Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรี ตรวจคันกั้นน้ำหลักหก ยืนยันต้องปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ มั่นใจรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ด้าน กทม. เตรียมพร้อมศูนย์พักพิงรับผู้ประสบภัยหากเกิดวิกฤติน้ำขึ้นสูง ส่วนคนปทุมธานี เครียดถูกตัดน้ำตัดไฟสองพันครอบครัวปิดถนนประท้วง นายกรัฐมนตรีมั่นใจรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้ 14 ต.ค. 54 - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาตรวจเยี่ยมแนวพนังกั้นน้ำหลักหก เมืองเอก จังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำและความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รายงานข้อมูลให้รับทราบ พร้อมระบุว่า จะมีการเพิ่มแนวกระสอบทรายให้สูงขึ้นจากแนวเดิมอีก 30 เซนติเมตร และอาจจะเพิ่มอีก 20 เซนติเมตร โดยขณะนี้ระดับน้ำในคลองรังสิตยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รายงานว่าขณะนี้ไม่สามารถปิดประตูระบายน้ำคลองหนึ่งได้ จึงทำให้น้ำยังไหลลงมายังคลองรังสิต จึงขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเจรจา ด้าน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภาครัฐจะควบคุมสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด โดยมีทำแนวกั้นน้ำอย่างแน่นหนาและเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ ทั้งนี้ เรามองภาพรวมในการรักษาเศรษฐกิจของประเทศ และจะดูแลไม่ให้กระทบบ้านเรือนประชาชนมากนัก จากนั้น นายกรัฐมนตรีขึ้นรถทหารไปตรวจแนวคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำคลองรังสิตตัดกับคลองเปรมประชากร ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า จะรองรับน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯ หากคันกั้นน้ำที่หลักหกชำรุด ยังมีคันกั้นน้ำที่เมืองเอกสำรองไว้ หรือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจะสามารถซ่อมแซมและสูบน้ำลงคลองรังสิตได้ทัน พร้อมจะเฝ้าระวังแนวคันกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า การไปดูแนวคันกั้นน้ำที่หลักหก เพราะต้องการให้เสริมแนวกั้นให้สูงขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลประชาชนในภาพรวมทุกจังหวัด ป้องกันความเสียหายไม่ให้กระจายออกไปมากกว่านี้ อยากขอความร่วมมือกับประชาชนเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งขณะนี้สามารถสบายใจได้ระดับหนึ่ง เพราะปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และเชื่อว่ากรุงเทพฯจะไม่เป็นเหมือนจังหวัดนครสวรรค์หรือพระนครศรีอยุธยา และเมื่อเราเร่งขุดคลองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลเห็นใจประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ต้องปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯถือเป็นหัวใจและเป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน “ดิฉันขอให้ประชาชนสบายใจ กรุงเทพมหานครก็น่าจะสบายใจได้แล้ว เราทำทุกวิถีทางและทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกัน ดูแลทั้ง กทม.และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแนวคันกั้นน้ำ เราก็เสริมให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีแนวคันกั้นน้ำในโครงการพระราชดำริอีก ตรงนี้อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจ รัฐบาลดูแลในภาพรวม ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคน และดูแลภาพรวมของประเทศ” ทอท.ยืนยันดอนเมืองเตรียมพื้นที่รองรับผู้ประสบภัย 24 ชม. กรุงเทพฯ 14 ต.ค.- พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ตุลาคม มีประชาชนที่เกรงว่าจะประสบภัยน้ำท่วมเข้ามาพักที่ศูนย์อพยพ อาคาร 2 สนามบินดอนเมืองบางส่วน และเมื่อพบว่าน้ำไม่ได้ท่วมที่พักอาศัย จึงได้เดินทางกลับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่อพยพดังกล่าว ทาง ทอท.เตรียมพร้อมรองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชม. ส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพิเศษ แจ้งว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมั่นใจระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีเขื่อนดินสูง 3.5 เมตร สามารถป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ได้แน่นอน สภาทนายความเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สภาทนายความ 14 ต.ค.