Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึง คุณธงชัย พรรณสวัสดิ์ เรื่อง ศาสตราจารย์กิตติคุณก็ใช้ตรรกะพิสดารเป็นเหมือนกัน ดิฉันได้ดูวิดีโอของคุณทางเว็บไซต์ยูทูบ (http://www.youtube.com/watch?v=0920PhZHNuA) แล้ว ดิฉันยอมรับว่าตัวเองไม่มีความรู้ทางจุลินทร๊ย์วิทยา แต่เนื่องจากว่า พอเข้าใจวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์อยู่บ้าง และทนไม่ได้กับทัศนคติและความเห็นของคุณ จึงขอชี้แจงดังนี้ คุณพูดว่า: [นาทีที่ 10] \ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ตาหายน่ะมีมั้ย ป้าเช็งไม่มีหรอก ถ้ามีแล้วคนจะตาบอดได้ไง เพราะป้าเช็งไม่รู้ [คนถึงตาบอด] ความรู้ของป้าเช็งไม่ใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์\" ในสมัยก่อน ทฤษฎีทางฟิสิกส์ของนิวตัน ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ดีที่สุด ทฤษฎีทางฟิสิกส์ของนิวตันผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์มาแล้วมากมาย เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง บางคนคิดว่าเป็นกฎสากลของจักรวาลด้วยซ้ำไป (ถึงแม้ว่านิวตันอธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงของวัตถุที่อยู่ห่างกันมากๆไม่ได้ก็ตาม) จนกระทั่ง ทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นที่รู้จัก ข้อแตกต่างระหว่างฟิสิกส์ของนิวตันกับฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ คือ นิวตันมองว่า เทศะและเวลา (space and time) เป็นสิ่งที่คงที่และตายตัว แต่ไอน์สไตน์มองว่าจักรวาลไม่มีนาฬิกาสากล เวลาเป็นของใครของมัน เวลาพริบตาเดียวของคนที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสงอาจเทียบเท่าได้กับเวลาทั้งชีวิตของคนที่อยู่บนโลก ถ้าจะถามว่า ฟิสิกส์ของนิวตันผิดไหม คำตอบคือไม่ผิด แต่มันเป็นจริงภายใต้บางเงื่อนไข บางกรอบอ้างอิง (frame of reference) เท่านั้น กรอบอ้างอิงจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับการเคลื่อนที่ของทั้งผู้สังเกตและวัตถุที่ถูกสังเกต หากผู้ออกแบบการทดลองเพื่อวัดความแม่นยำของฟิสิกส์ของนิวตันต่างไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ ฟิสิกส์ของนิวตันก็คงจะถูกต้องวันยังค่ำ การออกแบบการทดลองเพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานหนึ่งๆ นั้นต้องรอบคอบให้มากว่า มีตัวแปรหรือเงื่อนไขทางการทดลองใดที่ยังไม่นำมาพิจารณา ถ้าหลักฐานของการทดลองนั้นไม่ได้สะท้อนถึงค่าของตัวแปรหรือเงื่อนไขอย่างมีความหมาย การทดลองนั้นย่อมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวแปรหรือเงื่อนไขดังกล่าว เช่น การทดลองยากับหนู ก็อาจไม่สะท้อนปฏิกิริยาของคนต่อยานั้นก็ได้ การวัดความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทย โดยทดสอบกับคนกรุงเทพเท่านั้น ก็อาจไม่สะท้อนความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทยทั้งประเทศได้ การทดสอบทฤษฎีทางกลศาสตร์โดยใช้กรอบอ้างอิงหนึ่่งๆ ก็อาจไม่สะท้อนถึงความเป็นสากลของทฤษฎีนั้นๆได้ แต่กระนั้นก็ตาม คุณต้องเข้าใจว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เริ่มมาจากสมมติฐาน (hypothesis) และการทดสอบสมมติฐาน (hypothesis testing) ซึ่งถึงแม้ว่า จะผ่านการทดสอบมากมายก็ตาม