Skip to main content
sharethis

 

ศาลยกฟ้องข้อหาละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ นายดาบตำรวจสันติเวช ภูตรี เหตุมีแค่ภาพนิ่งว่าอยู่ในเหตุการณ์ เจ้าตัวระบุ ไม่ติดใจต้องการปรองดอง ทนายแฉห่วงเหยื่อที่ถูกซ้อมบังคับให้สารภาพมีอีกจำนวนมาก วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องคืนความเป็นธรรมเร่งเยียวยา เผยค่าใช้จ่ายสูงในการสู้คดี

18 ต.ค.54 ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1296/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ดาบตำรวจสันติเวช ภูตรี อายุ 59 ปี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยศาลได้ขึ้นนั่งบัลลังค์และอ่านคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ให้เหตุผลว่าหลักฐานที่ทางโจทก์ใช้ปรักปรำจำเลยมีเพียงภาพถ่ายจำเลยว่าอยู่ในสถานที่ชุมนุมเท่านั้น  และไม่มีหลักฐานอื่นที่ระบุว่าจำเลยกระทำผิด โดยการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวเริ่มเวลา 09.30 น. และใช้เวลาประมาณ 10 นาที

ประชาไทถามดาบตำรวจสันติเวช หลังจากที่ได้ฟังคำพิพากษาว่า ค่าใช้จ่ายของจำเลยในการเดินทางลงมาสู้คดีจาก จ.หนองคายถึงกรุงเทพครั้งละเท่าไหร่ ดาบตำรวจสันติเวชบอกว่าระยะเวลาปีกว่ามานี้ ตนได้ใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับเที่ยวละ 5,000บาทเป็นอย่างต่ำ และตั้งแต่ที่ตนถูกจับกุมตั้งข้อหาดำเนินคดีตนต้องเดินทางลงมากรุงเทพเพื่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 7 ครั้งแล้ว

ดาบตำรวจสันติเวช เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เดินทางเข้ามาตามหาลูกสาวซึ่งเข้ามาสมัครงานที่กรุงเทพฯ และร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ด้วยเกรงว่าบุตรสาวจะได้รับอันตราย โดยดาบตำรวจสันติเวชไปตามหายังบริเวณถนนเลียบทางด่วน ซอยลาดพร้าว 71 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวราว 40 คน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปยังแยกราชประสงค์ได้แล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้ปิดกั้นเส้นทาง แต่ก็ไม่พบบุตรสาว เพราะบุตรสาวเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในที่เกิดเหตุถูกเจ้าหน้าตำรวจ สน.วังทองหลางได้ถ่ายรูปเป็นหลักฐานและออกหมายจับในเวลาต่อมา จากนั้นผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ก่อนถูกนำไปควบคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน ภาค 1 เป็นเวลา 7 วันแล้วจึงปล่อยตัว 

เมื่อถามว่าจะได้มีการเรียกร้องเอาผิดจากรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปหรือไม่ นายธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายความของดาบตำรวจสันติเวชกล่าวว่า น่าจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาผิดเนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถเอาผิดผู้สั่งการหรือผู้ที่รับผิดชอบได้ ผู้ที่เดือดร้อนก็จะมีแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งเท่านั้น  

นายธิติพงษ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีนี้ยังถือว่าไม่ประสบความเดือดร้อนมากเนื่องจากสู้คดีและได้ประกันตัว  แต่ตนเชื่อว่าคดีที่มีลักษณะรวบรัด เร่งรัดให้มีการสรุปผลคดีโดยเร็ว การยัดข้อหา การซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้ยอมรับข้อกล่าวหากเกิดขึ้นในระหว่างการสลายการชุมนุม พฤษภาคม 2553 มีเป็นจำนวนมาก ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเข้ามาศึกษาพิจารณา พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือและคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์นี้

 

หมายเหตุ:  ข้อมูลบางส่วนจาก  ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553                          ( ศปช.) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net