Skip to main content
sharethis

มอเตอร์ไซค์กว่า 20 คันจอดเรียงรายข้างถนนสายละงู–ทุ่งหว้า ข้างทางเต็มไปด้วยรอยแผลของภูผา ชายสวมแว่นหนาก้มหยิบก้อนหินก้อนแล้วก้อนเล่าขึ้นมา สังเกตหาอะไรบางอย่าง “ถ้าสังเกตให้ดีหินแต่ละก้อนจะมีฟอสซิล” เขาบอกกับพวกเด็กๆ กว่า 40 คน ที่ห้อมล้อม “ฟอสซิลคืออะไร ใครรู้บ้าง?” เขาถามเด็กพวกนั้น แต่กลับถูกย้อนถามเสียเอง “แล้วมันคืออะไรกันละครับครู พวกเราอยากรู้” นั่นเป็นภาพบรรยากาศการเรียนการสอนนอกห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และชีววิทยา ชั้นมัธยมปลายของครูนก ชายสวมแว่นหนาคนนั้น ครูนก คือ “นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ” เป็นอาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล วิธีการนำเด็กนักเรียนออกไปตามเหมืองหิน บ่อดินที่ถูกขุดตักดินออกไปแล้ว เป็นวิธีการที่ครูนกใช้บ่อย พร้อมกับเก็บตัวอย่างหินฟอสซิลที่ได้กลับไปด้วย เพราะนั่นคือสมบัติล้ำค่าที่ทำให้ครูนกรู้สึกเสียดาย หากปล่อยให้ถูกทำลายไป ทั้งจากการระเบิดหิน การปรับไถหน้าดิน ครูนกบอกว่า เพราะสอนนักเรียนด้วยวิธีการนี้ จึงเกิดความคิดที่จะใช้พื้นที่ใต้ถุนอาคารเรียน เป็นที่รวบรวมหินฟอสซิลพวกนั้นไว้ และเริ่มเก็บก้อนหินที่ไม่มีใครเห็นค่ามารวบรวมไว้มาเกือบ 10 ปีที่แล้ว ต่อมา ห้องใต้ถุนอาคารแห่งนี้ก็วิวัฒนาการเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ตามศักยภาพที่โรงเรียนพอจะมีกำลังทำได้ กลางห้องมีตู้กระจกแสดงหินฟอสซิล และกองหินหลายขนาด มีป้ายข้อความระบุประเภทของหินยุคต่างๆ ไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีเปลือกหอย สัตว์เลื้อยคลานที่ถูกสต้าฟไว้ในขวดโหล รวมถึงกระดูกสัตว์และชิ้นส่วนของใช้ของมนุษย์โบราณที่พบในถ้ำในพื้นที่จังหวัดสตูล ครูนก อธิบายว่า จุดประสงค์ของการตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพื่อให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาแก่นักเรียน ให้รู้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เกิดวิวัฒนาการของชนิดพันธุ์ใหม่ๆ จึงมีการกำหนดเป็นยุคทางธรณีกาล เพื่อแสดงให้เห็นการคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลงกับแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดสตูล ฟอสซิล ซากชีวิตดึกดำบรรพ์ ในสารานุกรมเสรี เว็บไซด์ http://th.wikipedia.org/ อธิบายความคำว่า ฟอสซิล (fossil) หรือ ซากดึกดำบรรพ์ หรือบรรพชีวินว่า เดิมฟอสซิลมีความหมายว่า เป็นของแปลกที่ขุดขึ้นมาได้จากพื้นดิน ปัจจุบัน คำว่าฟอสซิล ถูกนำมาใช้ในความหมายของซาก หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่ถูกแปรสภาพด้วยกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ และถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน โดยอาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่างๆของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ครูนกอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกว่า ฟอสซิลคือซากดึกดำบรรพ์ เป็นซากของสิ่งมีชีวิตในอดีตกาลที่ตายทับถมจนกลายเป็นหิน รวมถึงร่องรอยการดำรงชีวิตที่ประทับอยู่ในชั้นหิน “เป็นการทับถมของซากสัตว์ทะเลโบราณ แล้วจมลงสู่ท้องทะเล เมื่อเนื้อของสิ่งมีชีวิตย่อยสลาย แร่ธาตุที่ในอยู่ตะกอนแทรกเข้าไปแทนที่ ผ่านกาลเวลานาน ชั้นหินที่มีฟอสซิลก็ถูกดันขึ้นมา ก่อนจะถูกกัดกร่อนจนปรากฏฟอสซิลออกมาให้เห็น” ครูนกอธิบาย พิพิธภัณฑ์ธรณี หนึ่งเดียวในละงู ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาหนึ่งเดียวในอำเภอละงูแห่งนี้ ยังมีการติดภาพโปสเตอร์ต่างๆ ไว้รอบห้อง หนึ่งในนั้นคือโปสเตอร์แสดงยุคธรณีกาล ตามที่นักธรณีวิทยาของโลกใช้อธิบายความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตของประวัติของโลก ยุคธรณีกาล (ดูตารางยุคธรณีกาล) ตามความหมายทางธรณีวิทยา เป็นชื่อเรียกของระยะช่วงเวลา แบ่งเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ และมีการกำหนดสีมาตรฐานของเวลาทางธรณีวิทยาที่ห้วงเวลาต่างๆ วิธีการหาเวลาในอดีตโดยการวัดการสลายของกัมมันตภาพรังสี (radiometric dating) พบว่าโลกมีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี ดังนั้น กองหินกลางพื้นห้อง จึงถูกจัดวางเรียงไว้ให้ตรงตามยุคต่างๆ เริ่มจากแถบป้ายสีแดงคือยุคแคมเบรียน ซึ่งครูนกบอกว่า เป็นหินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งต่อมามีการตั้งชื่อหินที่พบนี้ว่า “กลุ่มหินตะรุเตา” มีอายุในช่วง 543–510 ล้านปีที่แล้ว ตามด้วยหินในแถบสีส้มคือ หินยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น ชมพูคือ หินยุคออร์โดวิเชียนตอนกลาง เหลืองคือหินปลายยุคออร์โดวิเชียน เขียวอ่อนคือ หินยุคไซลูเรียน ฟ้าคือหินยุคดีโวเนียน และปิดท้ายด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส จากนั้นครูไล่สาธยายถึงก้อนหินที่เรียงรายอยู่ ถึงความสำคัญและลักษณะการเกิดขึ้นของหินแต่ละยุค ที่สำคัญครูนกบอกว่า หินทุกยุคปรากฏฟอสซิลชนิดต่างๆ แทรกอยู่ด้วย พร้อมกับยกตัวอย่างฟอสซิลที่พบในอำเภอละงู เช่น ฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ หอยโข่งทะเลโบราณ หอยตะเกียง ปลาหมึกทะเลโบราณ เป็นต้น ครูนกบอกว่า “อำเภอละงู มีความหลากหลายทางธรณีวิทยามากกว่า Geo Park บนเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซีย มียุคทางธรณีครบทุกยุคในมหายุคพาลีโอโซอิก ในพื้นที่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร อาจเรียกได้ว่า เป็นแหล่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้” ความสำคัญและความหลากหลายดังกล่าว ยืนยันได้จากรายงานวิจัยโครงการแผนที่ภูมิทัศน์ภาคใต้ : ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม เกี่ยวกับธรณีวิทยาในภาคใต้เมื่อปี 2544 ที่มีศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ มหายุคหินเก่าแก่ในสตูล งานวิจัยชิ้นนี้ เขียนถึงหินตะกอนในจังหวัดสตูลว่า ในมหายุคพาลิโอโซอิก (590–245 ล้านปีที่แล้ว) (ดูตารางธรณีกาล) มีหินที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ที่ซอยย่อยลงไป ตั้งแต่ยุคแคมเบรียน, ออร์โดวิเชียน, ไซลูเรียน, ดีโวเนียน, คาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน รวม 6 ยุค หินยุคแคมเบรียน (543–510 ล้านปีที่แล้ว) เป็นหินตะกอนอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พบบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวพันเตมะละกา บนเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นหินตะกอนทรายสีแดง ต่อมามีการตั้งชื่อหินที่พบนี้ว่า “กลุ่มหินตะรุเตา” หินยุคนี้ เกิดจากตะกอนทรายมาทับถม โดยมีการคัดขนาดตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบจังหวัดสตูลเคยเป็นทะเลลึกมาก่อน จากนั้นเป็นชายหาดน้ำตื้นและชายหาดตามลำดับ เห็นได้จากการพบฟอสซิลสัตว์ทะเลในหินยุคนี้จำนวนมาก หินยุคออร์โดวิเชียน (510–439 ล้านปี) พบใน “กลุ่มหินทุ่งสง” เป็นหินคาร์บอเนต จำแนกตามลักษณะเนื้อหินได้เป็น 7 หมวดหิน พบที่เกาะตะรุเตา 6 หมวดหิน อีก 1 หมวดหิน พบบริเวณรอยต่ออำเภอละงูกับอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ฟอสซิลสำคัญที่พบในหินยุคนี้คือ นอติลอยด์ (ปลาหมึกทะเลโบราณ) จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ลำตัวอ่อนเช่นเดียวกับหอย แต่ต่อมาได้พัฒนาส่วนหัวและเปลือกหุ้มลำตัวแกนยาว ลำตัวตรงมีห้องอับเฉา คล้ายหอยงวงช้าง ใช้ในการพุ่งตัวว่ายน้ำ ส่วนหินแต่ละหมวดที่พบฟอสซิลต่างๆ ดังนี้ หมวดหินมะละกา มีอยู่ที่อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกสาหร่าย มีรูหนอนวางตัวในแนวตั้งมาก และมีซาก “ลิ่นทะเลหรือหอยแปดเกล็ด” หมวดหินตะโล๊ะดัง พบที่อ่าวตะโล๊ะดัง ตอนใต้ของเกาะตะรุเตา มีฟอสซิลและรูหนอนวางตัวในแนวนอน หมวดหินลาง่า พบที่อ่าวลาง่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา มีร่องรอยฟอสซิลสิ่งมีชีวิตอยู่หนาแน่น มีรูหนอน รูปตัว “U” อยู่ทั่วไป เป็นต้น หมวดหินปาหนัน ตั้งตามชื่อเกาะปาหนัน ทางใต้ของเกาะตะรุเตา พบซากฟองน้ำขนาดเล็ก หมวดหินแลตอง ปรากฏชัดเจนที่เกาะแลตอง (เกาะเบลิตุงเบซา) ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกหอยฝาเดียว หอยสองฝา แมงดาทะเลโบราณ (ไทรโลไบต์) และปลาหมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์) จำนวนมาก หมวดหินรังนก พบที่เกาะรังนก ทางใต้ของเกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกฟองน้ำ ไครนอยด์ ไบรโอซัว แมงดาทะเลโบราณ ปะการัง และนอติลอยด์ หมวดหินป่าแก่ พบที่บ้านป่าแก่บ่อหิน ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นหินปูนที่ก่อตัวจากสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ หินยุคไซลูเรียน (439–409 ล้านปี) หินยุคไซลูเรียนที่พบในจังหวัดสตูล อยู่ในกลุ่มหินทองผาภูมิ แบ่งออกได้ 3 หมวดหิน ได้แก่ หมวดหินวังตง หมวดหินควนทัง และหมวดหินป่าเสม็ด เป็นหินโคลน ลักษณะเกิดจากการทับถมในแอ่งตะกอน ฟอสซิลที่พบมากในหินยุคนี้คือ แกรปโตไลต์ แมงดาทะเลโบราณ แอมโมไนต์ (ปลาหมึกที่รูปร่างเหมือนหอย) ขนาดเล็กแทรกเป็นรอยพิมพ์จางๆ อยู่ในหินโคลน บอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณี เช่น ชั้นหินโดนอัดดัน เกิดการยกตัว ถมตัวของชั้นหิน หินยุคดีโวเนียน (409–363 ล้านปี) ตรงรอยต่อระหว่างยุคไซลูเรียนกับยุคดีโวเนียน มีหมวดหินควนทัง อยู่ในยุคดีโวเนียนตอนกลาง พบฟอสซิลไทรโลไบต์หลายชนิด หินยุคคาร์บอนิเฟอรัส (363–290 ล้านปี) มีหมวดหินป่าเสม็ด พบที่บ้านป่าเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู พบซากแอมโมไนต์หลายชั้น และแบรคิโอพอด หรือหอยตะเกียง หมวดหินควนกลาง พบที่ควนกลาง ตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พบฟอสซิลหอยสองฝา โพซิโดโนเมีย และส่วนหางของฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ ส่วนหินยุคเพอร์เมียน (290–245 ล้านปี) รายงานฉบับวิจัยนี้ไม่ได้ระบุถึงหินในยุคนี้ในจังหวัดสตูลอย่างชัดเจนนัก เพียงระบุว่าเป็นหินอายุผสมระหว่างคาร์บอนิเฟอรัส – เพอร์เมียน ได้แก่ กลุ่มหินแก่งกระจาน พบแผ่กระจายจากภาคเหนือต่อไปถึงมาเลเซีย หลังสิ้นมหายุคพาลิโอโซอิก ก็เริ่มเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้สัตว์ที่มีชีวิตในมหายุคนี้สูญพันธุ์ครั้งใหญ่แบบล้างโลก ซึ่งรุนแรงกว่ายุคที่ไดโนเสาร์ (ยุคจูแรสซิก 206–144 ล้านปี) สูญพันธุ์เสียอีก 7 ฟอสซิลชื่อดังพบในละงู ย้อนกลับมาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ครูนก เล่าถึงฟอสซิลแต่ละชิ้นที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นชิ้นเด่นๆ ที่พบในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในอำเภอละงู ไทรโลไบท์ หรือฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ (ภาพจาก www.krunok.net) เริ่มจากไทรโลไบท์ หรือฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ ครูนกกับนักเรียนที่นี่ได้สำรวจพบครั้งแรก เมื่อปี 2547 บริเวณบ้านวังตง ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์ ขาดวิ่นจากหินที่กลิ้งตกลงมาจากภูเขา ต่อมาปี 2549 นายอิงยุทธ สะอา ประธานชุมนุมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ซึ่งขณะนั้นไปฝึกงาน และเก็บข้อมูลนกที่เกาะตะรุเตา ได้สำรวจพบไทรโลไบท์ที่นั่น อยู่ตรงรอยสัมผัสของชั้นหินยุคออร์โดวิเชี่ยน และยุคแคมเบรียน ครูนกให้ข้อมูลด้วยว่า ไทรโลไบต์ เป็นฟอสซิลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวด้านบน มีกระดองหุ้มลำตัวด้านล่างและขาเดิน ต่อมาวิวัฒนาการเป็นแมงป่องทะเลโบราณ กุ้ง กั้งและปู พร้อมเสริมด้วยว่า ไทรโลไบต์ มีชีวิตตั้งแต่ยุคพรีแคมเบรียน จนกระทั่งเกือบสูญพันธุ์ไปในยุคเพอร์เมียน แต่ฟอสซิลไทรโลไบท์ที่พบในจังหวัดสตูล ส่วนใหญ่พบในหินปูนยุคออร์โดวิเชี่ยน อายุประมาณ 443 – 495 ล้านปี สาหร่ายสโตรมาไตไลท์ เป็นแบคทีเรียที่สังเคราะห์แสงได้ คล้ายสาหร่าย ปัจจุบันเหลืออยู่ที่เดียวในโลกที่อ่าวชาร์ก ทางภาคตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย สาหร่ายสโตรมาไตไลท์ มีความสำคัญต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคือ เป็นตัวจัดหาออกซิเจนให้แก่สิ่งมีชีวิตแรกเริ่มในยุคพรีแคมเบรียน โดยยุคก่อนหน้านั้นไม่มีออกซิเจนอิสระอยู่เลย และทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในที่สุด เมื่อปี 2548 นายอบีดีน งะสมัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนกำแพงวิทยา ค้นพบแหล่งศึกษาสโตรมาโตไลต์ที่บ้านท่าแร่ ตำบลกำแพง อำเภอละงู มีลักษณะคล้ายจอมปลวกสีแดง มีชาวบ้านมาผูกผ้ามาสักการะ เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ปัจจุบันแหล่งศึกษาสโตรมาโตไลต์ที่บ้านท่าแร่ กรมทรัพยากรธรณี กำหนดเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งอุทยานธรณีละงู–ทุ่งหว้า–ตะรุเตา นอติลอยด์ (ภาพจาก www.krunok.net) นอติลอยด์ หรือ ฟอสซิลปลาหมึกทะเลโบราณ ต้นตระกูลของปลาหมึกทะเลโบราณ มีลำตัวอ่อนนิ่ม แต่ได้พัฒนาส่วนหัวให้มีเปลือกหุ้มลำตัว โผล่แต่ส่วนหนวดออกมา ภายในส่วนท้ายของลำตัวเป็นห้องอับเฉาโดยมีท่อสูบฉีดน้ำ ช่วยควบคุมการดันน้ำเข้า เหมือนเรือดำน้ำ เมื่อนอติลอยด์ต้องการลอยตัว ก็จะดูดน้ำออกจากห้องอับเฉา เพื่อลดความหนาแน่นภายในลำตัว ทำให้ลอยตัว และจะใช้วิธีอัดน้ำเข้าไปในช่องว่าง เพื่อเพิ่มความหนาแน่นภายในลำตัว ก็จะทำให้จมตัวลง เหมือนกับหอยงวงช้าง (Nautilus) ซึ่งเป็นแขนงของนอติลอยด์ ส่วนปลาหมึกปัจจุบัน วิวัฒนาการมาโดยไม่มีเปลือกหุ้มลำตัว เมื่อปี 2546 ครูนกและนักเรียน ได้สำรวจพบฟอสซิลนอติลอยด์ตัวแรก ในเขตที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอละงู ถัดมาอีกปี ก็ได้สำรวจพบนอติลอยด์จำนวนมากที่เขาแดง ตำบลกำแพง อำเภอละงู พบว่ามีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ได้แก่ รูปร่างของกรวยเปลือก ลักษณะท่อส่งน้ำ (siphuncle) ห้องอับเฉา (septum) นอกจากนี้ ยังพบแพร่กระจายในชั้นหินทั่วไปในอำเภอละงู แอมโมนอยด์ หรือฟอสซิลปลาหมึกทะเลโบราณคล้ายหอย เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการต่อมาจากปลาหมึกทะเลโบราณ ซึ่งวิวัฒนาการเปลือกแตกแขนงเป็น 2 แบบ คือลดการมีเปลือกจนเป็นหมึกปัจจุบัน และสร้างเปลือกคล้ายหอยให้ม้วนงอเป็นวง จนมีรูปร่างเหมือนหอย ซึ่งวิวัฒนาการในแบบที่ 2 เรียกว่า แอมโมนอยด์ แต่ภายในยังคงสภาพการมีห้องอับเฉา และมีการสูบฉีดน้ำ ช่วยควบคุมความดันน้ำใช้ในการเคลื่อนที่ ปัจจุบันคือ หอยงวงช้าง เมื่อปี 2548 ครูนกและนักเรียนได้สำรวจเจอแอมโมนอยด์ ที่เขาบ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู เมื่อนำมาเปรียบเทียบลวดลายและชั้นหินที่พบฟอสซิล สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในยุคดีโวเนียน อายุประมาณ 354–417 ล้านปี นอกจากนี้ยังสำรวจพบบริเวณเขาหินปูนบางแห่งในอำเภอละงู แต่สันนิษฐานว่า อยู่ในยุคออร์โดวิเชี่ยน อายุประมาณ 443–495 ล้านปี เนื่องจากพบความต่างทางสปีชีส์ โดยเฉพาะลวดลายของเปลือกซ้อนทับภายใน รวมถึงความยาวบริเวณหัวที่แตกต่างกัน มากูไลต์ หรือ ฟอสซิลหอยโข่งทะเลโบราณ เป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม แต่มีเปลือกเป็นหินปูนหุ้มปกคลุมร่างกาย อยู่ในกลุ่มหอยกาบเดี่ยว มีการเจริญเติบโตแบบบิดลำตัวเป็นเกลียว (Torsion) ทำให้เกิดลักษณะเปลือกแบบเป็นวงเกลียวออกมาเรื่อยๆ ตามอายุ รูปร่างหน้าตาของหอยกลุ่มมีลักษณะคล้ายหอยโข่ง ครูนก และนักเรียน พบมากูไลต์ครั้งแรก เมื่อปี 2546 ที่เขาโต๊ะหงาย ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ต่อมาได้สำรวจเจอตามภูเขาหินปูนทั่วไปในอำเภอละงู มักพบปะปนอยู่กับสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ อาจเป็นเพราะเป็นแหล่งอาหาร หรือตายแล้วถูกคลื่นซัดมาติด พบเป็นหินปูนสีแดง และหินปูนสีเทาดำ มากูไลต์ มีชีวิตตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน อายุ 488–443 ล้านปีและได้สูญพันธุ์จนหมดในยุคนั้นเช่นกัน แบรคิโอพอด หรือ ฟอสซิลหอยตะเกียง มีลักษณะคล้ายหอยกาบคู่ โดยมีส่วนของรยางค์ที่ติดกับฝาประกบทั้งสองของเปลือก ยื่นออกมายึดติดกับเลนโคลนใต้ทะเล สามารถยืดหดเพื่อหลบหนีภัยได้ และกินอาหารโดยใช้ตะแกรงกรองอาหาร มีเปลือกที่สมมาตรด้านข้าง การแพร่กระจายสายพันธุ์ของหอยตะเกียงมีอายุยาวนาน ตั้งแต่ยุคโบราณถึงปัจจุบัน และแต่ละยุคนั้นมีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก สังเกตได้จากรูปร่างเปลือกภายนอกได้ง่าย จึงใช้เป็นดัชนีวัดอายุของชั้นหินได้ เมื่อปี 2546 ครูนกและนักเรียนพบฟอสซิลหอยตะเกียงเป็นครั้งแรก ที่ภูเขาในเขตที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นฟอสซิลที่ตรงกับยุคออร์โดวิเชี่ยน ต่อมานายสุธา โอมณี นักเรียนชั้น ม.5/1 โรงเรียนกำแพงวิทยา พบฟอสซิลหอยตะเกียงแหล่งใหญ่ที่บ้านตะโล๊ะใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นการค้นพบดัชนีเปรียบเทียบชั้นหินกับหลายๆแหล่งในอำเภอละงู แกรปโตไลท์ หรือสัตว์ทะเลขนาดเล็กกึ่งมีกระดูกสันหลัง เป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) ดำรงชีพโดยการลอยอยู่ในน้ำทะเลและกรองกินแพลงก์ตอนด้วยขนเล็กโบกพัดให้อาหารเข้าสู่ปาก ลำตัวของแกรปโตไลท์แต่ละตัว อยู่ในปลอกท่อสั้นๆ และเชื่อมติดเป็นแกนยาว มีทุ่นช่วยในการลอยตัวใกล้ผิวน้ำ พบแกรปโตไลต์ 6 ชนิด อยู่ในยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย ถึงยุคไซลูเรียนตอนต้น ที่อำเภอละงู ซึ่งแหล่งที่พบบางแห่งเป็นบ่อดินที่ถูกขุดตักไปถมที่ บางแหล่งอยู่ริมถนนสายละงู–ทุ่งหว้า ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการขยายเป็นสี่เลน