เรายังไม่อาจถือได้ว่าความรู้ที่ได้มาจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (scientific knowledge) เป็นข้อเท็จจริง (fact) เรารู้ได้แต่ว่า มันเป็นความรู้ที่ดีที่สุดที่เรามี จนกระทั่งมีหลักฐานใหม่ที่แน่นหนาพอที่จะหักล้างหรือปรับปรุงความรู้เก่าๆ เพราะอะไร เพราะเราไม่มีทางรู้เลย ว่าเราลืมคิดถึงตัวแปรหรือเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราควรนำมาคิด นอกจากนี้ เรามีข้อจำกัดต่างๆในการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนการวิจัย เวลา การสุ่มตัวอย่างที่มากและดีพอ ถึงแม้ในศาสตร์ของ การแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) ก็ยอมรับกันว่า มีข้อจำกัดเหล่านั้น เช่น การทดสอบยามักมีจำนวนตัวอย่างจากคนบางเผ่าพันธุ์ หรือคนที่มีพันธุกรรมพิเศษ น้อยเกินไป ยาอาจไม่มีผลกับคนเหล่านั้น หรือยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายกับคนเหล่านั้นได้ ยาที่ผ่านการทดสอบ การตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญ การรับรองจากองค์กรของรัฐอย่างเข้มข้นมาแล้ว ก็มีข่าวอยู่เนืองๆว่า มีอันตรายที่ไม่พบมาก่อนในการทดลอง ฉะนั้น การที่คุณธงชัยพูดทำนองว่า เพราะป้าเช็งไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ [ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น] คนถึงตาบอด เป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณอาจยังไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างดีพอ เป็นไปได้ที่ป้าเช็งอาจไม่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ และ/หรือ เกิดความไม่ระมัดระวังจากการนำผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่วิทยาศาสตร์เองมีความผิดพลาด ที่ดิฉันจะพูดนี้ ไม่ใช่จะสนับสนุนวิธีการทำงานของป้าเช็ง ดิฉันเห็นด้วยกับคุณธงชัยในข้อสรุปที่ว่า ความรู้ของป้าเช็งไม่ใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์[โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด] ดิฉันขอสนับสนุนและปรบมือให้กับคุณธงชัยที่กล้าพูดแย้ง และวิจารณ์การทำงานของรัฐ อันถือเป็นกิจที่ประเสริฐของนักวิชาการในการใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรับใช้สังคม และสร้างประโยชน์สุขให้คนทั่วไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพูดถูกทั้งหมด ความจริงก็คือ วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ปลอดภัยหรือดีเลิศอย่างสมบูรณ์แบบเลย ถึงแม้ว่าระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นการใช้หลักฐานและเหตุผลที่ดีที่สุดในปัจจุบันของมนุษย์ ข้อจำกัดและความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ดี นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ย่อมเข้าใจเรื่องนี้ดี เท่าที่ดิฉันสังเกตดู (เน้นว่าสังเกต ไม่ใช่สรุป) คนที่ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ต่างหากที่เชื่อผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง \"ความรู้\" กับ \"ข้อเท็จจริง\" หนังสือเล่มหนึ่งที่อาจทำให้คุณธงชัยเข้าใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้นคือ Conjectures and Refutations: The Growth of Scientific Knowledge ของ Karl Popper คุณพูดว่า: \"คนที่ทำเรื่อง EM ทั้งหมดเนี่ย เป็นคนที่มาทางสายวิทยาศาสตร์มั้ย ดูได้เลย ไม่มีนะ เป็นชาวบ้าน เป็นเทศบาล เป็นทหาร พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย คุณไปถามศาสตราจารย์ทุกมหาวิทยาลัยเลย ที่ทำในเรื่องของจุลชีววิทยา ไม่เอาอาจารย์เด็กๆอะไรที่อาจไปตามกระแส เอาอาจารย์ที่เจ๋งจริง รู้จริง ผมเชื่อว่าไม่มีใครบอกว่า มันใช้งานได้ มันเป็นเรื่องของความเชื่อกับความรู้ คนเชื่อป้าเช็งก็เยอะ ณ ขณะนี้ ที่ป้าเช็งถูกจับ คนเชื่อป้าเช็งยังมีอยู่มั้ย มี\" สาเหตุหนึ่งที่คนกรุงเทพบางคนดูถูกคนต่างจังหวัด คนไทยบางคนดูถูกคนลาว คนรวยบางคนดูถูกคนจน คนเรียนสูงบางคนดูถูกคนที่เรียนไม่สูง คนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากดูถูกคนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อย เพราะทัศนคติอันตรายอย่างคุณนี่แหละ อันตรายอย่างไร 1. ถ้าคุณหมายความว่า พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย [สักคน] คุณกำลังตัดสินคนอย่างเหมารวมและอาจไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านที่ทำเรื่อง EM ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่มีเลยสักคนหรือ แล้วตัวคุณเองล่ะ เข้าใจวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด คุณอธิบายมาได้ไหม ว่าชาวบ้านที่ทำเรื่อง EM ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลยสักคนจริง คุณมีหลักฐานและเหตุผลอะไรจึงได้กล่าวเช่นนั้น ถ้าหากว่าสิ่งที่คุณพูดนี้ไม่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คุณมีทัศนคติที่น่ากลัวมาก คุณเป็นคนที่ดูถูกคน ด้วยอคติที่รุนแรง แต่ถ้าสิ่งที่คุณพูดเป็นจริง คุณก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น เพราะคุณกำลังโจมตีตัวบุคคล ไม่ใช่ความเห็นของพวกเขา 2. ถ้าคุณหมายความว่า พวกนี้เป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย [แม้แต่น้อย] ดิฉันเข้าใจว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆอย่าง มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวเอง ถึงแม้ว่าชาวบ้านไม่รู้จักคำว่า \"วิทยาศาสตร์\" ก็ตาม ความรู้ที่อาศัยสถิติอย่างลวกๆ สืบทอดกันมา เสาะหาสมุนไพรเป็นยาบำรุงหรือเภสัชรักษาโรคก็ดี มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว นักวิทยาศาสตร์เองก็ค้นพบทีหลังว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆอย่างดีจริง ถ้าเราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ก็คงไม่รีบด่วนสรุปว่าคนพวกนี้ป็นคนที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลย[แม้แต่น้อย] คนหลายๆคนไม่ได้ศึกษาธรรมะแต่ก็เป็นคนดีได้ นักปราชญ์สมัยก่อนหลายคนไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมากนัก ก็สามารถสร้างความรู้ศาสตร์ใหม่ๆขึ้นมาได้ บางคนได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งศาสตร์นั้นๆนี้ๆก็มี Eliezer Yudkowsky เป็นคนที่สอนหนังสือให้ตัวเอง (autodidact) ไม่ได้เข้าเรียนในห้องเรียน แต่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ที่มีชื่อเสียงในนานาชาติได้ คนที่เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปรัชญา จิตวิทยา หลายๆคน อยากพูดคุยแลกความคิดเห็นกับเขา