– ตัวแทนสภาทนายความนำโดย นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ แถลงเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของสภาทนายความ ถนนราชดำเนิน และที่ทำการสภาทนายความสาขาโรงเรียนภูมิไพโรจน์พิทยา (ในการบริหารของสภาทนายความ) โดยจะเปิดรับเงิน สิ่งของและปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ก่อนส่งต่อให้บริษัทในเครือเนชั่น ลำเลียงไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป และยังเตรียมความพร้อมรองรับผู้อพยพประมาณ 300 คนไว้ที่โรงเรียนภูมิไพโรจน์พิทยาด้วย นอกจากนี้สภาทนายความยังจะเปิดให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือทางคดี ที่สำนักงานสภาทนายความจังหวัดทุกเขตศาลจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สภาทนายความส่วนกลาง โดยมีทนายอาสาคอยให้คำแนะนำเช่น เรื่องหลักฐานสำคัญที่สูญหาย หรือประสานงานเรื่องญาติสูญหาย โดยสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0 2629 1430 ต่อ117 134 หรือ 0 2282 9726 กทม. เตรียมพร้อมศูนย์พักพิงรับผู้ประสบภัยหากเกิดวิกฤติน้ำขึ้นสูง กรุงเทพฯ 14 ต.ค.- นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังเดินทางไปตรวจความพร้อมศูนย์พักพิง ผู้ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนวัดมหาธาตุ เขตพระนคร และโรงเรียนวัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต ซึ่ง กทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตจัดหาที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย โดยจัดให้มีเครื่องนอน อาหารครบ 3 มื้อ สาธารณูปโภค ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้การดูแลผู้ประสบภัยในช่วงภาวะวิกฤติว่า กทม.ได้ตั้งศูนย์พักพิงภายในโรงเรียนในสังกัด กทม. รวม 96 โรงเรียน และโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง รองรับได้แห่งละประมาณ 100 คน เพื่อให้การดูแลผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และผู้ประสบภัยจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ที่ต้องการเข้ามาพักพิง โดยขณะนี้ กทม. มีความห่วงใย 27 ชุมชน นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากระดับน้ำ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตทยอยประชาชนออกมาจากชุมชน ซึ่ง กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสำนักเทศกิจ กทม. ในขนย้ายสิ่งของและประชาชนออกมาจากชุมชน หากพบว่าประชาชนมีภาวะเครียดจากภัยน้ำท่วม สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์จะจัดทีมนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากประชาชนสามารถสอบถามรายชื่อโรงเรียนที่กรุงเทพมหานคร จัดไว้รองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โทร. 0 2437 6631-5 ต่อ 3418 ในเวลาราชการ หรือเว็บไซต์ www.bmaeducation.in.th หรือ สายด่วน กทม.โทร.1555 ตลอด 24 ชั่วโมง ประท้วงถูกตัดนำ-ไฟ จากน้ำท่วม เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 14 ต.ค. ชาวบ้านหมู่บ้านปาริชาติ ถนนปทุมธานี บางบัวทอง ม.5 ต.บางคูวัด จ.ปทุมธานี ได้รวมตัวกันชุมนุมอยู่ที่หน้าหมู่บ้านปาริชาติ พร้อมทั้งมีปากเสียงกับกลุ่มเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองบางคูวัด ที่มาคอยดูแลแนวคันดินกั้นน้ำใต้สะพานเกาะเกรียง เนื่องจากกลัวชาวบ้านจะมารื้อคันดินออกจะทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมเขตโรงงานและวังจักรกรีบงกช ทำให้ชาวบ้านต่างไม่พอใจที่ทางเทศบาลไม่ยอมให้น้ำไหลเข้าท่วมเพื่อแบ่งเบาน้ำจากในหมู่บ้านที่ได้ถูน้ำท่วมถึงชั้นสองแล้ว ทำให้ชาวบ้านใช้รถหกล้อปิดกั้นกลางถนนรถไม่สามารถวิ่งไป จ.สุพรรณบุรี ได้ โดยนางผุสดี เทียนมาวร ประธานหมู่บ้าน และนายสุพัฒน์ นิ่มแสง กรรมการหมู่บ้านได้ออกมาชีแจ้งว่าสาเหตุที่จำเป็นต้องปิดถนนในครั้งนี้เนื่องจากเมื่อเจ้าหน้าที่ไฟฟ้า และการประปา ได้มาตัดน้ำตัดไฟ ทำให้ชาวบ้านจำนวน 2,000 ครอบครัว เดือดร้อนไปตามกัน ทำให้ชาวบ้านจะหุง ข้าวหรืออาบน้ำก็ไม่ได้ทำให้คนในหมู่บ้านนี้เครียดมันเกิดอะไรขึ้นเมื่อถูกน้ำท่วมบ้านเกือบจะถึงชั้นสองอยู่แล้ว ยังไม่มีผู้ใดเข้ามาเหลียวแลเลย จึงจำเป็นต้องมาปิดถนนร้องเรียกความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาทำไม่ไม่ช่วยแก้ไขให้ชาวบ้านกับมาตัดน้ำตัดไฟสร้างความเดือนร้องของชาวบ้าน ทางด้านนายไพศาล กล่ำสนอง ส.อบจ.เขตบางคูวัด พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลที่ได้รวมตัวกันอยู่ที่แนวคันดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านรื้อแนวคันดิน เนื่องจากเขตนี้ได้ป้องกันน้ำไม่ให้เข้าเขตโรงงานและยังมีตำหนักจักรีบงกช ที่ตั้งอยู่ในเขตนี้จึงต้องป้องกันน้ำไว้ให้ได้และจะไม่ให้ใครมาทำลายเด็ดขาด ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net