Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 54 ที่ผ่านมามูลนิธิขวัญข้าวได้เผยแพร่ข้อชี้แจงเรื่อง \แลกเปลี่ยนเรื่องการใช้จุลินทรีย์โดย เดชา ศิริภัทร\" ผ่านเฟซบุ๊คของมูลนิธิฯ ระบุว่าก้อนจุลินทรีย์ดินป่าของมูลนิธิฯ บำบัดน้ำเสียได้ โดยโรงงานปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ที่เกิดจากโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำล้างกาว ปรากฎว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี BOD ลดลงต่ำกว่า 20 สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าบำบัดน้ำเสียมากว่า 5 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการบำบัดอยู่อย่างได้ผลดี รายละเอียดของข้อชี้แจงทั้งหมดมีดังนี้ ... แลกเปลี่ยนเรื่องการใช้จุลินทรีย์โดย เดชา ศิริภัทร โดยมูลนิธิข้าวขวัญ มขข. เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:49 น. จากอาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ถึงผู้ที่ผนึกพลังกาย พลังใจ ทำจุลินทรีย์บอล หลังจากที่ คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ นักคิดนักพัฒนา ผู้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ได้อ่านบทความเรื่อง “EM และน้ำหมักชีวภาพแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ?” ของกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปความได้ว่า จุลินทรีย์กลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ศ. Teruo Higa ) นั้น อาจส่งผลเสียให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นส่วนผสมของ EM Ball เช่น กากน้ำตาล และรำข้าว ซึ่งเป็นสารอินทรีย์จะส่งผลให้เน่าเสียเพิ่มขึ้นด้วย สมาชิก Face Book ของมูลนิธิข้าวขวัญ หลายท่าน ส่งลิงค์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบทความข้างต้นมายังมูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมกับตั้งคำถามว่า กิจกรรมปั้นลูกบอลจุลินทรีย์ ที่เราใช้ชื่อว่า “ปั้นดิน” ของมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อแจกจ่ายให้นำไปบำบัดน้ำเน่าเสียในอนาคตนั้น จะมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเน่าเสียหรือจะส่งผลตรงกันข้ามอย่างที่ปรากฎในบทความที่ลิงค์กันต่อๆ มา ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า ชื่อ EM ( Effective Microorganisms ) เป็นเหมือนความคุ้นเคยของคนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ ที่ได้นำมาใช้ในการพัฒนากิจกรรมทางด้านการเกษตร ซึ่งรู้กันดีว่า เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ เป็นลิขสิทธิ์ของ ศ. Teruo Higa จากญี่ปุ่น มีทั้งกลุ่มที่ทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน และไม่มีออกซิเจน และโดยคุณสมบัติและหน้าที่การทำงาน ก็เป็นไปตามบทความข้างต้นที่ทุกคนได้อ่าน ความคุ้นเคยของการเรียกคำว่า EM นั้น มันคุ้นเคยจนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า EM หมายถึง หัวเชื้อจุลินทรีย์ตัวเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน เหมารวมกันไปหมดว่าจุลินทรีย์ในโลกนี้ชื่อ EM ทั้งที่ในความเป็นจริง หากจะใช้ภาษาอังกฤษ คำว่าจุลินทรีย์ คือ Microorganisms (เติม S เพราะจุลินทรีย์มันมีเยอะมากมายไปหมด) ส่วน EM คือชื่อยี่ห้อของกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นการค้า โดยพัฒนาขึ้นจนเป็นลิขสิทธิ์ของ ศ. Teruo Higa มูลนิธิข้าวขวัญเอง พบเจอผู้มาเรียนรู้การทำนาอินทรีย์ทั้งหลาย เมื่อเรียนชั่วโมงการเก็บและขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์อย่างง่ายที่ได้จากดินในป่าสมบูรณ์ ต่างบอกว่า ที่อาจารย์สอน ก็คือ EM ต้องอธิบายที่ไปที่มากันยกใหญ่ ความเข้าใจผิดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันเป็นความคุ้นเคย เปรียบเทียบให้เข้าใจ เหมือนคนจะซื้อผงซักฟอก ยี่ห้อบรีส แต่บอกว่า ซื้อแฟ้บ 1 กล่อง ( แฟ้บ เป็นผงซักฟอกตัวแรกของไทย ) บรีสถูกพัฒนามาที่หลัง คนคุ้นเคยชื่อแฟ้บ ก็เรียกชื้อนั้นแทนผงซักฟอกที่ตนใช้ ประเด็นนี้ไม่ต่างจากคนเข้าใจผิดในคำว่า EM เลย แต่สาระสำคัญไปกว่านั้น ด้วยความที่กลุ่มจุลินทรีย์มีเยอะ และไม่ใช่แค่เพียง ศ. Teruo Higa จากญี่ปุ่น เท่านั้นที่พัฒนาได้ ในประเทศไทย เชื่อได้ว่า กลุ่มองค์กรที่พัฒนาการทำเกษตรยั่งยืน หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ประสบการณ์จากการพัฒนากิจกรรมในพื้นที่ของตนพัฒนาจุลินทรีย์ได้เองก็มีอยู่ไม่น้อย แต่จะอยู่ในกลุ่มใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละองค์กรจะมีให้อ้างอิง เฉพาะหัวเชื้อจุลินทรีย์ของข้าวขวัญ ก็เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนาจากดินในป่า ไม่ใช่จุลินทรีย์ในกลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ของ ศ. Teruo Higa หรือ เป็นจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า พด.หมายเลขต่างๆ (โดยมาก ใช้ พด.6 ในการปั้น) และข้าวขวัญไม่เคยเรียกชื่อจุลินทรีย์ที่พัฒนาได้เองว่า EM เลย เราใช้คำว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์จากดินป่ามาตลอด โดยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเองจากผิวดินนี้ เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง บริเวณน้ำตกไซเบอร์ ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญ ได้ทดลองใช้มานานนับ 10 ปี รวมทั้งเผยแพร่ให้ชาวนานำไปใช้ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ได้อย่างเป็นผลที่น่าพอใจ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยไม่มีการจดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด มูลนิธิข้าวขวัญ ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าห้วยขาแข้ง ในการหมักฟางในนาข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยย่ำฟางข้าวให้จมน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นเวลา 7-10 วัน ฟางก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์โดยไม่ใช้อากาศ ( Anaerobic) จึงไม่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ดังเช่น กลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายโดยใช้อากาศ (Aerobic) ส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่ปั้นบอล ซึ่งมีทั้งกากน้ำตาลและรำข้าวนั้น ใช้เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ให้ขยายจำนวนมากขึ้น เมื่อปั้นก้อนเสร็จแล้ว จะมีการบ่มหมักเอาไว้ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายกากน้ำตาลและรำข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เป็นเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน ถ้าใครเคยทำ จะเห็นว่า ระหว่างนั้นจะเกิดความร้อนจากการหมัก เช่นเดียวกับการทำปุ๋ยหมักนั่นเอง เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์จนไม่เกิดความร้อนแล้ว ค่อยนำไปใช้ จึงไม่ทำให้น้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้นจากส่วนผสมเหล่านี้ (เข้าใจง่ายๆ รำกับกากน้ำตาลถูกย่อยสลายก่อนทิ้งลงน้ำด้วยซ้ำ) ฉะนั้น ความสำคัญ คือก่อนนำไปบำบัดลงน้ำ อินทรียวัตถุถูกย่อยสลายดีแล้วหรือยัง ตรงนี้คืออีกสิ่งที่ควรใส่ใจ จุลินทรีย์จากดินป่านี้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ที่เกิดจากโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำล้างกาว ปรากฎว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี BOD ลดลงต่ำกว่า 20 สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย ใช้จุลินทรีย์จากดินป่าบำบัดน้ำเสียมากว่า 5 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการบำบัดอยู่อย่างได้ผลดี โดยไม่ต้องไปซื้อจุลินทรีย์จากที่ไหน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ตรง จากการใช้จุลินทรีย์จากดินป่ามากว่า 10 ปี ของมูลนิธิข้าวขวัญ เราได้ริเริ่มกิจกรรมปั้นจุลินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้นำไปบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขัง โดยคิดว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบ้านที่เรารักหลังนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยมั่นใจว่าจุลินทรีย์บอลที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจทำนี้ จะไม่ทำร้ายบ้านที่เรารักอย่างแน่นอน หากสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแลกเปลี่ยนได้ที่ คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ 089-8367006"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net