Skip to main content
sharethis

ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับใหม่ ชี้เปลี่ยนหลักคุ้มครองเป็นควบคุม ซ้ำโอนอำนาจไปที่ ผบ.ตร. เชื่อรัฐฉวยโอกาสภัยพิบัติจ้องแทรกแซงสื่อ (21 ต.ค.54) จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษา กฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ระบุร่างที่เสนอแก้ไข นอกจากจะเปลี่ยนแปลงหลักการจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อีกด้วย พร้อมระบุว่า ยังไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เชื่อรัฐบาลฉกฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติ มาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนาจในการกำกับควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แถลงการณ์ กรณี ครม. เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....เมื่อวันอังคาร(18) เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาหลายประการที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน อีกทั้งขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา และจากการหารือกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง เห็นควรให้ข้อมูล ความรู้เบื้องต้น ในสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางในการเคลื่อนไหวคัดค้านความพยายามที่จะแทรกแซงสื่อของรัฐบาลต่อไป ก่อนหน้านี้ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกรมศิลปากร และพนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด ต้องไปจดแจ้ง ณ สำนักงานศิลปากรเขต ให้เป็นการจดทะเบียนต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด จึงมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หาได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนไม่ หากเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่างแก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ไม่เพียงหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ เลย ที่จะแก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ นอกจากการฉกฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติ มาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนาจในการกำกับ ควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเท่านั้น จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา 21 ตุลาคม 2554 ที่มา: http://www.presscouncil.or.th/ พ.ร.บ.จดแจ้งฉบับใหม่ โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์ ที่มา: http://www.thaimedialaw.org ในขณะที่คนส่วนใหญ่ กำลังสับสนอลหม่านกับปัญหาน้ำท่วม จนแทบจะไม่มีข่าวอื่นปรากฏในสื่อ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2554 ก็มีมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ของกระทรวงวัฒนธรรมโดยเนื้อหาสาระต้องนับว่า เลวร้ายไม่แตกต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อในยุคเผด็จการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ยกเลิกไปด้วยผลของการตราใช้บังคับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แปรรูปอำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้อำนาจ ผบ.ตร. มีอำนาจครอบจักรวาล ซึ่งล้วนเป็นการแทรกแซงและลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อทั้งสิ้น โดยเฉพาะการย้อนยุคไปในห้วง อำนาจเผด็จการ ที่จะต้องมีใบอนุญาตการพิมพ์ และที่เลวร้ายไปกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ก็คือ ต้องมีการต่อใบอนุญาต หรือหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ยังให้อำนาจ ผบ.ตร.และน่าจะเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญ คือการให้อำนาจออกคำสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ ส่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี นั่นแปลว่า ผบ.ตร.จะต้องเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ว่า สมควรใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ หรือปิดหนังสือพิมพ์หรือไม่ เรื่องสถาบันนั้น เป็นเพียงเรื่องบังหน้า ซึ่งความผิดฐานหมิ่นสถาบัน มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ประเด็นคงอยู่ที่ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เป็นเรื่องที่ตีความได้กว้างมาก ประเด็นเหล่านี้ เคยเป็นเรื่องที่รัฐยุคเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือปิดหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยอ้างความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งที่หลายกรณีเป็นความมั่นคงของรัฐบาลเอง ความเลวร้ายอีกข้อหนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากนี้ไป จะเป็นผู้ที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้ประกอบวิชาชีพสิ่งพิมพ์อย่างยิ่ง ยิ่งเสียกว่า “เจ้าพนักงานการพิมพ์” ตามกฎหมายเดิม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแต่งตั้งให้อธิบดีกรมตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล เป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ในกรุงเทพ และผู้ว่าราชการจังหวัดในต่างจังหวัด ส่วนอัตราโทษ จะสูงกว่ากฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี จะเรียกว่าเป็นการโยนหินถามทาง เจตนาจะข่มขู่ให้สื่อหวาดกลัว หรือไม่ก็ตาม แต่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นภาพสะท้อนแนวคิดเผด็จการอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้มีการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน ห้ามไม่ให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลนี้พยายามเข้ามามีอิทธิพลครอบงำสื่อ หลังจากสร้างความหวาดระแวงในหมู่สื่อมวลชนให้เกิดขึ้นมาแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net