Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ระบอบประชาธิปไตยที่เน้นการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างเสมอภาคกันนั้น ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ผู้มีอำนาจน้อยรายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางสังคมหรือวัฒนธรรม

หากมองสังคมไทยผ่านมิติอำนาจทั้ง 4 ด้านจะพบว่า อำนาจด้านเศรษฐกิจของกลุ่มคนจำนวนไม่มากในสังคมไทยได้ขยายฐานอำนาจของตัวเองเข้าไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น ใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสร้างฐานอำนาจให้แก่พรรคการเมืองต่าง โดยบางกลุ่มทุนเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทุกพรรค หรือแม้กระทั่งสนับสนุนกิจกรรมของผู้มีอำนาจนอกระบบการเมืองตามกฎหมาย

อำนาจสำคัญขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลักอย่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ก็คือ การแปลงความต้องการของสังคมและประชาชนให้กลายเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายรับรองสิทธิหรือใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับปัญหา หรือการมีนโยบายและมาตรการออกมาขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและกฎหมายที่วางกรอบเอาไว้

กฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยก็คือ กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Anti-Trust Law) หรือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (Competition Law) เนื่องจากกฎหมายเรื่องนี้มีกำหนดรูปแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ป้องกันมิให้กลุ่มทุนใดสะสมความมั่งคั่งมากเกินจนผูกขาดตลาดเบียดขับผู้ประกอบการอื่นออกไป และมีอำนาจบิดเบือนตลาด มีอำนาจต่อรองเหนือผู้บริโภคมากเกินไป

กฎหมายนี้มุ่งใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายในการกำกับควบคุมตลาดทางเศรษฐกิจในกิจการต่างๆ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการกีดกัน เอาเปรียบ หรือสกัดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นให้ล้มละลายด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม โดยพฤติกรรมการผูกขาดที่กฎหมายมุ่งขจัดมีทั้ง การผูกขาดในแนวราบ (Horizontal Monopoly) และ การผูกขาดในแนวดิ่ง (Vertical Monopoly)

การผูกขาดในแนวราบ คือ การทำให้ผู้ประกอบการตลาดสินค้าหรือบริการเดียวกันออกไปจากตลาดอย่างไม่เป็นธรรม หรือตนเองมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากเกินไป เช่น ในตลาดเคเบิลทีวี มีผู้ประกอบการ A ยอมขายบริการของตนเองในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จนทำให้ผู้ประกอบการ B ซึ่งมีทุนน้อยกว่าไม่สามารถขายในราคาขาดทุนสู้กับ A ได้ จนไม่มีคนซื้อบริการเคเบิลจาก B แล้วก็ต้องเจ๊ง เลิกผลิตไป หลังจากนั้น A ก็ขึ้นราคาได้ตามใจชอบ เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก

การผูกขาดในแนวดิ่ง คือ การทำให้ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงกันในสายผลิตสินค้าหรือบริการเดียวกันไม่มีทางเลือกต้องตกอยู่ใต้อำนาจของตนเอง ไปมีสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ได้ เช่น ในตลาดสินค้าอาหาร บรรษัท C มีมาตรการห้ามนำสินค้ายี่ห้ออื่นมาวางขายในร้านในเครือหากผู้ผลิตอาหารเหล่านั้นไม่ยอมผลิตภายใต้ยี่ห้อ เงื่อนไข มาตรฐาน และราคาที่กำหนด ทำให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องเข้ามาเป็นลูกไล่ในเครือของ C ทำให้ไม่มีคนไปส่งวัตถุดิบไปให้บรรษัท D จนทำให้เลิกกิจการ ทำให้ประชาชนต้องกินอาหารจาก C ในราคาขายที่ C กำหนด และผู้ผลิตวัตถุดิบก็ถูกกดราคาโดย C เพราะไม่มีบรรษัทอื่นให้ปฏิสัมพันธ์ด้วย

ปัจจุบันการผูกขาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายตลาดและนับวันยิ่งทวีการกระจุกความร่ำรวยมากขึ้น จนยากที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) จะเบียดแทรกตัวเข้ามาแข่งขันในตลาด กลับกัน ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องเลิกกิจการ หรือไม่ก็ต้องจำยอมเข้าอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มทุนยักษ์เหล่านี้ ทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติที่เป็นต่างด้าว และกลุ่มไทยข้ามชาติ

ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความชั่วร้ายของการผูกขาดอย่างชัดเจนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและธุรกิจผูกขาดน้อยรายในเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้เข้าไปหนุนหลังรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายการเมืองและการทหารจนนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ แต่คนที่ต้องมาแบกรับเคราะห์ คือ ประชาชน และเหล่าพลทหารที่เสียชีวิตไปกับการสู้รบ

ดังนั้นสิ่งที่ประชาคมโลก และรัฐต่างๆ ซึ่งถอดบทเรียนจากความสูญเสียจึงได้เน้นการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและพยายามสลายการสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มทุนเหล่านี้ให้มาก จะเห็นว่าสหภาพยุโรปมีมติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและนโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างแข็งขันมาก เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มทุนถ่ายโอนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาครอบงำและเกาะกุมอำนาจทางการเมือง

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ก็จะเห็นบทบาทของกลุ่มทุนต่างๆ ทั้งในทางการและในทางลับที่มีส่วนผลักดันนโยบายและโครงการต่างๆ ให้พรรครัฐบาลขับเคลื่อนแต่ประโยชน์มิได้ตกกับคนส่วนใหญ่ แต่จำกัดวงอยู่คนส่วนน้อยซึ่งมีส่วนสร้างนโยบาย และความมั่งคั่งเหล่านั้นก็เป็นการสะสมเสบียงกรังไว้ต่อสู้ในทางการเมืองในอีกหลายสมรภูมิ ทั้งในและนอกสภา ส่วนคนที่ได้รับผลของสงครามก็คือประชาชนอย่างเรา

เหนือกว่าสิ่งอื่นใดผู้ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้พยายามสร้างความชอบธรรมของกลุ่มตนเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจของตัวเองโดยพยายามเพิ่มต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองและเครือข่ายไว้ด้วยการทุ่มทุนสร้าง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงไว้กับทุกภาคส่วนด้วยงบประชาสัมพันธ์และการทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยนำกิจกรรมเหล่านั้นมาทำโฆษณาเพิ่มเติมเสริมภาพลักษณ์ของกลุ่มตน และซ่อนเร้นพฤติกรรมชั่วร้ายไว้ใต้ภาพลักษณ์ที่ขับเน้นให้เห็นความรับผิดชอบต่อสังคมแบบจอมปลอม

อีกปัญหาที่เป็นการปิดปากผู้ที่ต้องการเปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของบรรษัท ก็คือ การฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อนักข่าว นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหว เพื่อสร้างต้นทุนให้กับคนเหล่านั้น จนยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้ข้อมูลไม่ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง

หากทบทวนรายชื่อพรรครัฐบาลไทยแล้วเชื่อมโยงสายสัมพันธ์เข้ากับกลุ่มทุนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนพรรคเหล่านั้นจะเห็นว่า กิจการและผลประกอบการของกลุ่มทุนเหล่านั้นเจริญเติบโตมากในช่วงที่พรรคซึ่งตนเองเก็งไว้ เข้าวินชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งได้ดีกันในช่วงรัฐประหาร ไม่นับรวมบางกลุ่มที่ผลประกอบการดีเรื่อยมาเพราะเป็นผู้สนับสนุนให้กับทุกฝ่าย แม้การเมืองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างไร ก็ยังสบายอยู่ทุกเมื่อ

การแก้ปัญหาสังคมไทยที่เต็มไปด้วยสารพัดปม และยังต้องการอยู่กันในระบอบประชาธิปไตย จึงหนีไม่พ้นต้องเริ่มทบทวนการผูกขาดในตลาดต่างๆ และการมีอิทธิพลเหนือตลาดของกลุ่มทุนต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนเหล่านี้ กับกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ของรัฐ รวมถึงการทบทวนข้อมูลในสื่อบันเทิงและโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างค่านิยม รสนิยม ต่างๆ มาครอบงำความคิด ความฝัน จิตใจของคนในสังคม เพราะคนจะแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อตื่นรู้และเห็นสาเหตุของปัญหา

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก twenty_questions (CC BY-NC 2.0)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net