Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้ำท่วมครั้งนี้หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เพราะไม่เพียงแต่เรือกสวนไร่นาจมน้ำไปหลายล้านไร่ หากแต่ใจกลางเมือง โบราณสถาน ย่านธุรกิจ และเขตอุตสาหกรรมที่ว่าจะต้องป้องกันไว้ให้ได้ก็ถูกท่วมเสียหายยับเยินไม่ ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมความเสียหายคิดเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นฟูได้ ทำไมความเสียหายจึงได้รุนแรงขนาดนี้ ในเบื้องต้นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นผลพวงจากพายุกำลังแรงที่พัดถล่ม ประเทศต่างๆ ในอินโดจีน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์) มาอย่างต่อเนื่อง (จำนวน 4 ลูกภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน) ประกอบกับ “ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง” จากมรสุมก่อให้เกิดฝนตกปริมาณมากไม่ต่างจากพายุ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกันยายนมีปริมาณฝนในภาคเหนือสูงกว่าปริมาณฝน เฉลี่ย (30 ปี) อย่างมาก และทำให้น้ำในเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในระดับสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งต้องเร่งปล่อยน้ำออกมา และเมื่อผนวกกับปริมาณน้ำท้ายเขื่อนที่มาจากฝนรวมทั้งปริมาณน้ำใต้ดินที่ สะสมอยู่ (ประเทศไทยอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” ที่มีระดับความผันผวนของปริมาณน้ำใต้ดินต่อหน่วยพื้นที่ในรอบปีสูงที่สุดใน โลก) จึงส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลท่วมพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในเวลารวดเร็ว ส่วนสาเหตุธรรมชาติอื่นๆ เช่น ปรากฏการณ์ลานิญ่า (การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน เช่น ฝนชุก แล้งจัด) ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ไม่พบว่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ตอนเหนือของอเมริกาใต้ และออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี นอกจากปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ ระดับของความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขเชิงกายภาพที่ เราสร้างเพิ่มเติมกับวิธีการที่เรารับมือกับปริมาณน้ำฝนโดยตรง เพราะประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ปล่อยให้เกิดการขยายตัวของ เมืองอย่างขาดทิศทางและถูกผลักดันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก นับตั้งแต่ปัญหาการจราจร ปัญหาที่อยู่อาศัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาน้ำท่วม เพราะว่าอาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จำนวนมากได้รุกล้ำเข้าไปในเขตห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งเป็นแหล่งรองรับและระบายน้ำตามธรรมชาติแต่เดิม (ซึ่งส่วนหนึ่ง เช่น “สลัม” สะท้อนความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในเวลาเดียวกัน) ขณะเดียวกันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำพวกถนนจำนวนมากได้กั้นขวางหรือ เปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนของน้ำ ฉะนั้น เมื่อเกิดฝนตกในปริมาณมาก น้ำก็ไม่สามารถไหลไปไหนได้นอกจากเอ่อท่วมพื้นที่เมืองและเขตอุตสาหกรรมซึ่ง เป็นที่ลุ่มหรือแหล่งรับน้ำตามธรรมชาติเมื่อก่อน ดังกรณีนิคมอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งถูกน้ำท่วมจนแทบหมดสิ้นเพราะว่าสร้างใน พื้นที่ลุ่ม การปล่อยให้เมืองและเขตอุตสาหกรรมเติบโตโดยไม่ค่อยนึกถึงประเด็นทาง นิเวศวิทยาจะทำให้เราเผชิญปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความรู้และข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศน้อยมาก สื่อโทรทัศน์มีรายการพยากรณ์อากาศเป็นไม้ประดับและมักเน้นการสร้างสีสัน มากกว่าข้อมูลเชิงลึกหรือการวิเคราะห์ ตรงกันข้ามกับในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งข่าวพยากรณ์อากาศคือจุดขายของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น (เช่น ที่เมืองซีแอ๊ตเติ้ล แม้จะมีสภาพดินฟ้าอากาศ “อ่อนโยน” เมื่อเปรียบเทียบกับตอนกลางและฝั่งตะวันออกของประเทศ แต่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นที่มี 3 สถานีต่างอาศัยความละเอียด รวดเร็ว และแม่นยำในการพยากรณ์อากาศท้องถิ่นเป็นจุดขาย โดยนอกจากจะมีรายงานพยากรณ์อากาศทุกต้นชั่วโมงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ผู้รายงานข่าวพยากรณ์อากาศคือ “ดารา” ที่แต่ละสถานีใช้เป็นสัญลักษณ์หรือจุดโฆษณา) หากจะอ้างว่าบ้านเราอากาศไม่แปรปรวนเท่าอเมริกาก็ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด เพราะชาวประมงและคนที่อาศัยริมชายฝั่งจำนวนมากต่างใช้ชีวิตและทำมาหากินที่ ขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศทั้งสิ้น เพียงแต่คนเหล่านี้ไม่ถูกนับว่าสำคัญหรือไม่พวกเขาก็มีช่องทางในการแสวงหา ข้อมูลข่าวสารของพวกเขาตามมีตามเกิดก็เท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องดิน ฟ้าอากาศเลยโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณกองทัพที่มีจำนวนมหาศาล จะอ้างว่าไม่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ของประเทศก็คงไม่ได้แล้ว เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าภัยธรรมชาติกระทบกับเศรษฐกิจและความมั่น คงของประเทศขนาดไหน หากเรายังปล่อยให้รายการโทรทัศน์มีแต่ละคร เกมโชว์ และโฆษณาชวนเชื่อ และไม่จัดสรรงบประมาณให้กับการผลิตความรู้และแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยว กับสภาพดินฟ้าอากาศเพิ่มขึ้น ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเราจะได้เจอน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยมีปัญหาอย่างรุนแรง เพราะผูกขาดรวมศูนย์อยู่ ที่กรมชลประทานที่ทำหน้าที่กักเก็บและปล่อยน้ำผ่านเขื่อนต่างๆ (ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน) แต่ไม่มีช่องทางให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขป้องกันน้ำท่วมได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร ฉะนั้น กว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเช่นจังหวัดนครสวรรค์และอยุธยาซึ่งเป็นผู้ มีบทบาทหลักในการป้องกันน้ำท่วมจะแจ้งให้กรมชลประทานทราบเรื่องการชะลอการ ปล่อยน้ำออกมาน้ำก็ท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่เสียแล้ว ขณะเดียวกันผู้ว่าฯ เหล่านี้ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะปิดกั้นการไหลท่วมของน้ำว่าจะตรงไหนอย่าง ไรเพราะกระทบอำนาจการบริหารจัดการของหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างๆ ซึ่งมีวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาแตกต่างออกไปและในหลายกรณีไม่ช่วยทุเลา ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆ ระหว่างพื้นที่การเกษตรกับเขตเมืองและย่านอุตสาหกรรม รวมทั้งระหว่างกรุงเทพมหานคร (ในฐานะ “ท้องถิ่น”) กับจังหวัดรอบนอกดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ และเพราะเหตุที่ผูกขาดการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมากขนาดที่ว่านี้ กรมชลประทานจึงตกเป็นผู้ต้องหาคดีน้ำท่วมครั้งนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยนอกจากคำถามที่ว่าเขื่อนขนาดใหญ่สามารถป้องกันแก้ไขน้ำท่วมได้จริงอย่าง ที่กรมชลฯ ชวนให้เชื่อจริงหรือ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหลักของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มาจากการที่กรมชลฯ กักเก็บและปล่อยน้ำจากเขื่อนไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน เพราะในขณะที่ปริมาณฝนสูงอย่างมากและส่งผลให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนสูงกว่าปี ที่แล้วประมาณสองเท่า แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเขื่อนภูมิพลกลับปล่อยน้ำน้อยและช้ากว่าในช่วง เดือนกันของปีที่แล้วเกือบเท่าตัว หรือกรณีเขื่อนสิริกิตติ์ที่ในช่วงฤดูแล้งได้กักเก็บน้ำไว้สูงกว่าครึ่งของ ความจุเขื่อนทั้งที่พอจะสามารถระบายออกมาเพื่อช่วยทุเลาปัญหาภัยแล้งได้บ้าง และในทางกลับกัน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเขื่อนใหญ่เหล่านี้ก็ปล่อยน้ำออกมาในปริมาณมากพร้อมกันในเวลารวดเร็ว (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณน้ำที่สั่งสมในเขื่อนจำนวนมากที่ทำให้ศักยภาพใน การรองรับน้ำเพิ่มเติมมีน้อย) คิดเป็นสามเท่าของปริมาณน้ำที่ระบบการระบายน้ำที่มีอยู่สามารถรองรับได้ จึงเกิดน้ำท่วมไปทั่ว ขณะที่กรมชลฯ ไม่สามารถอธิบายได้อย่างหนักแน่นว่าทำไม (กรมชลฯ เคยชี้แจงว่าสาเหตุที่เพิ่งปล่อยน้ำเป็นเพราะไม่ต้องการให้น้ำท่วมพืชผลการ เกษตรที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ก็เป็นคำชี้แจงที่เบามากและไม่ได้ยินอีกเลยหลังจากนั้น) จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีสมคบคิด” ในสายตาของหลายคนไปโดยปริยาย น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จึงชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติแปรปรวนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เราไม่เพียงแต่สร้างเงื่อนไขให้การแก้ปัญหายากขึ้นด้วยการปล่อยให้ เมืองและเขตอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงเงื่อนไขเชิง นิเวศวิทยา หากแต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลข่าว สารเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศเท่าที่ควร และปล่อยให้อำนาจในการบริหารจัดการน้ำถูกผูกขาดโดยกรมชลประทานที่นอกจากจะ ต้องสังคายนาแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการน้ำเสียใหม่ ยังจะต้องทำให้หน่วยงานนี้ขึ้นต่อรัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง หากการสังหารประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้วช่วยให้คนจำนวน มาก “ตาสว่าง” ว่าวิกฤติการเมืองมาจากอะไร ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็น่าจะช่วยให้หลายคนได้ “ตาสว่าง” ว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะปัญหาการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยแยกไม่ออกจากปัญหาการเมืองที่ต่าง ถูกผูกขาดหรือครอบงำโดยชนชั้นนำเพียงหยิบมือ หมายเหตุ:บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับวันที่ 14-20 ตุลาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net