Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ่ายวันพฤหัสที่แล้ว (12 ต.ค. 54) หลังจากได้ไปสังเกตการณ์การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ผมก็ตระหนักว่า ทั้ง ศปภ.และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดซึ่งการทำงานเป็นระบบ และขาดฝีมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ หลายจังหวัดจมใต้บาดาล คนเกือบสามร้อยคนได้เสียชีวิต และนิคมอุตสาหกรรมสี่แห่งในอยุธยาถูกน้ำทะลักท่วมเสียหายยับเยิน ยังผลให้คนงานกว่าสองแสนคนอาจต้องตกงาน ณ ทางทิศใต้ของอยุธยาก็ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ นิคมนวนครในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีโรงงานภายในนิคมถึง 227 โรง และหากนิคมโดนน้ำท่วมมิดก็จะกระทบต่อแรงงานอีกกว่า 170,000 ชีวิต ในวันรุ่งขึ้น ผมรู้สึกว่า ไม่อยากเห็นสิ่งเดียวกันกับที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยา เกิดซ้ำกับนวนคร จึงตัดสินใจส่งข้อความทางทวิตเตอร์ขอให้อาสาสมัครไปช่วยกันเสริมคันกั้นน้ำที่นวนคร ผมได้ทวีตย้ำไปด้วยว่า เราควรจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ คือจะทำอย่างไรไม่ให้คนอีกเป็นแสนต้องตกงานเพิ่ม สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอน กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งเป็นผู้บริหารมูลนิธิกระจกเงาเป็นคนแรกที่ผมโทรไปหาเพื่อพยายามประสานงาน ซึ่งคุณสมบัติก็ได้พยายามช่วยเท่าที่จะทำได้ เพราะในส่วนของมูลนิธิกระจกเงานั้นก็มีงานอาสาที่ดอนเมืองล้นมืออยู่แล้ว หลังจากทวีตไปได้ระยะหนึ่ง ในที่สุดผมก็สามารถติดต่อทางโทรศัพท์กับนักข่าวหญิงจากสปริงนิวส์ ซึ่งอยู่ที่พื้นที่นวนครได้ในคืนวันเสาร์ ซึ่งผมไม่เคยรู้จักเธอมาก่อน และเธอก็ได้เล่าให้ผมฟังว่า ในนวนวนครเองมีความแตกแยกไม่ลงรอยกันเพียงใด ระหว่างส่วนกลางกับบางโรงงานว่าด้วยการจัดการกับภัยน้ำ แล้วเธอก็ได้ให้เบอร์โทรศัพท์กับผมมาสองเบอร์ เบอร์แรกเป็นเบอร์ของผู้จัดการโรงงานๆ หนึ่งในนวนคร ซึ่งหลังโทรไป เขาบอกว่ายินดีจะช่วยประสานนำอาสาไปช่วยเสริมกำแพงกั้นน้ำ ส่วนอีกคนชื่อคุณสุรีรัตน์ เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของนวนคร ซึ่งก็ยืนยันกับผมว่า คันกั้นน้ำของนวนครจะเอาอยู่ พอผมถามว่า ต้องการอาสาไหม และหากมีอาสารวมตัวกันพร้อมที่ดอนเมือง ทางนวนครจะพร้อมส่งรถไปรับอาสาได้หรือไม่ เธอก็ตอบว่า ทางนวนครไม่ค่อยมีรถเท่าไหร่ ผมพยายามอธิบายให้เธอเข้าใจว่า พวกเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยุธยาที่ล่มไปแล้ว ก็เคยคิดเหมือนกันว่า พวกเขาจะสามารถกันน้ำไม่ให้ท่วมนิคมได้ แต่ในที่สุดก็จมบาดาลกันหมด ผมจึงบอกคุณสุรีรัตน์ว่า ผมเป็นห่วงนวนคร เพราะไม่อยากให้คนงานเกือบสองแสนคนต้องเสี่ยงต่อการตกงานเพิ่มเติมจากที่ตอนนี้ เสี่ยงต่อการตกงานไปกว่าสามแสนแล้วที่อยุธยา แต่ก็ดูเหมือนเธอจะไม่เข้าใจหรือเป็นห่วง วันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ ก็มีคนมาโต้ผมทางทวิตเตอร์ว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องไปช่วยนิคมอุตสหกรรมนวนครเลย เพราะพวกเขามีทั้งเงินทั้งแรงงานมากอยู่แล้ว เขาคนนี้ยังบอกอีกว่า นวนครมีแรงงานประมาณแสนสอง หากเกณฑ์มาแค่หนึ่งเปอร์เซนต์ก็จะได้คนถึงหนึ่งพันสองร้อยคนแล้ว ผมก็ตอบไปว่า ผมไม่รู้หรอกว่าปัญหาข้างในเขามีอะไรบ้าง แต่ถ้าดูเหมือนว่าพวกเขาจะจัดการกันเองไม่ได้ เราคนนอกก็ควรจะเข้าไปช่วย เพื่อที่ว่าคนอีกจำนวนมากจะได้ไม่ต้องตกงาน ตอนสายๆ ของวันนั้น ในขณะที่มีอาสาหลายคนไปช่วยที่ดอนเมืองและที่อื่นๆ ถึงแม้จะเป็นวันหยุด ผมกลับเห็นคนไทยคนหนึ่งในทวิตเตอร์ ทวีตรูปรีสอร์ทริมทะเลที่หัวหินมา เพื่ออวดเป็นภาษาอังกฤษว่า ตนเองซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ ได้ถือโอกาสเดินทางไปพักผ่อนริมทะเล ในขณะที่คนเช่นนี้ทวีตรูปขึ้นมาโอ้อวดผู้อื่น คนที่อยู่รอบนอกกรุงเทพฯ หลายจุดก็เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องยอมเสียสละให้คนกรุงเทพฯ เพื่อคนกรุงจะได้เดินช้อปปิ้งหรือขับรถโดยไปดูหนังโดยไม่ต้องเปียกน้ำ และมันยุติธรรมหรือไม่ ที่พวกเขาจะต้องรับน้ำเพิ่ม เพียงเพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ต้องถูกน้ำท่วม หลังจากผมประณามการกระทำเช่นนี้ไปทางทวิตเตอร์ ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกคนหนึ่งคนตอบมาว่า เขา “ภูมิใจ” กับการกระทำแบบนั้น ช่วงนั้นไทม์ไลน์ของทวิตเตอร์ก็เต็มไปด้วยการด่าทอเสียดสีสาดโคลนกันระหว่างคนเสื้อต่างสีอย่างไม่รู้จบ หากวัดมวลน้ำลายที่สาดใส่กันอย่างไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดมันก็อาจจะมากกว่ามวลน้ำที่กำลังล้อมรอบกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ช่วงสายของวันอาทิตย์นั้น ผมนึกขึ้นได้ว่า หากติดต่อกับผู้นำแรงงานเพื่อให้ทางสหภาพแรงงานต่างๆ ส่งคนมาเป็นอาสาช่วยเสริมคันกั้นน้ำที่นวนคร ก็อาจจะช่วยได้อีกแรง และมีประสิทธิภาพ สุดท้ายผมได้เบอร์โทรศัพท์ของคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่คุณชาลีก็รับปากว่าจะทำเท่าที่ทำได้ ผมโทรไปหาคนอื่นสองสามคน รวมถึง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ช่วยจัดอาสาสมัครเสื้อแดงมาช่วยด่วน ซึ่ง นพ.เหวงก็รับปากว่าจะทำเท่าที่ทำได้ และก็มีเพื่อนอีกคนที่ผมติดต่อไป เขาตอบว่า ปัญหาตอนนี้มีอยู่เต็มไปหมด มันทำให้ผมนึกได้ว่า สังคมไทยเราจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ว่าอะไรควรให้ความสำคัญมากกว่า หรือเร่งทำก่อน ในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น วันจันทร์ ทุกอย่างก็สายเกินไป มีรายงานข่าวออกมาว่า มวลน้ำมหาศาลทำให้ทำนบกั้นน้ำที่นวนครแตก ทั้งที่เมื่อประมาณ 40 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่นวนครยังบอกกับผมอยู่ว่า เธอไม่คิดว่าจะมีปัญหา ผมถามตัวเองว่าจริงๆ แล้ว สังคมไทยน่าจะปกป้องนวนครได้หรือไม่ หากพยายามมากกว่านี้และก่อนหน้านี้ ผมไม่มีคำตอบ ผมโทรหาคุณชาลีแล้วแกก็บอกผมว่า มันไม่ไหวแล้ว อาสาที่ส่งไปก็บอกว่าพวกเขาสู้น้ำไม่ไหวแล้ว พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้โรงงานใครโรงงานมัน” ณ เวลานั้น สิ่งที่ผมทำได้ก็มีเพียงการร้องขอให้พยายามยันเป็นครั้งสุดท้าย ณ เวลานั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เคยเถียงกับผมว่า ทำไมต้องไปช่วยนวนครก็ตอบกลับมาว่า “นาทีนี้ก็ต้องช่วย เพราะนวนครไม่คิดช่วยตัวเองทั้งๆ ที่มีทั้งเงินและแรงงานที่สั่งได้ สองวันก่อนยังมีโรงงานเปิดอยู่เลย . . .” ในที่สุดผมก็ต้องส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์สั้นๆ เพื่อขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยกัน RT ส่งต่อข้อความ หรือได้ช่วยไปเป็นอาสาช่วยที่นวนคร ผมส่งข้อความไปว่า ผมขอขอบคุณในฐานะผู้ที่ “ไม่เคยรู้จักใครในนวนครมาก่อน” หลังจากนั้นผมก็เปิดเช็คอีเมลดู แล้วก็พบจดหมายอิเลกทรอนิกส์จากผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อความสั้นๆ ว่า โรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งได้เริ่มกดดันให้คนงานเขียนจดหมายลาออก โดยบอกกับพนักงานเหล่าว่า จะไม่มีงานทำจนกว่าการฟื้นฟูโรงงานจะเสร็จสิ้น ผมอดสงสัยมิได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกกับหลายนิคมอุตสาหกรรมที่กำลัง “รอ” น้ำที่กำลังจะไปเยือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net