Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.54 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ต่อความเห็นและคำสัญญาของรัฐบาลไทยในประเด็นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ สืบเนื่องจากการรายงานสถานการณ์สิทธิของรัฐบาลไทย ณ สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยย้ำว่า รัฐบาลไทยต้องจริงใจในการลงนามในอนุสัญญารับรองสิทธิแรงงานข้ามชาติ พร้อมแจง สถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลรายงานในที่ประชุม แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในการรายงานสถานการณ์สิทธิของรัฐบาลไทย ทางการไทยอ้างว่า คนงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างชาติ มีระบบคุ้มครองด้านสังคมและประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกัน หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว มสพ. ชี้ว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคนซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในประเทศ ยังคงถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบไม่ให้เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องแสดงหนังสือเดินทาง ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนจะไม่มีเอกสารดังกล่าว ยกเว้นแต่จะได้รับการพิสูจน์หลักฐานแล้วเท่านั้น มสพ. ยังชี้ว่า การที่รัฐบาลไทยเสนอให้แรงงานต่างชาติซื้อประกันภัยเอกชน ยังตอกย้ำการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - ICERD) ที่รัฐบาลไทยลงนามเป็นภาคีอยู่ด้วย นอกจากนี้ ในเวทีการรายงานสถานการณ์สิทธิยูพีอาร์ รัฐบาลไทยกล่าวว่า ได้จัดหาการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่โรงพยาบาล แก่แรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนและบุตรตามหลักมนุษยธรรมอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม มสพ. อ้างข้อมูลการทำงานในพื้นที่และพบว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนเมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาล และไม่ได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนด้านสาธารณสุขดังกล่าวแต่อย่างใด มูลนิธิด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเเรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว (International Convention on the Rights of Migrant Workers and Members of Their Families) ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะจากยูเอ็นที่รัฐบาลไทยยังไม่รับ พร้อมทั้งกระตุ้นให้รัฐบาลไทยทบทวนแนวทางการปฏิบัติและนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 00000 วันที่ 13 ตุลาคม 2554 แถลงการณ์ต่อความเห็นและคำสัญญาของรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ “เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถทำตามคำสัญญาที่จะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ มสพ.กระตุ้นรัฐบาลไทยให้พิจารณาที่จะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว และเพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นในความเห็นและความพยายามที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติตามที่สัญญา มสพ.กระตุ้นรัฐบาลไทยให้ทบทวนแนวการปฏิบัติและนโยบายในประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิคนข้ามชาติ กรณีที่ขัดแย้งกับพันธกรณีสากลของประเทศไทยและมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป” การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review - UPR) มีขึ้นที่กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2554 ในสมัยประชุมที่ 12 ของคณะทำงานตามกระบวนการ UPR (UPR Working Group) ในระหว่างกระบวนการ UPR คณะทำงานที่ประกอบด้วยรัฐภาคี 47 แห่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ทบทวนสถิติข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยเปิดให้มีการอภิปรายอย่างอิสระของบรรดารัฐภาคีสมาชิก จากการทบทวนกรณีประเทศไทย ผู้แทนประเทศ 52 คนได้กล่าวถ้อยแถลง และผู้แทนอีกเจ็ดคนได้ส่งคำถามล่วงหน้า จากข้อเสนอแนะทั้งหมด 172 ข้อ ประเทศไทยรับไปพิจารณาทันที 100 ข้อ โดยข้อเสนอแนะที่ยังไม่รับพิจารณาทันที 72 ข้อจะมีการนำไปปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมอีกครั้งหนึ่ง โดยมีกำหนดต้องให้คำตอบต่อข้อเสนอแนะที่เหลืออยู่ไม่เกินวาระการประชุมสมัยที่ 19 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2555 มสพ.ขอแสดงความยินดีต่อคำสัญญาของรัฐบาลไทยในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิทธิแรงงานข้ามชาติ ดังนี้ Ø ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว Ø ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานโลก ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง Ø ประเทศไทยจะมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการต่อกลไกพิเศษ (special procedures) ทั้งหลายภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ Ø ประเทศไทยจะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ Ø ประเทศไทยจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการตรวจสอบด้านแรงงานนอกจากความชื่นชมต่อรัฐบาลไทยสำหรับความก้าวหน้าเมื่อเร็ว ๆ นี้ มสพ.ต้องการย้ำถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ และต้องการชี้แจงบางประเด็นเกี่ยวกับข้อสังเกตของรัฐบาลไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เราหวังว่ารัฐบาลไทยจะพิจารณาประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อหาทางปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และแนวการปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากลของประเทศไทย ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ 1. ในข้อสังเกตเชิงสรุปของรัฐบาลไทย มีการอ้างว่า “ระบบคุ้มครองด้านสังคมและประกันสังคม (มีให้กับ) สำหรับคนงานทุกคน ทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติจดทะเบียน” รวมทั้ง “นายจ้างของแรงงานข้ามชาติยังสามารถเลือกซื้อประกันภัยของเอกชนได้ หรือ (อาจ) จ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนให้กับแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ข้อชี้แจงในกรณีนี้หากมองในความเป็นจริงกล่าวได้ว่า แรงงานข้ามชาติกว่าหนึ่งล้านคนซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ยังคงถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบไม่ให้เข้าถึงกองทุนเงินทดแทนในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นผลมาจากหนังสือเวียนเลขที่ รส.0711/ว.751 ที่เป็นระเบียบภายในของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องแสดง “หนังสือเดินทาง” แต่แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนจะไม่มีเอกสารดังกล่าว