Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่วัดป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ป๋าม ลุ่มน้ำแม่นะ-แม่แมะ ลุ่มน้ำซุ้ม ลุ่มน้ำลุ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสถาบันพัฒนาท้องถิ่น หน่วยจัดการต้นน้ำผาแดง และเทศบาลตำบลปิงโค้ง ได้เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนของคนต้นน้ำกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ในขณะนี้ โดยในวันนั้น นายสถาพร สมศักดิ์ เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้มีการประมวลภาพรวมของปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ว่าที่ผ่านมา ได้มีการศึกษารวบรวมปัญหาร่วมกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับภัยพิบัติใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ซึ่งมีการสำรวจแม่น้ำหลายสาย ตั้งแต่สาละวิน ปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เชียงใหม่เอง ก็ได้มีการศึกษาและทำข้อมูล 2-3 ปีที่ผ่านมาในเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม “ในช่วงของเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา น้ำได้ไหลมาทุกจุด ทุกพื้นที่ เช่น ชาวบ้านในชุมชนแถบสาละวินก็ต้องประสบกับปัญหาที่ต้องโดนน้ำพัดพา ทั้งแม่ฮ่องสอนก็ถูกน้ำท่วม และน้ำท่วมก็ท่วมเป็นหย่อมๆ ไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ละลุ่มน้ำโดนกระแทกและรวมกันเป็นจุดๆ ตั้งแต่ สาละวิน เชียงใหม่ เชียงดาว ลำพูน แม่ทา ลำปาง เถิน แจ้ห่ม ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเหมือนกับปีนี้ อย่างจังหวัดแพร่ แถววังชิ้น ก็เจอน้ำท่วมสูงถึงครึ่งฝาบ้าน ในขณะที่จังหวัดน่านก็เกิดการท่วมซ้ำถึง 2 รอบ” สถาพร สมศักดิ์ เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เมื่อปริมาณน้ำมาก เขื่อนใหญ่จำต้องปล่อยให้ท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ นายสถาพร กล่าวว่า เมื่อฝนตกมาก ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนของสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เพิ่มขึ้นและการสะสมของน้ำเกิดปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพื้นทีลำน้ำน่าน ทำให้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำถึง 99% เกือบจะเต็มเขื่อน “เมื่อได้ลงไปดูพื้นที่เก็บกักของเขื่อน ว่าเขามีการปล่อยน้ำอย่างไร ก็พบว่าเจ้าหน้าที่เขาต้องรอคำสั่งจากกรมชลประทานที่มีอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการสั่งว่าแต่ละเขื่อนจะให้มีการปล่อยน้ำในปริมาณเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องของปริมาณน้ำ ปริมาณน้ำฝน ทางกรมชลประทานจะต้องรู้ดีว่าการปล่อยในแต่ละครั้งนั้นหมายถึง การท่วมของน้ำทุกสายที่ไหลไปรวมกันอยู่ ณ ปัจจุบันที่ นครสวรรค์ อยุธยา อ่างทอง และใกล้จะถึงกรุงเทพฯ อย่างนี้เอง แล้วเราจะทำอย่างไร” ทางออกปัญหา รัฐมักหันไปสร้างโครงการขนาดใหญ่ นายสถาพร กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเกิดทุกพื้นที่ก็มีหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดต่างๆ และรัฐบาลต่างก็มีโครงการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น รวมถึงบ้านโป่งอาง ที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน หรือโครงการเมคกะโปรเจกของรัฐที่เข้ามาอย่างเช่น โครงการผันน้ำกก-ฝาง-ปิง ในเขตพื้นที่ต้นน้ำเช่นนี้ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน “ลองมาดูที่จังหวดน่าน โครงการรัฐที่เข้ามาก็คือการนำ 1,200 ล้านบาท เอามาสร้าง 6 อ่างเก็บกักน้ำ ซึ่งก็คือเขื่อนนั่นเอง โดยทำเป็นแนวกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าตัวเมืองน่าน แต่จะให้ไหลไปท่วมอีกฟากของลำน้ำน่าน และรอบเมืองน่านก็จะสร้างคันกั้น จุดไหนที่ต่ำก็จะมีการกั้นทั้งหมด สุดท้ายฝั่งข้างนอก ที่เป็นพี่น้องชาวบ้านตาดำๆ ก็ต้องเจอภาวะของน้ำท่วม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะต้องมีการทบทวนและศึกษาสถานการณ์ปัญหาที่มีการทำในพื้นที่สุโขทัย ที่ทำในเรื่องแบบนี้ ทำให้น้ำไม่เกิดการกระจาย น้ำต่ำบางพื้นที่ และสูงบางพื้นที่ นี่เป็นสถานการณ์ที่พวกเราพี่น้องชาวบ้านจะต้องมีการศึกษาและติดตามด้วย” อย่างไรก็ตาม นายสถาพร กล่าวว่า ผลดีของโครงการรัฐที่เข้ามาดำเนินการในแต่ละพื้นที่นั้น ก็คงเป็นเรื่องทำให้พี่น้องชาวบ้านนั้นได้มีการตื่นตัวกันขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปัญหาโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน “อยากจะให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านคนต้นน้ำเรานั้นมีการร่วมกันอย่างไร ทำให้เราเห็นเรื่องของความตื่นตัวของพี่น้องชาวบ้านที่ลุกขึ้นมา เรื่องการคัดค้านเรื่องของเขื่อน โครงการผันน้ำ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ก็ต้องมีการมองกันหลายมิติ ไม่ได้มองเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างพื้นที่บ้านโป่งอางก็เหมือนกัน ถ้ามีการสร้างเขื่อนพี่น้องที่นี่จะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง จะเจอปัญหาอะไรบ้าง และแน่นอนว่า ชาวบ้านเราจะต้องเจอกับคำถามนี้ที่คนในเมืองจะบอกว่า โครงการเหล่านี้ “เป็นประโยชน์มวลรวมของประเทศและคนส่วนใหญ่ “ ซึ่งชาวบ้านคนต้นน้ำจะต้องคิดให้มาก ไม่ว่ากรณี เรื่องของเขื่อน เพราะฉะนั้นเรื่องของการมีส่วนร่วม เรื่องของสิทธิของชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญ และเราต้องมีการมองเรื่องของการจัดการน้ำทั้งหมดด้วย” นายสถาพร กล่าวในตอนท้าย ด้านนายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ซึ่งเป็นคนบ้านสะเอียบ จ.แพร่ ได้บอกเล่ากับชาวบ้านต้นน้ำเชียงดาว ว่าตนเติบโตมากับการคัดค้านการสร้างเขื่อน ในฐานะของกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ถ้าได้ข่าวเรื่องของน้ำท่วมก็ต้องนึกถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้ง ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายรัฐอ้างมาโดยตลอดว่า แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำเดียวที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ปิง วัง ยม น่าน นั้นมีเขื่อนขนาดใหญ่หมดแล้ว เหลือแต่แม่น้ำยม แม่น้ำเดียว ที่ยังไม่มีเขื่อน แต่ก็มีความพยายามที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นั้น มีความสูงจากระดับพื้นดิน 72 เมตร ความยาวของสันเขื่อนยาวประมาณ 500 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งตำบลสะเอียบมี 4 หมู่บ้าน รวมไปถึงพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อีก 11 หมู่บ้าน สายัณห์ ข้ามหนึ่ง ชาวบ้านสะเอียบ จ.แพร่ “ซึ่งตอนแรก เขาเริ่มมีการบอกว่าจะมีการสร้าง 94 เมตร ชาวบ้านที่พื้นที่อำเภอเชียงม่วนก็ได้ออกมาคัดค้าน และมีการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะตัด 11 หมู่บ้านนั้นไม่ให้เข้ามาร่วมคัดค้าน ก็เลยมีการลดสันเขื่อนลง แต่ความจริงแล้ว 11 หมู่บ้าน ก็ต้องโดนน้ำท่วมอยู่เต็มๆ นี่เป็นแผนของเขา เพื่อที่จะตัดคนที่คัดค้านออก และตอนนี้เองทางพี่น้องทางพะเยาและเชียงม่วน ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมในการคัดค้านอีก อย่างไรก็ตาม 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านของ ต.สะเอียบ มีการยืนหยัดเรื่องของการต่อสู้กันอย่างเข้มแข็ง ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบได้เห็นชาวบ้านในหมู่บ้านได้มีการต่อสู้ในเรื่องนี้มา จนตอนนี้ผ่านมา 20 ปี ก็ต่อสู้กับชาวบ้านไม่ให้มีการสร้างแก่งเสือเต้นได้” นายสายันห์ บอกย้ำอีกว่า เพราะว่าเรื่อง เขื่อนเป็นปัญหา และเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การคัดค้านต่อสู้ต้องประสานกับหลายๆ พื้นที่ หลายๆ เครือข่าย “การต่อสู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ไม่ใช่เรื่องคนในพื้นที่สู้กันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอาคนจากข้างนอกเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมกันคัดค้านด้วย ก็คิดกันอยู่ว่า ถ้าลำพังชาวบ้านเพียง 4 หมู่บ้าน เราสู้ตายแน่ๆ และเราเองก็ไม่ได้สู้กันอย่างโดดเดี่ยว เพราะว่ายังมีหมู่บ้านอื่นที่ยังต่อสู้เรื่องเขื่อนอยู่เหมือนกัน” ตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ กล่าวในทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net