Skip to main content
sharethis

สหรัฐประกาศยุติเงินสนับสนุน 'ยูเนสโก้' มูลค่ากว่า 60 ล้านดอลลาร์ หลังองค์กรด้านวัฒนธรรมของยูเอ็นรับรอง 'ปาเลสไตน์' เป็นประเทศสมาชิกด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศจะยุติการจัดส่งงบประมาณสนับสนุนให้แก่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ “ยูเนสโก้” เป็นจำนวนเงินถึง 60 ล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือเท่ากับ 22% ของงบประมาณยูเนสโก้ทั้งหมด หลังผลการลงมติของบรรดาประเทศสมาชิกยูเนสโก้ส่วนใหญ่เป็นเอกฉันท์รับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกในฐานะประเทศ หรือเท่ากับรับรองสถานภาพการเป็นประเทศของปาเลสไตน์โดยปริยายไปด้วย โดยยูเนสโก้รับรองปาเลสไตน์เข้าเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 195 ขององค์การนับตั้งแต่ก่อตั้งมาในปีค.ศ. 1945 สำหรับการตัดสินใจที่จะยุติงบประมาณช่วยเหลือให้แก่ยูเนสโก้นั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของยูเนสโก้ไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยืนยันมาตลอดว่า ปาเลสไตน์จะได้รับสถานภาพเป็นประเทศผ่านการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอลโดยตรงเท่านั้น จะใช้ช่องทางอื่นมิได้ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯยังอ้างว่ามติครั้งนี้ของยูเนสโก้ละเมิดกฏหมายของสหรัฐฯที่มีเนื้อหาห้ามรัฐบาลสหรัฐฯสนับสนุนองค์การหรือหน่วยงานใดๆของสหประชาชาติที่รับรองสถานภาพความเป็นประเทศของปาเลสไตน์ ซึ่งกฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ได้เตือนไว้ว่าปาเลสไตน์อาจจะขอยื่นเรื่องเข้าเป็นสมาชิกภาพขององค์การอื่นๆในสหประชาชาติที่สหรัฐฯมีผลประโยชน์ร่วมอยู่ด้วยอย่างมหาศาล และท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐฯต่อกรณียูเนสโก้นี้อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับกรณีอื่นๆได้ เช่น ถ้าหากปาเลสไตน์เข้าร่วมองค์การการค้าโลก ในการลงมติรับรองสมาชิกภาพยูเนสโก้ของปาเลสไตน์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีประเทศสมาชิกถึง 107 ประเทศที่ใช้สิทธิ์สนับสนุนมติดังกล่าว อาทิเช่น จีน บราซิล อินเดีย อัฟริกาใต้ ออสเตรีย และ ฝรั่งเศส และ 54 ประเทศอย่างเช่นอิตาลีและสหราชอาณาจักรใช้สิทธิ์งดออกเสียง ในขณะที่มีประเทศคัดค้านเพียง 14 ประเทศเท่านั้น โดยมีสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเป็นประเทศแกนนำการคัดค้านครั้งนี้ ตามด้วยประเทศอย่างแคนาดา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า มติรับรองปาเลสไตน์ของยูเนสโก้จะยิ่งส่งผลร้ายต่อความพยายามของนานาชาติที่จะให้สันติภาพบังเกิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน ทูตอิสราเอลประจำยูเนสโก้กล่าวเสียดสีมติครั้งนี้ว่า ยูเนสโก้เป็นองค์การที่สนับสนุนนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์และการศึกษา เพราะยูเนสโก้รับรองประเทศที่ไม่มีอยู่จริงบนโลก อย่างไรก็ตาม นายมามูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ชื่นชมการตัดสินใจของยูเนสโก้ พร้อมกล่าวว่าปาเลสไตน์ได้มีที่ทางจริงๆบนแผนที่โลกในที่สุด ซึ่งนายอับบาสยังเป็นหัวหอกสำคัญที่ยื่นเรื่องสถานภาพความเป็นประเทศของปาเลสไตน์เข้าสู่สมัชชาของสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาจนกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก และที่ประชุมของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะชี้ชะตาปาเลสไตน์เร็วๆนี้ด้วย นายริชาร์ด สเปนเซอร์ ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของหนังสือพิมพ์ “เทเลกราฟ” (Telegraph) เขียนบทวิเคราะห์ว่าปาเลสไตน์ต้องการให้ยูเนสโก้เข้ามารับรองสถานภาพของศาสนสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆในพื้นที่ปาเลสไตน์ เพื่อยืนยันว่าปาเลสไตน์มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง โดยนายสเปนเซอร์มองว่า ประวัติศาสตร์ยังคงมีบทบาทต่อการต่อสู้ทางการเมืองโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่นั่นเอง คล้ายกับถ้อยคำที่ปรากฏในนิยาย “หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่” (1984) ว่า ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net