ไม่ถือตัวที่เขาไม่ได้เล่าเรียนในระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ในทางตรงข้าม ลองถามตัวคุณดู ว่าคุณดูถูกแม้กระทั่งอาจารย์ใหม่ๆหรือเปล่า คุณตัดสินคนตั้งแต่เขายังไม่อ้าปากพูดหรือไม่ คุณรู้จัก ad hominem fallacy มั้ย มันคือ การโจมตีตัวบุคคล แทนที่จะไปโจมตีหลักฐานหรือการใช้เหตุผลของพวกเขา ซึ่งถือเป็นการใช้ตรรกะที่สังคมไม่ควรยอมรับ วงการวิชาการก็ไม่ควรยอมรับ คุณรู้จัก Bayesian reasoning (การอ้างเหตุผลจากสถิติเชิงเงื่อนไข) มั้ย ลองดูทีว่า ความน่าจะเป็นที่อาจารย์รุ่นเก่าที่ติดกระแสเป็นอย่างไร และความน่าจะเป็นที่อาจารย์รุ่นใหม่ที่ติดกระแส เป็นอย่างไร กรุณาอย่าพูดโดยใช้ความรู้สึก หรือประสบการณ์ส่วนตัว เพราะมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คุณมีข้อมูลไหม ช่วยบอกที คุณรู้จัก ความเชื่อในความเชื่อ (belief in belief) มั้ย บางครั้ง คนเชื่อในความเชื่อทั้งๆที่ไม่รู้ว่าความเชื่อเป็นความรู้หรือไม่ เพราะรู้สึกดีที่เชื่อเช่นนั้น เช่น บางคนคิดว่า การเชื่อในพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดี และความเชื่อนี้ทำให้เขาคิดว่าเขารู้ว่าพระเจ้ามีจริง ทั้งๆที่ยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่บอกได้ว่าพระเจ้ามีจริง คุณพิจารณาดีๆเถิดว่า ที่คุณเชื่อมั่นในความรู้ของศาสตราจารย์อาวุโสน่ะ เป็นความเชื่อหรือความรู้ เฺฮ้อ... ดิฉันอยากรู้จริงๆว่า ความ \"ติดกระแส\" ของอาจารย์มหาวิทยาลัย มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับ \"ความเก๋ากึ้ก\" ของอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เราจะได้สรุปได้เสียทีว่า อาจารย์ใหม่ๆควรหุบปากเสียไม่ต้องพูดมากในประเด็นที่เป็นกระแสหรือไม่ นักข่าวที่ไม่รู้จักอาจารย์คนไหนเลย ควรหรือไม่ควรถามอาจารย์ใหม่ๆ ให้เสียเวลา เพราะพวกเขาไม่ได้เจ๋งจริง ไม่ได้รู้จริง ขอวิจารณ์จากการดูวิดีโอของคุณนาน 11 นาทีกว่าแค่นี้ ไม่อยากจะดูต่อแล้ว เพราะสมเพชแวดวงวิชาการไทยจริงๆ เสาหลักของแผ่นดินควรเป็นเสาแห่งปัญญา ไม่ใช่เสาที่ยึดติดกับตัวบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่ใช้ตรรกะพิสดาร ขอย้ำอีกที ว่าดิฉันเองไม่มีความเห็นและไม่มีความรู้ในเรื่อง EM และสิ่งที่คุณพูดเรื่อง EM อาจจะถูกก็ได้ แต่ที่เห็นๆ มีบางเรื่องที่คุณต้องมีความเป็นวิชาการ และความใจกว้างทางวิชาการมากกว่านี้ ก่อนที่คุณจะคิดว่าตัวเอง \"เป็นคนที่มีความรู้ของประเทศ\" และ \"เป็นคนที่ชี้นำประเทศในเชิงวิชาการ\" ตั้งแต่ฟังมา 11 นาทีกว่า ชอบประโยคนี้ของคุณ\"ประเทศใดก็ตามแต่ อยู่ด้วยความเชื่อ โดยไม่ใช้ความรู้ ประเทศนั้นไปไหนไม่ได้\" สาธุ... ขอเพิ่มเติมว่า ประเทศใดก็ตามแต่ อยู่ด้วยความเชื่อว่าบางคนรู้และบางคนไม่รู้ โดยตัดสินจากตัวบุคคลอย่างมีอคติ ไม่ได้ตัดสินจากความรู้ ประเทศนั้นไปไหนไม่ได้ วิชาการไทยจงเจริญ หนูดัดจ์ เพิ่มเติม: เห็นใน status ใครแว้บๆ ว่า \"มายาคติของ EM BALL (กำลังจะโหมให้คนมาช่วยกันเลยชะงักเลย) เห็นชื่อ ดร.ธงชัย ก็เชื่อว่าเชื่อถือได้ทันที\" อันนี้ เป็นความเชื่อหรือความรู้เนี่ย ขอเดาว่าเป็นความเชื่อที่ว่าบุคคลนี้ๆมีความรู้ไม่ผิดพลาดเลย โดยไม่ต้องฟังหลายๆฝ่ายแล้วพิจารณาอีกที สังคมไทยจงเจริญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net