Skip to main content
sharethis

เสวนา "ปรีดี พนมยงค์กับรัฐประหาร" ที่ธรรมศาสตร์ "พนัส ทัศนียานนท์" ชี้ 2475 คืออภิวัฒน์ เอา 19 กันยาและรัฐประหารอื่นๆ มาเทียบไม่ได้ "โภคิน พลกุล" ถามหากยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วการยึดอำนาจที่เอาอำนาจประชาชนมาไว้ที่ตัวเอง จะชอบได้อย่างไร พร้อมถามถ้าการยึดอำนาจชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำไมต้องเขียนกฎหมายกำกับอีกชั้น

(9 ต.ค.54) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์จัดเสวนาหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์กับรัฐประหาร" ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. กล่าว ว่า รัฐประหารมีสองความหมาย หนึ่งคือ แบบที่เป็นการอภิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนไปสู่ระบอบที่ดีกว่า สอง ความหมายในทางลบคือ มีลักษณะปฏิกิริยา หรือพวกโต้อภิวัฒน์ คือพวกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มีการใช้อำนาจทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจ 8 พ.ย. 2490 ดังนั้น จะพบว่า การเปลี่ยนแปลง 2475 เทียบกับ 19 ก.ย.2549 ไม่ได้เลย แม้จะเทียบว่าเป็นรัฐประหารเหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลง 2475 ก็เป็นแบบอภิวัฒน์ ขณะที่รัฐประหารครั้งอื่นๆ นั้นเป็นแบบต่อต้านประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติ ราษฎร์ พนัสมองว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในซีกตุลาการ โดยยังยืนยันว่าคณะรัฐประหารชนะแล้ว ยึดได้แล้ว คณะรัฐประหารก็จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ส่วนที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้นำคนที่ทำรัฐประหารมาลงโทษนั้น นอกจากคำถามว่าแล้วใครจะเอากระดิ่งไปผูกคอแมวแล้ว ยังมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากสืบสวนออกมาแล้วปรากฏว่า คมช.ผิดจริง คนเหล่านี้จะยอมหรือไม่ เพราะความผิดฐานกบฎนั้นมีโทษถึงประหารชีวิต

พนัสกล่าวว่า หากจะแก้เรื่องนี้ในบริบทของสังคมไทย ก็ต้องอภิวัฒน์กันต่อไป โดยอาจเป็นการอภิวัฒน์มุมกลับให้กับทางฝ่ายตุลาการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่กีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทำความเห็นแย้ง กรณียงยุทธ ติยะไพรัชถูกดำเนินคดี โดยปฏิเสธหลักรัฎฐาธิปัตย์ว่าใช้ไม่ได้ เพราะเป็นความผิดฐานกบฎ ผลพวงของการกบฎจะนำมาอ้างไม่ได้ ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีทั้งหลายต่อยงยุทธนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พนัส กล่าวเสริมว่า ดังนั้น หากมีการเสนอกรณีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลพิจารณาว่าขัดมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารก็จะมีผิดฐานกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา และเกิดผลตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอ อย่างไรก็ตาม พนัสมองว่า โดยสภาวะจิตใจของตุลาการแล้ว พวกเขาคงมีความรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดคำถามว่าที่ผ่านๆ มาจะเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ ต้องรื้อใหม่หรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่นักนิติศาสตร์กระแสหลักถูกบ่มเพาะมา

เขากล่าวว่า สิ่งที่นิติราษฎร์โยนมา คนที่ต้องรับเต็มๆ คือรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าแล้วรัฐบาลกล้าทำตรงนี้หรือไม่ ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการทำเพื่อทักษิณนั้น เขาถามว่า การไม่ให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นเป็นการทำเพื่อคนๆ เดียวหรือ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการทำเพื่อหลักการประชาธิปไตย ที่อย่างน้อยก็เลวน้อยที่สุด

 

 

โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเป็นที่ยอมรับกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถามว่าการยึดอำนาจใดๆ ก็ตามที่เอาอำนาจประชาชนมาไว้ที่ตัวเอง แล้วออกคำสั่งต่างๆ จะชอบได้อย่างไร นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเขียนกฎหมายรองรับความผิดของคณะรัฐประหาร โดยยกตัวอย่างมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเขียนว่าให้ถือว่าการนิรโทษกรรมในธรรมนูญการปกครอง 2549 นั้นชอบ

โดย โภคินตั้งคำถามว่าถ้าเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำไมต้องเขียนว่าสิ่งที่ทำไปให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ถ้าสิ่งที่ถูกอยู่แล้วต้องบอกอีกหรือว่าถูก เพราะสิ่งที่ถูกคือถูก ไม่ถูกคือไม่ถูก ดังนั้นที่เขียนนิรโทษกรรมทั้งหลายเพราะหวาดเสียว แต่บังเอิญชนะ เลยไม่มีใครทำอะไรได้

ต่อคำถามว่าข้อเสนอของนิติ ราษฎร์ที่ให้การรัฐประหาร 49 เป็นโมฆะทำได้หรือไม่ โภคินตอบว่าเป็นแนวคิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าที่อื่นเขาไม่ทำ แต่ก่อนอื่นต้องตอบก่อนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นชอบหรือไม่ หากเป็นเรื่องไม่ชอบ เหตุใดจะบอกว่ามันเป็นโมฆะไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ขนาดการประกาศของเสรีไทยให้คำประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประกาศเช่นนี้ ซึ่งทำให้ผลที่เกิดจากการร่วมกับญี่ปุ่นล้วนเป็นโมฆะหมด

โภคินกล่าว เสริมว่า ประชาชนต้องได้รับการกระตุ้นให้ต่อต้านรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิประชาชนต้านรัฐประหารด้วยสันติวิธีไว้ แต่ประเด็นคือเมื่อยึดอำนาจแล้ว รัฐธรรมนูญตรงนี้ไม่มี และคนที่จะชี้ขาดคือศาล ถ้าศาลชี้ขาดว่าการยึดอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทุกอย่างจบ

เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนกล้าแสดงออกมากขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ศาลกล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วประชาชนจะปกป้องท่านเอง ทั้งนี้ เขามองว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจจะไกลไปนิดนึงเลยถูกโต้แย้ง โดยชี้ว่าหากศาลวินิจฉัยว่าการรัฐประหารเพื่อล้มประชาธิปไตย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลของสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ มันจบในตัวมันเอง

 

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว ว่า ส่วนตัวมองว่า 70 กว่าปีของระบอบประชาธิปไตยไทย มีเพียงการเปลี่ยนแปลง 2475 กับ 14 ต.ค.16 เท่านั้นที่เป็น revolution นอกเหนือจากนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ใช้กำลังทหารซึ่งคือรัฐ ประหาร ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่าคณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูปก็ตาม และเป็นสิ่งที่ถอยหลังเข้าคลอง

อนุสรณ์เสนอว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องทำคือ การป้องปรามไม่ให้เกิดรัฐประหารในอนาคต และลบล้างผลพวงของรัฐประหารครั้งล่าสุด (19 ก.ย.49) ในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักยุติธรรม พร้อมระบุว่าเขาสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะจะทำให้คณะรัฐประหารในอนาคตต้องคิดว่าหากทำจะมีความเสี่ยงไม่ได้นิรโทษ กรรม และถูกลงโทษในฐานะกบฎต่อประชาธิปไตยของประชาชน

เขาเสนอด้วยว่า ควรมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ทำรัฐ ประหาร นอกจากนี้ ต้องให้ระบบยุติธรรมไทยไม่ยอมรับรัฐประหาร โดยชี้ว่าที่ผ่านมา รัฐประหารสำเร็จได้เพราะมีการยอมรับคำสั่งและการดำเนินการของคณะรัฐประหาร ว่าถูกต้องตามกฎหมาย

"รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 สำเร็จได้โดยการยึดอำนาจด้วยอาวุธ และสำทับด้วยการใช้อำนาจตุลาการสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารทั้งโดยตรงและ โดยอ้อม"

อนุสรณ์เสนอเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น จะต้องตัดเงื่อนไขของคณะรัฐประหาร ซึ่งคือการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย โดยอธิบายว่าไม่ได้แปลว่ารัฐบาลรัฐประหารไม่ทุจริต แต่อาจควบคุมสื่อได้ดีกว่า ข่าวเลยเงียบ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ยังมีฝ่ายค้าน มีระบบตรวจสอบ แต่ระบบเผด็จการไม่มี

สำหรับคำถามว่ากระบวนการปรองดองจะป้องกัน ปฏิวัติได้ไหม อนุสรณ์ระบุว่า ได้ในระดับหนึ่ง โดยมองว่าความขัดแย้งนั้นมีสองระดับ หนึ่ง คือ ระดับคณะบุคคล โดยชนชั้นนำลากเอามวลชนเข้ามาสู้กัน โดยสร้างวาทกรรมขึ้น และสอง คือ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ปรองดองกันไม่ได้ และจะปรองดองได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้ได้รับความเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net