แหล่งค้นพบฟอสซิลในสตูล เกาะเขาใหญ่ ครูนก สรุปพื้นที่ที่ค้นพบฟอสซิลสำคัญๆ ในจังหวัดสตูล ดังนี้ บริเวณเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นแบบฉบับกลุ่มหินตะรุเตา ในยุคแคมเบรียน พบไทรโลไบท์ (Trilobite) ชนิด Eosaukia Buravasi อายุยุคแคมเบรียนตอนปลาย ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ใหม่ของโลก ที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย ยุคออร์โดวิเชี่ยน ที่มีกลุ่มหินทุ่งสง ที่แยกย่อยเป็นหมวดหินมะละ หมวดหินปาหนัน หมวดหินลาง่า หมวดหินรังนก หมวดหินตะโล๊ะดัง หมวดหินแลตอง ตามชื่อ และสถานที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณเขาโต๊ะหงาย ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา สำรวจพบฟอสซิลหินร่องรอยของหอยตะเกียง มีอายุใกล้เคียงกันกับบริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณเกาะเขาใหญ่ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พบฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลนอติลอยด์สกุลใหม่ของโลก มีรอยระแหงโคนถี่ยิบ มีลักษณะหินเช่นเดียวกับเกาะตะรุเตา–เภตรา บริเวณเกาะลิดี ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีฟอสซิลมากูไลต์(หอยโข่งทะเลโบราณ) สภาพไม่สมบูรณ์เพราะอยู่ในเขตคลื่นซัด นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลปะการัง ฟอสซิลเสื่อทะเล และฟอสซิลหอยตะเกียง บริเวณเขาจุหนุง เขาบ้านหาญ รอยต่อระหว่างตำบลกำแพงกับตำบลเขาขาว อำเภอละงูพบฟอสซิลนอติลอยด์ ฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์แทรกอยู่ สังเกตได้ง่ายเป็นเนื้อหินเรียบๆ ซึ่งเป็นหมวดหินรังนก หมวดหินป่าแก่ เขาบ้านปลักมาลัย บ้านป่าฝาง ตำบลกำแพง อำเภอละงู เจอฟอสซิลมากูไลต์ เนื้อหินมีตะกอนดินเปลี่ยนเป็นหินปูน 100% แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในยุคนั้นเป็นแบบค่อยๆ เปลี่ยน แบบค่อยเป็นค่อยไป หอยโข่งปัจจุบันวิวัฒนาการจากต้นตระกูลเมื่อ 400–500 กว่าล้านปีก่อน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทัง ป่าเขาขาว รอยต่อระหว่างอำเภอละงูกับอำเภอทุ่งหว้าถูกจัดอยู่ “หมวดหินควนทัง”และ “หมวดหินวังตง” ฟอสซิลกลุ่มเด่นของยุคออร์โดวิเชียน คือ ฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลแกรปโตไลต์ ฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ เจอทั่วไปตามสองข้างทางจากละงูไปทุ่งหว้าตลอดทาง บริเวณภูเขาในตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า เป็นหินปลายยุคออร์โดวิเชียน หมวดหินป่าแก่ สามารถสังเกตได้ง่าย เพราะเต็มไปด้วยฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ มีสีแดงเห็นเด่นชัด พบฟอสซิลนอติลอยด์ที่มีลักษณะโดดเด่น มีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บริเวณตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พบฟอสซิลต้นฉบับของไทรโลไบท์ ฟอสซิลหอยตะเกียง โผล่สัณฐานลักษณะจำเพาะ เป็นตัวชี้วัดบ่งบอกว่าเป็นหินยุคแคมเบรียน ไม่เพียงฟอสซิลในมหายุคพาลิโอโซอิก อายุราว 245 ถึง 590 ล้านปีเท่านั้น เพราะเมื่อไม่นานมีนี้ มีการค้นพบซากขากรรไกรล่างขวา พร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน อายุ 1.8 ล้านปี นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลช้างโบราณสกุลเอลลิฟาส อายุ 1.1 ล้านปี ฟอสซิลแรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาธิเรียมและคิโลธิเรียม ภายในถ้ำวังกล้วย บ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า สิ่งเหล่านี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดที่จะจัดตั้งอุทยานธรณี ‘ละงู-ทุ่งหว้า-ตะรุเตา’ ซึ่งเป็นอุทยานธรณีที่มีความสำคัญระดับโลก แหล่งฟอสซิลรอบอ่าวปากบารา ครูนกทิ้งท้ายว่า ที่เกาะเขาใหญ่ พบฟอสซิลแอมโมไนต์และฟอสซิลนอติลอยด์ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหน้าเกาะเขาใหญ่อาจมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงหรือไม่ ยังไม่ทราบ แต่ฝุ่นละอองจากหิน ดิน ทราย จะส่งผลกระทบกับฟอสซิลที่นั่นแน่นอน เขาจุหนุงนุ้ย ที่จะถูกระเบิดหินมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีฟอสซิลนอติลอยด์ชิ้นใหญ่ ซึ่งไม่สามารถหาที่ไหนได้ในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่เราไม่เคยเจอที่ไหน ภูเขาที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า เป็นอีกแห่งที่จะถูกระเบิดมาถมทะเล พบไทรโลไบต์หลากหลายชนิด ส่วนที่หาดทรายบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ที่จะมีการขุดทรายมาถมทะเลด้วย ก็พบฟอสซิลหอยตะเกียงและฟอสซิลอื่นๆอีกหลากหลายชนิด “ถ้าทำอย่างนั้น ถือว่า น่าเสียดายมาก ในการนำหินฟอสซิลไปถมทะเล เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ตารางธรณีกาล เป็นตารางบ่งบอกยุคทางธรณีวิทยา มีดังนี้ มหายุค (Era) ยุค (Period) สมัย (Epoch) เวลา (ล้านปีก่อน) พรีแคมเบรียน (precambrian) 4,600 - 543 พาลีโอโซอิก (paleozoic) แคมเบรียน (cambrian) 543 - 510 ออร์โดวิเชียน (ordovician) 510 - 439 ซิลูเรียน (silurian) 439 - 409 ดีโวเนียน (devonian) 409 - 363 คาร์บอนิเฟอรัส (carboniferous) 363 - 290 เพอร์เมียน (permian) 290 - 245 มีโซโซอิก (mesozoic) ไทรแอสซิก (triassic) 245 - 206 จูแรสซิก (jurassic) 206 - 144 ครีเทเชียส (cretaceous) 144 - 65 ซีโนโซอิก (cenozoic) เทอเทียรี (tertiary) เพเลโอซีน (Paleocene) 65 - 57 เอโอซีน (Eocene) 57 - 35 โอลิโกซีน (Oligocene) 35 - 23 ไมโอซีน (Miocene) 23 - 5 พลิโอซีน (Pliocene) 5 - 1.8 ควอเทอนารี่ (quaternary) ไพลสโตซีน (Pleistocene) 1.8 - 0.01 ปัจจุบัน 0.01 - 0 ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ธรณีกาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net