Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลันที่นวนครแตก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศปภ.พร้อมกับรัฐมนตรีเกษตรฯ และอธิบดีชลประทานเพิ่งแถลงว่า “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดำดิ่ง ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เอแบคโพลล์ให้คะแนน ศปภ.แค่ 3.36 เต็ม 10 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เพิ่งให้คะแนนความเห็นใจยิ่งลักษณ์ 9 เต็ม 10 และร้อยละ 56.8 ยังให้โอกาสรัฐบาล ศปภ.ถูกถล่มหนัก ตั้งแต่ปลอดประสพแถลงข่าวให้ประชาชนเตรียมพร้อม แล้วต้องมาแถลงแก้ เพราะกลัวประชาชนแตกตื่น สื่อต่างๆ ได้โอกาสเยาะเย้ย “ปลอดประสบการณ์” แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่ปลอดประสพเตือนภัยนั้น ถูกน้ำท่วมจริงทั้งหมด เพียงแต่ปลอดประสพตกคำว่า “ในเวลา 3-4 วันข้างหน้า” และออกอาการ “ลน” จนทำให้คนแตกตื่น นี่เป็นภาพสะท้อนว่า ศปภ.สอบตกในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งอันที่จริงควรบอกประชาชนว่าอาจเกิดอะไรขึ้น แม้ ณ วันนี้ยังไม่เกิด แม้ ณ วันนี้รัฐบาลได้พยายามป้องกันอยู่ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ทางร้าย ขอให้พ่อแม่พี่น้องเตรียมพร้อม และติดตามคำเตือนทุกระยะ การแถลงข้อมูลที่เป็นจริง เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้น ประชาชนยังยอมรับได้ ดีกว่าแถลงว่า “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว” ปัญหาที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่า ศปภ.ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นระบบ ทั้งการประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเบรกกันหัวทิ่มบ่อ ปลอดประสพก็ดูจะน้อยใจ พอ พล.ต.อ.ประชามาพลาดกับนวนครที่ตอนเช้ายังยืนยันว่า “เอาอยู่” ก็ดูเหมือนจะเกิดความขัดแย้งภายใน จน ศปภ.ไปไม่เป็น แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการฉวยโอกาสทางการเมืองของกรุงเทพมหานครและพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังจากนวนครล่ม ผู้ว่าฯ ก็ออกมาเกทับ “ขอให้ฟังข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว” ตามด้วยการทำสงครามน้ำลายกันเรื่องกระสอบทราย โดยมีสื่อมือไม่พายเอา teen ราน้ำจำนวนหนึ่งคอยกระชุ่น หมายจะเอาวิกฤติน้ำโค่นรัฐบาล ประสิทธิภาพต่ำใต้กรอบจำกัด ถ้าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า รัฐบาลไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อยู่แล้ว เพราะความเป็นจริงที่ปีนี้น้ำมากกว่าปกติ 40% แต่ถ้ารัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ได้เร็วกว่านี้ ก็จะเตรียมพร้อมรับมือได้มากกว่านี้ น้ำท่วมจังหวัดน่านตั้งแต่ยังไม่ทันหย่อนบัตรเลือกตั้ง รัฐบาลกว่าจะจัดตั้งได้ก็เดือนสิงหาคม แน่นอน ตอนนั้นโทษกันไม่ได้ แต่หลังจากตั้งรัฐบาล เกิดพายุถล่มหลายระลอก ถามว่า ณ ตอนนั้นมีใครตระหนักไหมว่า มวลน้ำปริมาณมหาศาลจะเคลื่อนตัวเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีครับ ทำไมถึงไม่มีใครเตือนภัย พลิกหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ย้อนหลังไม่ต้องถึง 7 เดือนหรอก เอาแค่ 3 เดือนหลังเลือกตั้งนี่แหละ หน่วยราชการที่รับผิดชอบไปงมอยู่ที่ไหน เป็นปัญหาประสิทธิภาพหรือปัญหาอะไร จึงไม่บอกรัฐบาล ไม่บอกสาธารณชน ว่าน้ำจะท่วมหนักยิ่งกว่าปีที่แล้ว พอน้ำท่วมหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมบางระกำ ผุด “บางระกำโมเดล” รัฐบาลตั้งคณะกรรมการรับมือ แต่ตอนนั้นก็ดูเหมือนจะยังไม่ตระหนักถึงความหนักหนาสาหัส รัฐบาลมาตั้ง ศปภ.เอาในตอนที่วิกฤติจ่อแล้ว ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลตื่นช้า และต้องไปซักไซ้ไล่เลียงกันว่า รัฐบาลได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ รัฐบาลมีปัญหาที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ยังไม่รู้ใจรู้มือกัน กระทั่งใน ครม.ด้วยกันเอง อย่าว่าแต่การรู้จักใช้หน่วยราชการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ใครเชื่อถือได้ ใครเชื่อไม่ได้ ใครมั่ว ใครรู้จริง (หรือกระทั่งใครวางยา) นี่คือปัญหาของรัฐบาลที่เข้ามาเจอวิกฤติกะทันหัน อย่างที่หมอเลี้ยบพูด รัฐบาลทักษิณรับมือสึนามิในปี 47 โดยทำงานมาแล้ว 3 ปี รู้หน้ารู้ใจรู้ฝีมือทั้งคนใน ครม.ด้วยกันและข้าราชการฝ่ายต่างๆ นี่คือความจริงแต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพราะประเด็นสำคัญคือระหว่างรัฐมนตรีด้วยกันต้องเป็นเอกภาพ ต้องทำงานเข้าขากันให้ได้ นี่เป็นปัญหาของ ศปภ.(ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ว่าทำไมไม่ตั้ง มท.1 เป็น ผอ.ศปภ.) ศปภ.มีปัญหาเรื่องจัดวางตัวบุคคล ดูง่ายๆ โฆษกคือนายวิม (ผู้ต้องหาอีเมล์ซื้อสื่อ คริคริ) ทั้งที่วิกฤตน้ำไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ นายวิมอาจเข้าใจเรื่องการสื่อสารกับสื่อ แต่อย่างน้อยก็ควรมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาชี้แจงร่วม เช่นกัน ประชา ปลอดประสพ ก็ควรแถลงข่าวโดยมีนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทานประกบ งานหนักของรัฐบาลและ ศปภ.นับจากนี้ไปคือต้องฟื้นความเชื่อมั่น โดยพึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เริ่มจากการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน ว่าสถานการณ์ขณะนี้หนักหนาอย่างไรและควรเตรียมตัวอย่างไร รัฐบาลต้องบอกประชาชนว่า รัฐบาลจะสู้เต็มที่ แต่ก็ต้องเตือนภัยว่าถ้าสู้ไม่ไหวจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างนวนคร รัฐบาลต้องบอกว่าพยายามป้องกัน แต่ก็ควรเตรียมอพยพ ขนย้ายข้าวของมีค่า เอารถยนต์ออกไปก่อน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ได้เตรียมพร้อม เช่นคันกั้นน้ำแตกที่บางบัวทอง หรือหมู่บ้านหรูราคาหลายล้านที่ปทุมธานี รถเบนซ์จมน้ำเกลื่อน อย่าทำให้คนตื่นตระหนก แต่ก็อย่าทำให้คนตายใจ อย่าฟันธง แค่บอกความจริง ทีวีไทยเมื่อบ่ายวันอังคาร ออกแผนผังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมใน กทม.ถ้าน้ำทะลักเข้ามา แถบไหนจะโดนบ้าง นั่นคือหน้าที่ ศปภ.ควรทำ ซึ่งไม่ใช่การทำให้ประชาชนแตกตื่น แต่บอกให้ชัดเจนว่า ถ้าน้ำตีโอบเข้ากรุงเทพฯ มาได้ พื้นที่ไหนจะท่วมสูงกี่เมตร และใช้เวลาเท่าไหร่กว่าน้ำจะมาถึง คนโซนไหนควรย้ายรถหรือเก็บข้าวของไว้ก่อน คนที่อยู่ไกลหน่อย จะมีเวลากี่ชั่วโมง แน่นอน ศปภ.จะสู้เต็มที่ก่อนถึงเวลานั้น แต่บอกประชาชนเตรียมตัว ถึงเวลาค่อยเป่านกหวีด การทำเช่นนี้ได้ ศปภ.ต้องตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมาจากการประเมินสถานการณ์ถูกต้อง และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ประสิทธิภาพของ ศปภ.ไม่ใช่ประสิทธิภาพที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ ทำให้ตายก็ป้องกันไม่ได้ แต่อยู่ที่การรับมืออย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด ทั้งยังต้องมองไปข้างหน้า ถึงการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู น้ำท่วมครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่นๆ ที่น้ำมาแล้วก็ไป มีวงจรของการรับมือป้องกัน การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เมื่อน้ำท่วม และการฟื้นฟูเมื่อน้ำลด แต่ครั้งนี้รัฐบาลต้องรับมือทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน ในขณะที่ป้องกันกรุงเทพฯ ก็ต้องบรรเทาทุกข์คนนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี แล้วอีกไม่กี่วันในขณะที่น้ำยังนองกรุงเทพฯ ก็ต้องเริ่มฟื้นฟูนครสวรรค์ งานหนักนะครับ นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ อีกข้อสำคัญที่ต้องเตือนกัน คือการเอานักการเมืองเข้าไปทำงานใน ศปภ.ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.พื้นที่ ส.ส.สอบตก แกนนำเสื้อแดง นี่เป็นข้อพึงระวัง บางท่านมีความสามารถ มีประสบการณ์ เช่น บก.ลายจุด ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาทำงานด้านนี้มาตั้งแต่สึนามิ แต่บางคนไม่น่าจะเกี่ยวข้อง กลับไปนั่งคุมเรื่องแจกของ หรือให้ ส.ส.นำขบวนไปแจกถุงยังชีพ หรือไปทำตัวให้เป็นข่าว (กระทั่งเป็นข่าวถีบกัน) นี่เป็นจุดอ่อนที่ต่อให้พวกคุณจริงใจ ก็ถูกโจมตีง่าย ทำลายความเชื่อมั่นได้ง่าย เอ้อ แล้วมันก็มีส่วนให้เขาวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ เช่นเท่าที่รู้ ในแต่ละพื้นที่ ส.ส.เพื่อไทยก็ต่อสายตรง ศปภ. ขอกำลังขออุปกรณ์ไปป้องกันฐานเสียงของตัว ศัตรูผู้ต่ำช้า ในภาวะที่ประชาชนเดือดร้อน อารมณ์อ่อนไหว สื่อบางส่วนก็เอาเรื่องการเมือง เรื่องความเหลื่อมล้ำไปขยายผล ซึ่งถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ให้ปรับปรุง ก็ถือว่าสื่อทำหน้าที่ได้น่าชื่นชม แต่บางรายไม่ใช่อย่างนั้น อาทิ เอาเรื่องปกป้องนวนครไปเขียนว่าเป็นนิคมการเมือง เพราะบอร์ดส่วนใหญ่ใกล้ชิดรัฐบาล ประธานบอร์ดคือเสธแอ๊ว น้องชาย รมว.กลาโหม ฯลฯ ทั้งที่ความจริง รัฐบาลก็ปกป้องทุกนิคมอุตสาหกรรมไล่ลงมา ไม่ว่าจะญาติใครใกล้ชิดใคร นวนครมีคนงานคนอยู่อาศัยเป็นแสนๆ รัฐบาลจะไม่ดูแลได้อย่างไร สื่อบางรายนอกจากถล่มรัฐบาลแล้ว ยังแช่งชักหักกระดูก ยกโหราพยากรณ์ คำทำนายดั้นเมฆ หรือการวิเคราะห์เหลวไหล มาปลุกใจกัน เช่นทำนายว่า “นารีขี่ม้าขาว” จะต้องวิบัติฉิบหายในช่วงเวลานั้นๆ หรือไม่ก็วิเคราะห์ว่าวิกฤตน้ำท่วมจะทำให้เสื้อแดงไม่พอใจแกนนำ แกนนำแตกแยก คะแนนนิยมทหารพุ่ง ประชาชนหนุนทหารปฏิวัติ ฯลฯ คนพวกนี้อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ บ้างก็โจมตีรัฐบาลว่าไม่ยอมประกาศ พรก.ฉุกเฉินตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่านี่มันกลียุคแล้ว ไม่ใช่แค่ฉุกเฉิน โทษรัฐบาลมัวแต่ห่วงภาพลักษณ์ กลัวกระทบการท่องเที่ยว หรือกลัวทหารเป็นฮีโร่ ทั้งที่ความจริง รัฐบาลก็บอกอยู่ว่าการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในหมู่ประชาชนควรใช้การทำความเข้าใจมากกว่า คุณจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่ออะไร เพื่อปราบ “ชุมชนเข้มแข็ง” อย่างชาวหมู่บ้านกฤษณา ชาวบ้านคลองหนึ่งคลองสอง อย่างนั้นหรือ ต่อให้ประกาศแล้วชาวบ้านไม่พอใจ ออกมาประท้วงปิดถนนไม่ให้รัฐบาลระบายน้ำ คุณจะใช้กำลังทหารเข้าไปสลายม็อบหรือ คุณจะประกาศให้ประชาชนอพยพ ใครไม่ออกจากบ้านมีความผิด อย่างนั้นหรือ ผมไม่ปฏิเสธว่าเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่ลงอีกระดับหนึ่ง ถ้ามันเกิดจลาจล เกิดการแย่งชิงข้าวของ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ใช่ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งควรใช้การเจรจากันเป็นหลัก ถ้าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สมควรประกาศเพื่อปิดปากผู้ว่า กทม. ปิดปากพรรคประชาธิปัตย์ และสื่อจ้องโค่นรัฐบาลนี่แหละครับ สื่อบางรายหนักกว่านั้นอีก พอรัฐบาลประกาศว่าจะต้องใช้คลองทางฝั่งตะวันตกตะวันออกระบายน้ำ ก็บอกว่า “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โห เมริงจะบอกว่าระบอบประชาธิปไตยไร้ประสิทธิภาพ กลับไปใช้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ดีกว่า อย่างนั้นเลยหรือ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าขบวนการโค่นล้มรัฐบาลครั้งนี้จะใหญ่โตกว้างขวาง เพราะเห็นได้ว่า หลายคนที่เคยร่วมขบวนการเสื้อเหลือง เขาไม่ได้ร่วมมือด้วย ไม่ได้ฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล เพราะพวกเขายังมีสำนึกที่เห็นแก่ส่วนรวม เห็นว่าการเล่นเกมการเมืองในสถานการณ์วิกฤติ มีแต่จะทำให้เกิดผลร้ายกับประชาชน หลายคนก็ร่วมใจป้องภัยพิบัติโดยไม่คำนึงถึงสีเสื้อ (คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยไปช่วยรัฐบาลแพคถุงยังชีพที่ดอนเมืองหรือช่วยบรรจุกระสอบทรายตามที่ต่างๆ แต่ก็มีพวกสุดขั้วสุดโต่งนั่งแช่งนั่งด่าอยู่ตามกระดานข่าวในเน็ต พวกนี้ดีใจที่เห็นเพื่อนมนุษย์ฉิบหาย) พันธมิตรสำคัญของรัฐบาล ยังได้แก่นักวิชาการ ซึ่งช่วยอธิบายว่าปีนี้มีน้ำมากกว่าปกติ 40% ภัยพิบัติแตกต่างจากปี 38 เพราะมีสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนโรงงานเข้าไปอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ฯลฯ นักวิชาการที่มาออกทีวีวิทยุช่วงนี้น่าทึ่งนะครับ เพราะเป็นคนหน้าใหม่ๆ ที่พูดตรงไปตรงมา ให้ความรู้ ให้ความคิด และให้เห็นปัญหาว่ามันหมักหมมมานานทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ บังเอิญ นักวิชาการที่พูดเรื่องน้ำส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพูดตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า ไม่แหลเหมือนพวกนักนิติศาสตร์นักรัฐศาสตร์ รัฐบาลควรสนับสนุนให้นักวิชาการออกมาพูดเยอะๆ ให้ความเห็น ให้ความรู้ประชาชน กว้างขวางหลากหลาย แม้วิจารณ์รัฐบาลบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาพูดความจริง ในภาพรวม รัฐบาลยืนอยู่บนจุดหักเห ยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แล้วบริหารความร่วมมือร่วมใจสู้ภัยพิบัติ “เปลี่ยนน้ำท่วมเป็นน้ำใจ” ซึ่งถ้าทำได้ รัฐบาลก็จะชนะสงครามสื่อทำให้พวกที่จ้องโค่นล้มถูกโดดเดี่ยว คลั่งใจตายอยู่หน้าจอมืดดำเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าช่องสัญญาณ ศัตรูสุภาพบุรุษ ภาพที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าภาพยิ่งลักษณ์กับอภิสิทธิ์หารือกัน คือภาพที่ยิ่งลักษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์เคียงคู่กันตรวจน้ำท่วมและกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่ ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าภาพยิ่งลักษณ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อยๆ เปลี่ยนแปรจากความเหินห่างมาสู่ความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น ในระยะแรกของวิกฤติ ผมสังเกตว่าทหารไม่ได้เข้ามาช่วยรัฐบาลเต็มที่ อาจเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่ตระหนักความร้ายแรงของสถานการณ์และยังไม่รู้ว่าจะให้ทหารทำอะไร แต่อีกสาเหตุ คงเพราะมีกำแพงที่มองไม่เห็นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งกล่าวได้เต็มปากว่าอยู่ในภาวะที่เป็น “ศัตรู” กัน แต่เมื่อบ้านเมืองวิกฤติ น้ำถล่มอยุธยา ทะลักมาจ่อกรุงเทพฯ กระแสข่าวฝ่ายเพื่อไทยก็บอกว่าความจริงใจของยิ่งลักษณ์โน้มน้าวให้กองทัพโดดเข้ามาช่วยเต็มที่ ขณะที่กระแสข่าวฝ่ายทหาร ก็บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ท่านเป็นคนใจอ่อน ไปกับยิ่งลักษณ์หลายๆครั้งก็เห็นใจรัฐบาล ไม่ว่าจะเชื่อใคร มันก็สะท้อนภาพที่รัฐบาลกับทหารร่วมมือกันอย่างเต็มอกเต็มใจขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ชายชาติทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์และแม่ทัพนายกองส่วนใหญ่ ต่างเห็นแก่ส่วนรวม ตระหนักในภาระหน้าที่ ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล นี่คือข้อแตกต่างระหว่างสุภาพบุรุษชายชาติทหาร กับพวกต่ำช้าที่เอาวิกฤติมาเล่นเกมการเมือง “เราอย่าพูดว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องดูว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างไร อย่าไปโทษกัน” คำพูดของ ผบ.ทบ.ในวันหลังจากนวนครล่ม เป็นคำพูดที่ควรปรบมือให้ บางคนอาจจะคิดว่าทหารเล่นเกมเหนือชั้น สร้างภาพ สร้างคะแนนนิยม แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น การมองทหารขึ้นกับเราทำความเข้าใจเขาแบบมองสองด้าน มองอย่างแยกแยะหรือเปล่า ทหารส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเลวร้าย พวกเขาได้รับการอบรมให้ปกป้องประชาชน ยอมตายเพื่อชาติ ยอมตายก่อนประชาชน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อว่าตนเองมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน มีอภิสิทธิ์ที่จะใช้กำลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมองไม่เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยของปวงชน พวกเขาจึงทำรัฐประหาร จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่จะบอกให้เรายกย่องทหารชื่นชมทหาร แล้วเชื่อว่าทหารคิดถูกทำถูก แต่เราควรจะทำความเข้าใจ และมองสองด้าน ไม่ใช่มองโลกสีขาวดำ มองคนเป็นพระเอกผู้ร้ายในหนังการ์ตูน เราต้องยืนหยัดต่อสู้ทางความคิดกับทหาร เป็น “ศัตรู” กันทางความคิด ซึ่งต้องสู้กันต่อไปในเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกลาโหม หรือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ตามข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องแยกแยะ ให้ความยกย่องชื่นชมเมื่อเขาทำหน้าที่ ที่ควรจะทำในฐานะส่วนราชการซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะผมเชื่อว่าแกนนำเสื้อแดงบางส่วน คงปั่นป่วนรวนเรอยู่เหมือนกัน กลัวทหารจะเป็นฮีโร่ กลัวทหารจะได้ความนิยมจากมวลชน แต่มันก็ขึ้นกับคุณทำความเข้าใจมวลชนอย่างไร ถ้าที่ผ่านมา คุณปลุกมวลชนให้โกรธเกลียดทหารเหมือนผู้ร้ายในหนังการ์ตูน ก็ลำบากละครับ แต่ถ้าคุณทำความเข้าใจได้ว่าเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เรายอมรับที่เขาทำความดี แต่ต้องต่อสู้ความคิดกันต่อไป มวลชนก็ไม่หวั่นไหว และยกระดับขึ้นด้วยซ้ำ ผมไม่ได้บอกว่าต้องหยุดพูดเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกลาโหม แม้อาจต้องปรับท่าทีบ้าง โดยเน้นพูดเรื่องหลักการ แต่ข้อสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างทหารกับศัตรูผู้ต่ำช้าที่เห็นวิกฤติของชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง สิ่งที่ต้องระวังคือพวกแกนนำขายหนังการ์ตูนอาจจะก่อกระแสโทษทหารเป็นแพะ ว่าทหารไม่ช่วยเต็มที่ ไม่ 100% เลื่อยรัฐบาลอยู่ลึกๆ ซึ่งการพูดเช่นนั้นไม่ทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากหวังจะดึงมวลชนให้ดูหนังของตัวเองต่อไป ต่อให้คุณเชื่อว่าทหารเล่นเกม รัฐบาลก็ต้องเล่นเกม ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร รัฐบาลก็ต้องใจกว้าง ยกย่อง ชื่นชมทหาร ที่เข้ามาช่วยรัฐบาลเต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งกองทัพต่อสู้ภัยพิบัติ และปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ทหารคือฮีโร่ ประชาชนจะเสื้อสีไหนจมน้ำอยู่เห็นทหารเข้าไปช่วยก็ต้องดีอกดีใจ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง จะเล่นบทฮีโร่ด้วยกันหรือเล่นบทตัวอิจฉา ถ้ารัฐบาลแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานร่วมกับกองทัพ ร่วมมือกันแล้วเกิดประสิทธิภาพ และสามารถบริหารความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งสังคมได้ ก็จะโดดเดี่ยวพวกที่จ้องโค่นล้มดังกล่าว ประธานเหมาสอนว่า แยกมิตรแยกศัตรูให้แจ่มชัด การปฏิวัติจึงได้ชัย แต่โก้วเล้งสอนว่า ในมวลหมู่ศัตรูก็มีทั้งศัตรูที่ต่ำช้า และศัตรูที่ควรคารวะ ใบตองแห้ง 19 ต.ค.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net