Skip to main content
sharethis

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ร่วมกันละหมาดฮายัตอหิงสา 7 ปี รำลึกเหตุการณ์ตากใบ ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยันยังคาใจคนชายแดนใต้ พร้อมเรียกร้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้จัดโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัตอหิงสา” มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น เข้าร่วมประมาณ 120 คน นักศึกษาทั้งหมดรวมตัวกันที่สำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการฯ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. จึงออกเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรตากใบ กระทั่งเวลา 12.00 น. จึงร่วมกันละหมาดฮายัตอหิงสา (ละหมาดขอพรแก่พระเจ้า) ตามด้วยการอ่านอัรวาฮ (อ่านบทสวด) มอบแด่ผู้สูญเสียระหว่างถูกควบคุมตัว ในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 87 ศพ บาดเจ็บและพิการอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับวัตถุประสงค์ของการละหมาดฮายัตครั้งนี้ คือการขอพรจากพระเจ้าให้ประธานสันติภาพแก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ขอให้พระเจ้าดลใจให้รัฐบาลและมีผู้มีอำนาจประกาศยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว และขอให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างรวดเร็ว เอกสารโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัดอหิงสา” ได้ระบุหลักการและเหตุผลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ยังเป็นบาดแผลในใจของผู้ได้รับผลกระทบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังตั้งข้อสงสัยกับการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหารว่า ทำไมต้องใช้มาตรการแข็งกร้าว ด้วยการสลายการชุมนุมเรียกร้องด้วยสันติวิธี เป็นความผิดพลาดที่โทษใครไม่ได้หรือ สิ่งที่ทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับกระบงนการยุติธรรมของรัฐคือ คำพิพากษาคดีตากใบของศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ที่ระบุว่า ผู้ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำเสนอกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์สันติวิธี มีรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการใช้ความรุนแรงว่า มีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร นายกิตติศักดิ์ ปัตตานี ประธานโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัดอหิงสา” กล่าวว่า กิจกรรมนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เท่ากับลืมความเป็นมนุษย์ ตนต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุขโดยเร็ว แต่สันติภาพก็ไม่ได้มาด้วยการรอคอย พ.ต.อ.นิตินัย หลังยาหน่าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ กล่าวว่า ขอโทษในความไม่สะดวกสำหรับนักนักศึกษาที่มาทำกิจกรรมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เพราะอยู่ในระหว่างกำลังก่อสร้างอาคารใหม่ การทำกิจกรรมของนักศึกษาที่อยู่ภายใต้กฎหมาย สามารถกระทำได้ สำหรับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นนโยบายของรัฐบาล ตนเป็นเจ้าหน้าที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่ง สำหรับตนต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net