Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นเรื่องน่าศึกษาว่า เหตุใดในเชิงสังคมจิตวิทยาชาวพุทธจึงนิยมสร้าง “วาทกรรมปกป้องพุทธศาสนา” ด้วยการสร้างจินตนาการภัยพุทธศาสนา และเน้น “ภัยภายนอก” เป็นด้านหลัก เช่น กลัวการครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตก ที่นิยมเรียกกันว่าวัฒนธรรมตอบสนองกิเลส การตกเป็นทาสของวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือไม่ก็เป็นภัยคุกคามจากศาสนาอื่น อันเกิดจากภาพหลอนของ “ประวัติศาสตร์บาดหมาง” ในอดีตที่เน้นภาพความความจริงครึ่งเดียวว่า ศาสนาพุทธสูญไปจากอินเดียเพราะถูกกองทัพมุสลิมฆ่าพระสงฆ์และเผามหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นต้น ยิ่งเมื่อมองผ่านสายตาของ “คณะสงฆ์ไทย” ภัยพุทธศาสนาดูช่างเป็นเรื่องยิบย่อยอย่างเหลือเชื่อ เช่น ในสมัยก่อนคณะสงฆ์มองว่า การที่พระเณรเรียนพิมพ์ดีด ภาษาอังกฤษ ความรู้แบบตะวันตก ถือเป็น “เดรัจฉานวิชา” ที่เป็นข้าศึกต่อพุทธศาสนาเลยทีเดียว ปัจจุบันคณะสงฆ์ก็ดูจะมองว่า การบวชภิกษุณีจะเกิดผลเสียหายมากกว่าจะส่งเสริมความมั่นคงของพุทธศาสนา ที่สำคัญวิธีคิดเกี่ยวกับการขจัดภัย หรือวิธีคิดในการสร้างความมั่นคงของพุทธศาสนาปัจจุบันก็ดูจะเน้นกันสองเรื่องหลักๆ คือ 1) การผูกพันพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐมากขึ้น ดังการเรียกร้องให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย” การเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพุทธศาสนา เป็นต้น 2) การเลียนแบบศาสนาอื่นๆ เช่นเห็นว่าบางศาสนาออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของเขา มีธนาคาร มีศาลเฉพาะของเขา พุทธเราก็อยากจะมีธนาคารพุทธ อยากให้ออกกฎหมายต่างๆ คุ้มครองพุทธศาสนาบ้าง ดังครั้งหนึ่งเคยมีการเรียกร้องแม้กระทั่งว่า ให้ออกกฎหมายเอาผิดคนที่วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ เป็นต้น เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ฟังพระที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์พุทธศาสนาระดับแถวหน้าท่านหนึ่งพูดทางรายการทีวีว่า “ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย ควรจะยกระดับเป็นสังฆราชของโลกด้วยซ้ำ คือเป็นประมุขของชาวพุทธทั่วโลก เหมือนตำแหน่งพระสันตะปาปาที่เป็นประมุขของชาวคริสต์คาธอลิคทั่วโลก” แต่ในความเป็นจริง โดยไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของการจัดองค์กรทางศาสนาว่าแตกต่างกันอย่างไร บารมีแห่งประมุขของศาสนาคริสต์กับพุทธศาสนาแตกต่างกันอย่างไร ว่าเฉพาะ “ภาพลักษณ์” ของประมุขศาสนาก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงแล้ว ภาพลักษณ์ของพระสันตะปาปานั้น คือภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณแบบคริสต์ และมีแนวคิดบางเรื่องที่เป็นสากลที่โลกยอมรับ เช่นแนวคิดเรื่องเรียกร้องสันติภาพโลก เป็นต้น แต่พระสังฆราชไทยทุกพระองค์ไม่มีภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณและความคิดสากลที่สังคมไทยหรือสังคมโลกรู้จักเลย ว่าเฉพาะการไม่มีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ก็ถือว่าแปลกแยกจากพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ แล้ว เช่นประมุขแห่งพุทธศาสนานิกายเซ็นที่เรียกว่า “สังฆปรินายก” นั้น เขามีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างเด่นชัด การสืบทอดตำแหน่งดังกล่าวต้องผ่านการทดสอบในเรื่องการบรรลุธรรม อันเป็นคุณสมบัติจำเป็นของผู้นำทางจิตวิญญาณ ส่วนผู้นำพุทธศาสนาแบบธิเบตหรือสายธรรมวัชรยานนั้น ก็ล้วนแต่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือคุรุทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น อย่างทะไลลามะผู้นำของชาวพุทธธิเบตองค์ปัจจุบัน นอกจากจะมีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างชัดเจนแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเป็นผู้นำเชิงความคิดสากลของพระองค์ก็เด่นชัดอย่างยิ่ง ดังมีผลงานทั้งในรูปข้อเขียน การปาฐกถา บทสนทนากับนักวิทยาศาสตร์และนักคิดระดับโลกเป็นเครื่องยืนยัน และยังมีรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพการันตีอีกด้วย การที่ประมุขของพุทธศาสนาต้องมีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนั้น ถือว่าสอดคล้องกับยุคพุทธกาล ในยุคนั้นพระพุทธเจ้าคือศาสดาผู้นำทางจิตวิญญาณ ก่อนปรินิพพานแม้พระองค์จะไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นศาสดาแทน แต่เป็นที่รู้กันว่าประมุขสงฆ์ในระยะต่อมาต่างมีภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นจุดเด่น ดังในการสังคายนาครั้งต่างๆ ประธานสงฆ์ในการทำสังคายนา (แม้ไม่ใช่ตำแหน่งอย่างประมุขสงฆ์ในปัจจุบัน) ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ หรือคณะสงฆ์ที่ร่วมทำสังคายนาก็เป็นพระอรหันต์ด้วย บางคนอาจถามว่าก็ในเมื่อปัจจุบันเราไม่รู้ว่ามีพระอรหันต์หรือไม่ จะทำอย่างไร คำตอบที่น่าจะเป็นคือแม้เราไม่รู้ว่ามีพระอรหันต์ แต่ว่าระบบของสงฆ์ในพุทธศาสนาก็ควรเดินตามรอยพระอรหันต์ คือเดินตามรอยของผู้นำทางจิตวิญญาณ อย่างเช่นการมีประมุขสงฆ์ หรือผู้นำของชาวพุทธที่มีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแบบพุทธศาสนานิกายเซ็น และวัชรยาน เป็นต้น แต่ทว่าพุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบไทยนั้น ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถูกแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบบเช่นนี้พระมหากษัตริย์ดูจะมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเสียมากกว่า เพราะนอกจากพระมหากษัตริย์จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินแล้ว ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ คือ “ธรรมราชา” หรือ “พระโพธิสัตว์” ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต การทำหน้าที่ปกครองจึงเป็นการบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าถึง “พุทธภูมิ” ถ้าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเคารพเชื่อฟังก็เท่ากับมีส่วนในการบำเพ็ญบารมีนั้นด้วย บุญกุศลก็จะตกแก่ตนให้มีความสุขความเจริญในชาตินี้ และชาติหน้าก็จะได้เกิดมาพบพุทธศาสนา หรือได้ฟังธรรมจากปากพระพุทธเจ้าและเข้าสู่พระนิพพาน โดยสถานะเช่นนั้นของพระมหากษัตริย์ ระบบพระราชาคณะ ก็คือระบบที่ขึ้นตรงต่ออำนาจของพระราชา มีบทบาทสนับสนุนสถานะความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพระราชา และนโยบายการปกครองของพระราชาเป็นด้านหลัก ดังผลงานการวางระบบการศึกษาที่เน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ร่วมกับรัชกาลที่ 6 เป็นต้น สถานะของสมเด็จพระสังฆราชไทยบางพระองค์อาจมีภาพลักษณ์ความเป็นปราชญ์อยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏว่า มีพระองค์ใดโดดเด่นในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ โดยเพาะสมเด็จพระราชาคณะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมทุกยุคสมัยนั้น สังคมแทบจะไม่รู้จักผลงานทางปัญญา และบทบาทความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของท่านเหล่านั้นเลย ที่ว่ามานี้ ผมต้องการชวนให้คิดว่า หากการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพุทธศาสนา หมายถึงการส่งเสริมวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ และโดยวิถีชีวิตเช่นนั้นจะทำให้ชาวพุทธเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งปัญญาและกรุณาในการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม และการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างมีภราดรภาพ เพื่อสร้างโลกนี้ให้มีสันติภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วระบบองค์กรหรือสถาบันทางพุทธศาสนาที่เป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่สนับสนุน หรือขัดแย้งกับความหมายดังกล่าวของการดำรงอยู่ของพุทธศาสนา หากภายใต้ระบบดังกล่าว มิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาไม่เหลืออยู่ หรือไม่สามารถพัฒนามิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเข้ามาสู่วิถีชีวิตคนโดยเป็นโลกทัศน์ หลักคิด รากฐานทางจริยธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่อยู่กันด้วยปัญญาและกรุณา เคารพความเป็นธรรม เสรีภาพ และความเท่าเทียม ก็หมายความว่า ภัยพุทธศาสนาที่แท้จริง ก็คือระบบสถาบันทางพุทธศาสนาที่ขาดมิติทางจิตวิญญาณและการเข้าใจโลกร่วมสมัยนั่นเอง จินตนาการประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก หรือตำแหน่งพระสังฆราชไทยคือสังฆราชโลกนั้นอาจเกิดจากเจตนาดี แต่ก็ไร้ประโยชน์ หากพุทธศาสนาในประเทศนี้ไม่สามารถสร้างภาวะผู้นำทางจิตวิญญาณ และไม่สามารถเชื่อมมิติทางจิตวิญญาณกับมิติทางสังคมอย่างเกื้อกูลแก่กันได้ ว่าตามจริง ภัยพุทธศาสนาจากภายนอกก็ไม่มีวันทำอะไรได้ หากภายในของเราเองไม่ตกอยู่ในสภาพ “กลวงเปล่า” จริงๆ ฉะนั้น แทนที่จะเน้นการสร้างวาทกรรมปกป้องพุทธศาสนา ด้วยการเขียนภาพภัยพุทธศาสนาจากภายนอกให้น่ากลัวเกินจริง ควรหันมาสำรวจว่า เรากำลังตกอยู่ใน “กับดักของการหลอกตัวเอง” หรือไม่ และควรปรับปรุงระบบต่างๆ ของเราอย่างไรเพื่อให้พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net