แอมเนสตี้สากลร้อง ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ ใต้ หยุดก่อ ‘อาชญากรรมสงคราม’

‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ เผยข้อมูลความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ระบุ 2547 ถึง 2554 การโจมตีจากฝ่ายก่อความความไม่สงบทำให้ประชาชนเสียชีวิตเกือบ 5 พันคน บาดเจ็บอีกราว 8 พัน กว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิมและชาวพุทธที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด แนะรัฐบาลไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์จัดการที่ไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 54 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสากล (เอไอ) แถลงข่าวเปิดตัวรายงาน ‘They took nothing but his life’ (พวกเขาไม่ได้เอาอะไรนอกจากพรากชีวิตของเขาไป) ซึ่งวิจัยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 2547-2554 โดยเฉพาะความรุนแรงที่มาจากฝ่ายผู้ก่อการความไม่สงบ พร้อมระบุข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการฯ รายงานฉบับความยาว 64 หน้า ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากฝ่ายผู้ก่อการทั้งหมด 10,890 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4,766 คน และผู้บาดเจ็บ 7,808 คน และพบว่า การโจมตีพลเรือนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 ดอนนา เกสต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบไม่เคยได้ระบุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน และดูเหมือนว่าการโจมตีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อสร้างความหวาดกลัวในพื้นที่เป็นหลัก และชี้ว่า ลักษณะของการโจมตีพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเช่นนี้ นับเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาเจนีวา รายงานที่เขียนโดย เบนจามิน ซาแว็กกี นักวิจัยเอไอประจำประเทศไทยและพม่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายก่อความไม่สงบในพื้นที่ว่า ฝ่ายดังกล่าว มีผู้ปฏิบัติงานและผู้สนับสนุนกว่า 9,400 คน แฝงอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ คิดเป็นราวร้อยละ 30 ของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่เอไอเชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นขององค์กรปลดปล่อยรัฐปาตานี (Patani United Liberated Organization –PULO) และกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (Barisan Revolusi Nasional Coordinate - BRN-Coordinate) ตามลำดับ ในรายงานยังระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มักจัดตั้งเป็นหน่วยย่อย (cell) มีการกระจายการนำ และประสานงานกันอย่างหลวมๆ และเชื่อว่ามีการจัดตั้งโครงสร้างกลุ่มที่สอดคล้องกับหน่วยราชการ เป็นระดับภูมิภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยชาวบ้านในหมู่บ้านหลายแห่งเคยถูก “ชักชวนหรือไม่ก็บังคับ” ให้ร่วมมือกับกลุ่มเหล่านี้ ให้ช่วย ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เป็นสายให้ผู้ก่อการ และจัดตั้งผู้ประท้วง เป็นต้น เอไอชี้แจงว่า ผลจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ทำให้รัฐได้มีนโยบายติดอาวุธให้กับพลเรือนในพื้นที่สูงขึ้นมาก เช่น เพิ่มจำนวนอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) และทหารพราน นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจับกุมโดยไม่มีมูล และการซ้อมทรมานบุคคลที่เข้าข่ายว่าต้องสงสัยจำนวนมาก ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่มีต่อฝ่ายก่อความไม่สงบ ให้ยุติการกระทำร้ายแรงดังกล่าวโดยทันที พร้อมมีข้อเสนอแนะต่างๆ ให้รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เช่น ให้ยกเลิกการทำรายชื่อ ‘แบลกลิสต์’ ซึ่งเป็นการระบุผู้ต้องสงสัยโดยที่ไม่มีมูลเหตุ ควบคุมการใช้อาวุธปืน แก้ไขหรือยกเลิกกฎอัยการศึก และแก้ไขมาตรา 17 ในพ.ร.บ. ฉุกเฉินที่งดเว้นโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ถึงแม้ว่าเอไอจะมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายผู้ก่อการให้ยุติความรุนแรงเป็นหลัก แต่นักวิจัยจากเอไอก็ยอมรับว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเรื่องทำให้บรรลุได้ยาก “ในท้ายที่สุด มันต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่ต้องคุ้มครองความเป็นอยู่ของพลเมืองไทย และในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้แน่ใจด้วยว่า มาตรการต่อต้านการก่อความไม่สงบนี้ จะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธมนุษยชนสากล” ดอนนา เกสต์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท