้ำท่วม(ปาก)#1: มนตรี จันทวงศ์ – เมื่อรัฐ-ผู้เชี่ยวชาญผูกขาดการจัดการ “น้ำ”

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ มีการการเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเริ่มแรกของการเสวนา เป็นการนำเสนอข้อมูลการจัดการน้ำในประเทศไทยโดย มนตรี จันทวงศ์ ซึ่งนำเสนอข้อสังเกต “น้ำท่วมตอผุด” 5 ประการในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมได้แก่ หนึ่ง ความไม่พร้อมของรัฐ กับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ สอง ประสิทธิภาพของระบบการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และระบบการระบายน้ำ สาม ความเหลื่อมล้ำของการแก้ไขปัญหา และการนิยามความหมาย สี่ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสกับข้อเสนอเมกกะโปรเจกต์เรื่องน้ำ ห้า เรารู้จักชื่อคลอง มากพอๆ กับชื่อถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ในระหว่างการอภิปรายมนตรีได้นำเสนอด้วยว่า การรักษาระดับในเขื่อนให้สูงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า มีผลทำให้เขื่อนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเมื่อมีปริมาณน้ำเข้ามาในอ่างเก็บน้ำสูงมากหลังมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย และปล่อยน้ำไม่ทัน จึงต้องปล่อยน้ำผ่านทางสปริงเวย์และผ่านทางระบายน้ำสำหรับใช้กระแสไฟฟ้า โดยมนตรีชี้ว่ากรณีเขื่อนภูมิพลในช่วงปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมมีการปล่อยน้ำกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำ 2 เท่าที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าเขื่อนมีการพร่องน้ำเสียตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนก็จะไม่เป็นปัญหา “แต่เขื่อนภูมิพลยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพราะฉะนั้นเขา พร่องน้ำไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าพร่องมากกว่านี้ระดับน้ำจะต่ำจนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ ความจริงแล้วเขื่อนภูมิพลสามารถปล่อยน้ำและรับน้ำมาได้เต็มอ่างถึง 13,462 ลบ.ม. แต่เขาปล่อยได้เต็มที่แค่ 9,662 ลบ.ม.เพราะต้องเก็บไว้เป็นน้ำตาย 3,800 ลบ.ม.เพื่อไว้เป็นหัวน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า” มนตรียังอภิปรายด้วยว่า มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยงานราชการเตรียมผลักดันเมกกะโปรเจกต์หรือโครงการขนาดใหญ่โดยใช้วิกฤตน้ำท่วม ใช้เหตุผลที่ว่าต้องแก้ไขปัญหาน้ำ จนทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการตัดสินของประชาชน นอกจากนี้อาจมีการแก้กฎหมายหรือละเว้นการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อให้โครงการใหญ่ๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงถามตอบในการอภิปราย มนตรียังมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเปิดช่องทางการเมืองให้มีกระบวนการของการมีตัวแทนทุกส่วนให้มาตัดสินใจเกี่ยวกับดูแลเขื่อนทุกเขื่อน ต้องมีพื้นที่พูดคุยในทางสาธารณะ และไม่ถูกครอบงำโดยเทคโนแครต (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ที่จะมาเสนอโครงการ โดยการปลดล็อกดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะเป็นการลดแรงกดดันของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงหรือพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำได้ โดยรายละเอียดการอภิปรายดังกล่าวสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ประชาธรรม โดย “ประชาไท” ขอนำเสนอคลิปการอภิปรายของมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 ตอน มีรายละเอียดดังนี้ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 มนตรี จันทวงศ์ อภิปรายในงานเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. 54 ที่ Book Re:public จ.เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท