คำถามถึงอธิบดีกรมชลฯ และผู้ว่า กฟผ. กับการบริหารน้ำเดือนตุลาคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมมีข้อสงสัยกับการปล่อยน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในเดือนตุลาคมมาโดยตลอด เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจำนวนมากปรากฏตัวจึงมาหาทางถาม ในกลุ่มนี้คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ก็เป็นผู้หนึ่งที่ออกรายการเกี่ยวกับน้ำท่วมบ่อยเช่นกัน ผมจึงถามผ่านเขา คำถามของผมที่ฝากเขาไปถามอธิบดีกรมชล และ ผู้ว่าการ กฟผ. ผ่านเฟซบุ๊ค สรุปได้ดังนี้คือ 1. ทำไมต้องรีบปล่อยน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ออกมา เมื่อต้นเดือนตุลาคม จากการคาดการณ์ว่าจะมีพายุจะเข้าประเทศไทย (จำชื่อไม่ได้) ในช่วงวันที่ 10 ต.ค. ทั้งที่ยังไม่ทราบความรุนแรงและทิศทาง ถ้าจำไม่ผิด ในวันเดียวกับการปล่อยน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ออกมา หน่วยพยาการณ์อากาศสหรัฐบอกว่า พายุลูกนั้นจะเข้าภาคกลางประเทศไทย ผมจึงตั้งสงสัยว่า ทำไมไม่รอให้พายุใกล้ขึ้นฝั่ง เพื่อทำให้ทราบทิศทางและความรุนแรงจึงตัดสินใจและดำเนินการยังอยู่วิสัยทำได้ เพราะมีเวลาอีก 2 – 3 วัน 2. เท่าที่จำได้จากรายงานข่าว Thai PBS ตั้งแต่วันที่ 12 หรือ 13 เป็นต้นมา มีรายงานการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล วันละ 60 – 70 ลบ.ม. เพราะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 60 – 70 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีความสงสัยว่าน้ำไหลเข้าเขื่อนมาจากไหน ในเมื่อรายงานข่าวพยากรณ์อากาศของ Thai PBS ไม่มีรายงานฝนตกภาคเหนือ ซึ่งผมตั้งคำถามในโพสต์ว่า เป็นน้ำใต้ดินมาจากเวียดนามที่ผุดขึ้นมาที่เขื่อนภูมิพลหรือเปล่าเพราะเวียดนามยังมีฝนตก ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตถึงการกักน้ำจำนวนมากของกรมชล และ กฟผ. ในช่วงต้นฤดูฝนที่มีคำอธิบายถึงเจตนาและวิธีการจัดการน้ำ แต่ผมคิดว่ายังเป็นเรื่องอธิบายได้ว่า อาจจะมีกังวลถึงภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จึงทำให้ทั้งสองหน่วยงานลังเลที่ปล่อยน้ำ และเมื่อฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมจึงสายเกินไปที่จะบริหารน้ำได้ แต่คำถามข้อ 1 ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำอธิบายแต่ไม่สามารถหาได้จึงต้องถาม ความจริงหน่วยงานทั้งสองควรไปค้นหาคำถามของผม กรมชล บนเฟซบุ๊ค “รักชลประทาน” และ กฟผ. จากอีเมล์ใน บนเฟซบุ๊ค กรมชลไม่เคยชี้แจงแต่ลบทิ้งเสมอ แต่หวังว่าจะมีคำตอบของ กฟผ. คำถามข้อที่ 2 นั้น เมื่อทำตามคำแนะนำของคุณศศิน คือให้ไปติดตามข้อมูลของกรมชล ปรากฎว่าในการปล่อยน้ำจากเขื่อนนอกจากเขื่อนภูมิพล ยังมีเขื่อนสิริกิตต์ เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ประมาณ วันละ 15 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 9.5 – 20 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณ 36 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 32 – 39 ล้าน ลบ.ม.) เมื่อรวมแล้วแม่น้ำเจ้าพระยายังมีน้ำไหลเข้าวันละ 105 – 115 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ข้อมูลนี้ไม่มีการนำมาอ้างอิง แต่กลับมีคำใหม่ “น้ำท่วมทุ่ง” ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญกรมชล บอกว่า สามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. จึงมียอดระบายสุทธิเพียง 200 ล้าน ลบ.ม. ถ้ามีน้ำ 10,000 – 12,000 ล้าน ลบ.ม. ต้องใช้เวลาระบายน้ำสองเดือน “น้ำท่วมทุ่ง” ที่เป็นคำใหม่นี้ ในความเข้าใจของผมคือน้ำที่ปล่อยประจำวัน 110 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนของลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปริมาณหลัก ส่วนน้ำที่กระจายบนทุ่งจะไหลย้อนกลับได้รวดเร็วอย่างไร ในเมื่อระดับน้ำยังค่อนข้างทรงตัวก็ควรไหลมารวมต่อเนื่อง ไม่ควรเป็นมวลขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยที่ 3 น้ำที่เป็นมวลขนาดใหญ่ที่เข้านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดหลังจากการประกาศว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันเนื่องจากน้ำท่วมฝั่งตะวันตกของนนทบุรี ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงในวันที่ 19 ต.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ ในสัปดาห์ที่แล้ว พื้นที่นนทบุรีฝั่งตะวันตกได้รับผลจากไม่ให้ปล่อยน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จึงสามารถระบายไปได้รอดพ้นวิกฤติไปได้ แต่ในสัปดาห์นี้ สถานการณ์น้ำของแม่น้ำท่าจีนเปลี่ยนไป น้ำเต็มจนท่วม บางเลน และพุทธมลฑล เมื่อพยายามหาข้อมูลการปล่อยน้ำแต่ไม่พบจึงขอถามข้อ 4 ไปถึงหน่วยงานดูแลเรื่องน้ำว่าบริหารน้ำในแม่น้ำท่าจีนอย่างไร จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ ทำไมระดับน้ำจึงสูงจนไม่สามารถรับน้ำจากคลองเชื่อมต่อสิบกว่าคลอง อย่างน้อยตั้งแต่ คลองพระยาบันลือ คลองพระพิมล จนถึงคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อดูรายโทรทัศน์ 2 วันก่อน ผู้เชี่ยวชาญน้ำ อธิบายน้ำท่วมนนทบุรีฝั่งตะวันตกในสัปดาห์นี้ เพราะน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูง แต่ไม่เปรียบเทียบกับการรอดพ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ผมกำลังรู้สึกว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ที่สร้างคำว่า “น้ำท่วมทุ่ง” ขึ้นมาไร้สมรรถนะ ข้อมูลสองสัปดาห์ก็ไม่สามารถประมวลได้ครบถ้วน แล้วจะเสนอข้อมูลให้เชื่อถือได้อย่างไร กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ กรุณาตอบคำถามให้หายข้องใจด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท