Skip to main content
sharethis

วานนี้ (20 ต.ค.54) เวลาประมาณ 13.00 น.นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายวสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นายว่องไคชิง ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนางจินตนา แก้วขาว ภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เป็นระยะเวลา 4 เดือน ในคดีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวภายหลังที่ได้เข้าเยี่ยมนางจินตนาว่า บทเรียนในครั้งนี้ต้องสรุปว่า ยังมีการละเมิดสิทธิต่อนักต่อสู้สิทธิชุมชนอะไรอีกบ้างที่ยังคงอยู่ในสังคม และบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาของจินตนาก็ได้กลายเป็นต้นแบบการต่อสู้ของ ชุมชนอื่นๆ อย่างมากมาย เพราะสังคมไทยในขณะนี้กำลังมองดูนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาต่อสู้ เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ป่า น้ำ แร่ ซึ่งก็มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ อย่างหลากหลาย อาทิ ชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องของแร่ เรื่องโครงการแผนพัฒนาต่างๆ ทั้งประเด็นเรื่องที่ดิน ที่ถูกคำพิพากษา อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เหล่านี้เองที่ในบางกรณีไม่ได้รับการคุ้มครอง แล้วก็ยังได้รับการตัดสินที่ทำให้ต้องถูกจำคุก ตรงนี้ต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจ นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และการมีกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการดูแลปกป้องรักษาทรัพยากร เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปัญหาที่มาจากต้นตอคือความต้องการสิทธิ ชุมชน กับชาวบ้านที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนปกป้องผืนแผ่นดิน แต่กลับถูกรัฐ หรือฝ่ายนายทุนธุรกิจฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติของรัฐที่กระทำต่อชุมชนที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิชุมชน จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาดูว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือผู้พิพากษาเอง มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและมีความชอบธรรมหรือไม่ ส่วนกฎหมายการทำประชาพิจารณ์และกฎหมายลูกนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าและการต่อยอดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เพียบพร้อมด้วยกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน แต่ว่ากฎหมายลูกต่างๆ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายป่า กฎหมายแร่ ซึ่งในขณะนี้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องไม่ให้รัฐหรือนายทุนลุกมา แย่งชิงทรัพยากร กลายเป็นกฎหมายที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนภาคประชาชนและนักต่อสู้กลายเป็นผู้ที่ต้องถูกลงโทษ “คดีของคุณจินตนา ถือว่าเป็นคดีหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยกลับมาพิจารณาคดีได้อย่างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คดีการละเมิดในกระบวนการยุติธรรม ในรายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้มีการหยุดและการฉุกคิด เฉลียวใจ ในการใช้อำนาจตรงนั้น” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อมาว่า กรณีของคดีของจินตนา ทำให้สังคมไทยมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น และคิดว่ามีโอกาสในการพัฒนากฎหมายให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ภายใน 1-2 ปี ข้างหน้านี้ ซึ่งในขณะนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปกฎหมายในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน และการเสนอความรับผิดชอบที่มีต่อกฎหมายเฉพาะด้าน ทั้งเรื่องกฎหมายป่าไม้ กฎหมายที่ดิน กฎหมายลุ่มน้ำ และกฎหมายประมง ที่เน้นเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนและมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งคิดว่าตรงนี้ จะทำให้เกิดกฎหมายที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวถึงมุมมองของกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า คดีของนางจินตนาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กับภาคประชาชน โดนเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร แต่คนทั่วไปกลับมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงและส่งผลให้เกิดความไม่สงบ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พบว่า สังคมไทยได้มีมุมมองกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในบทบาทที่ดีขึ้น เช่น ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องลุ่มน้ำ ทะเล ที่บ่อนอก-หินกรูดให้คงไว้เป็นสมบัติของประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา ด้วยระบบอุตสาหกรรม ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินก็คงมีค่าหลายแสนล้านบาท เพราะฉะนั้น การต่อสู้จะต้องมองให้เห็นถึงตรงนี้ ส่วนปัญหาความไม่เข้าใจของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่อาจกล่าวโทษไปยังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่สังคมไทยและทุกภาคส่วนจะต้องมาสรุปความเข้าใจ แล้วช่วยกันหาทางออกอย่างคลี่คลายว่าการบังคับใช้ทางกฎหมายที่ยึดหลักการ สิทธิมนุษยชน ในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคที่เป็นของพี่น้องภาคประชาชน ความถูกต้องของแผ่นดินนี้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท และทำให้เกิดความเข้าใจและการเรียกร้อง การนับถือกฎหมาย และความเป็นธรรมก็จะต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย ด้านนายวสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีคดีของนางจินตนา มีอีกจำนวนมาก โดยทางกลุ่มทุนได้อาศัยกระบวนการเหล่านี้เพื่อเป็นการขัดขวางนักต่อสู้ เพื่อสิทธิชุมชน ดังนั้น คำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นจากการปกป้องชุมชน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการลุกขึ้นมาของชุมชนสามารถทำให้ที่ดินสาธารณะชายทะเล ที่บ่อนอกได้กลับมาเป็นของชุมชน เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ โดยที่โครงการโรงไฟฟ้าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านกรูดและบ่อนอก ประเด็นเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างไร หากย้อนมาดูถึงสาเหตุการกระทำที่เกิดขึ้น การลงโทษสมควรที่จะได้รับการพิจารณาลงโทษหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบและเจตนาที่แท้จริงแล้ว ถือว่าการต่อสู้เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการภาคประชาชนที่มีความชอบธรรม เป็นคุโณปการที่มีต่อสังคม ที่ไม่สมควรได้รับการลงโทษ นายวสันต์ ทิ้งท้ายว่า พลังของภาคประชาชนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในอนาคตหากจะมีการตัดสินคดีความที่มาจากการปกป้องคดีการปกป้องทรัพยากร กระบวนการยุติธรรมสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ชุมชนหลายๆ ชุมชน ได้มีการจัดการและการรักษาทรัพยากรของชุมชนเอง ทั้งนี้ เครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานเพิ่มเติมว่าในวันนี้ (21 ต.ค.2554) คณะสมาชิกวุฒิสภา นำโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ภาควิชาการ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิวุฒิสภา จ.เพชรบุรี และนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเดินทางเข้าเยี่ยม นางจินตนา ณ เรือนจำจังหวัดประจวบฯ ในเวลา 13.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net