เว้นแต่จะได้ผ่านขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ข้อกำหนดถือเป็นการกีดกันแรงงานข้ามชาติในการไดรับเงินทดแทนกรณีที่บาดเจ็บจากการทำงาน นอกจากนั้น ระเบียบภายในเหล่านี้ยังละเมิดพันธกรณีของรัฐบาลไทยที่มีต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุสำหรับคนงานในชาติและคนงานต่างชาติ รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - ICERD) ข้อเสนอของรัฐบาลไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ให้ซื้อประกันภัยเอกชน ยังคงตอกย้ำการเลือกปฏิบัติและกีดกันแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงการได้รับเงินทดแทนอย่างเท่าเทียมกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการ อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวไม่มีระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจน และเป็นไปในลักษณะที่นายจ้างสมัครใจทำเอง จึงไม่อาจเป็นหลักประกันแก่แรงงานข้ามชาติว่าจะได้รับเงินทดแทนอย่างเท่าเทียมในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความเจ็บป่วยจากการทำงาน 2. ในคำแถลงเปิดการประชุมและข้อสังเกตเชิงสรุปของรัฐบาลไทย มีการระบุว่า “แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียน จะได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง กรณีที่เจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บ ทุพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ เทียบเท่ากัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ต่อแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่ให้เงินทดแทนต่อแรงงานข้ามชาติกรณีที่ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความเจ็บป่วยจากการทำงาน” อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการชี้แจงกรณีดังกล่าวยังขาดการดำเนินการและบังคับให้นายจ้างนำลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนแล้วและขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคมเพียงไม่ถึง 20% (จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนและผ่านขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ 500,000 คน) เป็นเหตุให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้ความเสี่ยงและไม่มีประกันสุขภาพ[1] 3. ต่อกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ มสพ. ยินดีต่อการปรับปรุงขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการพิสูจน์สัญชาติขึ้นที่จังหวัดระนอง และแม้จะมีศูนย์เช่นนี้ แต่แรงงานข้ามชาติก็ยังไม่สามารถสมัครเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางของรัฐ ในทางตรงข้าม แรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้ต้องติดต่อผ่านนายหน้าเอกชนที่คิดค่าใช้จ่ายจำนวนมากสำหรับบริการที่ไม่มีการควบคุม เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติเป็นโอกาสที่เครือข่ายนายหน้าที่ปราศจากการควบคุมและมีขนาดใหญ่เข้ามาเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ เราขอกระตุ้นอย่างจริงจังให้รัฐบาลไทยควบคุมขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติให้ดีกว่านี้ เพื่อให้ “ซับซ้อนน้อยลงประหยัดเวลามากขึ้น และคุ้มทุนมากขึ้น” อย่างจริงจังสำหรับแรงงานข้ามชาติ 4. ในแง่ของข้อสังเกตเชิงสรุปของรัฐบาลไทยที่บอกว่า “แรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนและบุตร ได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่โรงพยาบาลตามหลักมนุษยธรรม” ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าบริการดังกล่าวมีการจัดให้โดยไม่คิดมูลค่าหรือไม่ หรือจะสามารถเข้าถึงได้อย่างไร ทั้งนี้ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่มสพ.ที่ทำงานโดยตรงกับแรงงานข้ามชาติ ข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้บางส่วน แต่โดยทั่วไปแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อได้รับบาดเจ็บและไปรักษาโรงพยาบาลก็จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวน ในทางปฏิบัติแล้ว พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนด้านสาธารณสุขดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นกันว่า ระบบ “ดูแลสุขภาพที่มีอยู่” ต่างจาก “เงินสนับสนุนการดูแลสุขภาพ” ที่รัฐบาลไทยอ้างว่าได้จัดไว้สำหรับกับผู้ไม่มีสถานะบุคคลอย่างไร 5. ในระหว่างกระบวนการ UPR รัฐบาลไทยยืนยันว่า “มีกลไกที่ให้ความเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกรณีที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาทนายความ” และทางกระทรวงยุติธรรมสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติมักไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้ เนื่องจากสถานะของการเป็นแรงงานข้ามชาติ และอุปสรรคด้านภาษาที่ทำให้พวกเขาไม่มีพลัง แรงงานข้ามชาติยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีบริการเช่นนั้น และบ่อยครั้งที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบของนายจ้าง ถูกนายจ้างขู่ที่จะยึดเอกสารแสดงตน หรือขู่ที่จะเลิกการจ้างงาน เมื่อว่างงาน แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยต่อไป และอาจถูกจับกุมและถูกส่งกลับเวลาใดก็ได้ ในกรณีที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติมักกลัวไม่กล้าไปแจ้งความกับตำรวจ เกรงว่าจะถูกจับหรือส่งกลับ กระบวนการ UPR ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นที่การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์และความก้าวหน้าในการยอมรับสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และคุณูปการของแรงงานเหล่านี้ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถทำตามคำสัญญาที่จะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากกระบวนการ UPR มสพ.กระตุ้นรัฐบาลไทยให้พิจารณาข้อเสนอแนะที่สำคัญอย่างยิ่งอีกข้อหนึ่ง กล่าวคือการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว (International Convention on the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families- ICRMW) และเพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นในความเห็นและความพยายามที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติตามที่สัญญา มสพ.กระตุ้นรัฐบาลไทยให้ทบทวนแนวการปฏิบัติและนโยบายในประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิคนข้ามชาติ กรณีที่ขัดแย้งกับพันธกรณีสากลของประเทศไทยและมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เราสนับสนุนให้มีการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประกันว่าจะมีการทบทวนและปฏิบัติอย่างจริงจัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net