เครือข่ายกะเหรียงเพื่อวัฒนธรรมฯ หนุนมติ ครม. แก้ปัญหาแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.54 ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนาการร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาเรื่อง “มติครม. วันที่ 3 สิงหาคม กับสิทธิการอยู่อาศัยของกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปพบกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวจากบ้านบางกลอยบน ส่วนหนึ่งที่มาอาศัยอยู่กับญาติที่บ้านบางกลอย-โป่งลึก ของเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะกรรมการอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ  ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวเปรียบเทียบกรณีกรณีที่มีนักเรียนมาแต่งชุดนาซีว่า ในขณะที่มีคนต่างชาติเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ดีไม่เหมาะสม แต่สังคมไทยไม่สนใจ ไม่เข้าใจ เหมือนกับกรณีของแก่งกระจานเช่นกัน สังคมไทยนั้นจำเป็นต้องสนใจ ต้องออกมาบอกว่าอะไรที่ผิด

เขากล่าวว่า มติครม. 3 สิงหาคม 2553 นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทย ให้หันกลับมามองกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และในช่วงที่ยกร่างมตินั้นก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยและให้ความ เห็นชอบ อยากย้ำทำความเข้าใจว่าการยุติการจับกุมตามมติครม.นั้น เป็นการยื่นระยะเวลาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้จะมีการประชุมคระกรรมการตามมติครม.ดังกล่าวในวันที่ 10 ต.ค.นี้

นอกจากนี้นายสุรพงษ์เสนอว่าหากมีการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เครือข่ายนั้นควรจะโต้แย้งและสื่อสารต่อสาธารณะต่อประเด็นนั้น

นายวีระวัฒน์ ธีระประสาสน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กล่าวว่าจากภาพถ่ายของอุทยานนั้นที่เป็นเพียงภาพชาวบ้านถือปืนแก๊ปนั้นถือ ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องถึงขั้นเข้าไปปฏิบัติการโดยใช้กองกำลัง

“ใครก็ตามที่เข้าไปจัดการทรัพยากรนั้น หากมุ่งเน้นไปที่เรื่องเดียวยากที่จะสำเร็จ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องปรับทัศนคติ เพราะการจัดการป่านั้นมันแฝงเรื่องวัฒนธรรมอยู่ด้วย ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ผมใช้เวลา 5 ปี กว่าจะเข้าใจไร่หมุนเวียน “

นอกจากนี้นายชัยวัตน์ยังกล่าวถึงการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าหากเปรียบเทียบจากกรณีของวังน้ำเขียวนั้นจะเห็นว่ามีการส่ง ฟ้องศาลซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 20 ปี กว่าจะมีการรื้อถอน ในขณะที่กรณีของแก่งกระจานเข้าไปดำเนินการเผาบ้านเลย

นายสังวาลย์ อ่อนเภา

ด้านนายสังวาลย์ อ่อนเภา อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีด้วย เขาเคยเดินเข้าไปสำรวจชุมชนในพื้นที่บริเวณผืนป่าแก่งกระจาน ทั้งฝั่งลำน้ำภาชีในฝั่งจังหวัดราชบุรี จากบ้านห้วยม่วง ห้วยน้ำหนัก พุระกำ มาจนถึงสันปันน้ำ มาฝั่งลำน้ำบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน บางกลอยล่าง บางกลอย-โป่งลึก ตั้งแต่ปี 2528 ก่อนที่คณะจากศูนย์ฯจะเข้าไปจัดทำทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้าน หรือ ท.ร.ชข.ในปี 2531

โดยในบริเวณใจแผ่นดินอยู่สูงกว่า ไล่ลงมาบางกลอยบน พบชุมชนตั้งอยู่เป็นป๊อกหรือหย่อมบ้านขนาดเล็ก บริเวณแนวชายแดน จะเป็นแนวสันปันน้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 กว่าเมตร ที่เป็นพื้นที่เขาสูง ซึ่งยากลำบากต่อการเดินทางทั้งจากฝั่งไทยข้ามไปพม่า และข้ามจากพม่าเข้ามาฝั่งไทย โดยบ้านบางกลอยบนจะอยู่บริเวณที่เรียกว่าสามแพร่ง คือบริเวณแนวริมน้ำที่แม่น้ำเขาพะเนินทุ่งรวมกับแม่น้ำบางกลอยไหลลงแม่น้ำ เพชร โดยในบริเวณบ้านจะพบว่ามีต้นขนุน มะพร้าว ส้มโอ ที่มีขนาดใหญ่ อายุหลายปี ซึ่งน่าจะบอกได้ว่าเป็นลักษณะชุมชนที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม

เขากล่าวว่า นอกจากนี้จากประสบการณ์เห็นว่าที่ผ่านมานโยบายการอพยพแล้วจัดสรรที่ทำกินไม่ เคยได้ผล เช่น กรณีการอพยพที่ อ.ปัว จ.น่าน อพยพม้งร่องส้าน และกรณีที่อ.อุ้มผาง พื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้จริง สุดท้ายชาวบ้านก็กลับไปทำกินที่เก่า เจ้าหน้าที่ก็รับรู้

ด้านนายพฤ โอ่โดเชา  เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความในใจว่า หลังจากได้ลงไปพบกับพี่น้องปากาเกอะญอที่แก่งกระจาน รู้สึกว่ามันโหดร้ายมาก ไม่มีข้าวกิน ไม่มีที่อยู่ ภาพที่ผ่านมาตลอดคือคนทำให้ภาพว่าทำลายป่า ตอนนี้คิดหนักว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์แบบนี้จะมาถึงบ้านตน

สำหรับมติครม. 3 ส.ค.53 นั้น แนวนโยบายครอบคลุมประเด็นปัญหา อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้ง เดิม รวมทั้งการเร่งรัดสิทธิในสัญชาติให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงเดิม) ที่อพยพเข้าตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2528

ทั้งนี้หลังจากนี้เครือข่ายจะกลับไปประชุมหารือและจัดทำข้อมูลในประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท