เมื่อพระอ้างพระไตรปิฎก “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นหูที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นกายที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นใจที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง พระไตรปิฏก เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง ข้อความข้างบนนี้คือข้อความที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์สำนักสงฆ์ป่าสามแยก ที่พำนักของพระเกษม อาจิณฺณสีโล ผู้อ้างพระไตรปิฎกว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” ผมคิดว่าวิธีอ้างพระไตรปิฏกแบบ “อีเดียต” ของพระรูปนี้เป็น “กรณีศึกษา” ที่น่าสนใจ แต่โปรดเข้าใจว่า “อีเดียต” ในที่นี้ผมไม่ได้ใช้เป็นคำด่า แต่ใช้ในความหมายเชิงวิชาการที่หมายถึง การอ้างข้อความในพระไตรปิฎกโดยไม่วิเคราะห์เนื้อหาและบริบทเพื่อเป็น “คำตอบสำเร็จรูป” แก่ทุกเรื่องอย่าง (ที่ไม่รู้จะใช้คำไหนแทนดีจึงใช้) อีเดียต” บังเอิญผมเพิ่งได้อ่านแง่คิดในการอ่านพระไตรปิฎกจากข้อเขียนของสมภาร พรมทา (วารสารปัญญา ฉบับที่ 12 กันยายน 2554) ซึ่งเข้ากันได้กับเรื่องนี้พอดี จึงขอ “เก็บความ” มาเล่าโดยย่อ ข้อเขียนดังกล่าวยกตัวอย่างเรื่องหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เขียนประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอนหนึ่งว่าคืนที่ท่านบรรลุธรรมนั้นเกิดนิมิตมีพระพุทธเจ้าหลายองค์มาแสดงความยินดี พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มีพระอรหันต์เป็นบริวารจำนวนมากน้อยต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญมาต่างกัน แถมมีพระอรหันต์ที่เป็นสามเณร อายุประมาณ 7- 8 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูมาในขบวนนั้นๆ ด้วย ความประทับใจในความน่ารักของสามเณรทำให้หลวงตาบัวถึงขนาดเขียนว่า “ถ้าเป็นเราคงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปหยิกแก้มสามเณร แล้วค่อยขอขมาโทษทีหลัง” อีกเรื่องเป็นประวัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท ตอนวัยหนุ่มท่านต่อสู้กับ “ราคะ” ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ระหว่างเดินจงกรมอยู่กลางป่าตอนกลางคืน ปรากฏว่าท่านเกิดนิมิตเห็นอวัยวะเพศผู้หญิงลอยมาเวียนวนรบกวนสมาธิอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ องคชาติแข็งตัวจนต้องถลกสบงเดินจงกรมสู้กับความรู้สึกทางกามารมณ์นั้นอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ถึง 10 วันจึงเอาชนะได้เด็ดขาด (ปกติถ้าเราจะเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อเห็นหรือจินตนาการภาพผู้หญิงเปลือยทั้งตัว ถ้าเห็นอวัยวะชิ้นใดชิ้นหนึ่งลอยมา เราน่าจะเผ่นป่าราบมากกว่า ไม่รู้ว่าคนเขียนประวัติหลวงพ่อชาทำไมถึงจินตนาการได้พิลึกพิลั่นขนาดนั้น) อาจารย์สมภารแสดงความเห็นทำนองว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นการเขียนประวัติพระเกจิอาจารย์แนวโรแมนติก คือใส่จินตการเหนือจริงเข้าไป แม้ว่าผู้เขียนจะบอกว่าเขียนจากคำบอกเล่าของเจ้าของประวัติเองก็ตาม แต่ท่วงทำนอง ลีลาในการเขียน หรือการใส่สีตีไข่เพื่อให้เห็นความน่าอัศจรรย์ หรือเห็นความเพียรเป็นเลิศในการเอาชนะกิเลสของครูบาอาจารย์นั้นเป็นของผู้เขียนเอง ประเด็นคือ เราต้องเข้าใจว่า ประวัติของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ นั้น ไม่ใช่ตัวท่านเขียนเอง แต่เป็นลูกศิษย์ท่านเขียน ขนาดประวัติพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยเรายังเห็นความโรแมนติก หรือความเหนือจริงที่ถูกเติมแต่งโดยผู้เขียนเพื่อยกย่องหรือสร้างศรัทธาในครูอาจารย์ของตนขนาดนี้ เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาลก็เช่นกัน ท่านไม่ได้เขียนประวัติของตัวท่านเอาไว้เอง เป็นเรื่องที่คนอื่นเขียนให้ท่านทั้งนั้น แม้แต่เนื้อหาคำสอนที่ถูกบันทึกเป็นพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ถูกรวบรวมจัดหมวดหมู่ที่เรียกว่า “สังคายนา” หรือ edit โดยกลุ่มพระสาวกผู้เชี่ยวชาญที่ทำกันมาแล้วหลายครั้ง จะเห็นว่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่เราพบในพระไตรปิฎกมีอยู่สองแนวคือ แนวโรแมนติก (romantic) กับแนวสมจริง (realistic) ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระสาวกมีสองประเภทคือพวก romanticists กับพวก realists และสองพวกนี้ก็ทรงจำและบันทึกเรื่องราวของพระพุทธเจ้าต่างกัน เราจึงได้เห็นภาพลักษณ์ของพระพุทธสองภาพที่แตกต่างกัน (ซึ่งต่างก็ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นแหละ) ภาพของพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติแนวโรแมนติก คือภาพของ “อภิมนุษย์” ที่สง่างามสมบูรณ์แบบ มีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ เกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวทันที มีอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ เป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่างในจักรวาล ทำอะไรไม่เคยผิดพลาดล้มเหลว เป็นต้น แต่ภาพของพระพุทธเจ้าแนวสมจริง คือมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา ต่างจากเราเพียงเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลส ทว่าร่างกายบุคลิกภาพก็เหมือนคนธรรมดา มีความเจ็บป่วยแก่ชรา นั่งนานๆ ก็เหนื่อย บางครั้งต้องนั่งพิงเสาศาลาเวลาประชุมสงฆ์ บางครั้งก็สอนลูกศิษย์ให้เป็นพระที่ดีก็ไม่ได้ เช่นพระเทวทัต ลูกศิษย์บางคนก็หัวดื้อไม่เชื่อฟัง เช่นพระฉันนะอดีต “อำมาตย์คนสนิท” ของท่านเอง บางครั้งลูกศิษย์แตกเป็นสองก๊ก พระองค์ก็ไม่สามารถประสานให้เกิดความสามัคคีกันได้ เช่นภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน เป็นต้น สำหรับพวก realists เวลามองคำสอนของพระพุทธเจ้าเขาก็มองตามเป็นจริง ไม่คิดว่าทุกข้อความของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกจะเป็นสัจธรรมที่ตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง คือเขาแยกคำสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นความจริงอันเป็นหลักการทั่วไปที่ไม่สัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับบริบทใดบริบทหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นอริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ ฯลฯ กับส่วนที่เป็นความจริงที่สัมพันธ์หรือขึ้นต่อบริบทเฉพาะบางอย่าง ซึ่งบริบทเฉพาะนั้นอาจเป็นปัญหาของบุคคลที่พระพุทธเจ้าสอน หรือวัฒนธรรมทางสังคมในเวลานั้นก็ได้ หมายความว่าเวลาสอนคนเป็นรายบุคคล พระพุทธองค์จะใช้วิธีพูดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นมีทุกข์หรือปัญหาเฉพาะตัวอย่างไร หรือมีภูมิหลังทางความเชื่ออย่างไร หรือเวลาสอนธรรมะทางการเมืองก็ดูบริบททางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เช่น คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรพระองค์ก็สอนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาของระบบสังคมการเมืองแบบราชาธิปไตย วัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรมก็สอนแก่สังคมการเมืองแบบสามัคคีธรรม หรือคณาธิปไตยในเวลานั้น เป็นต้น เมื่อค้นดูข้อความในพระไตรปิฎกที่พระเกษมยกมาอ้างแล้วสรุปว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” นั้น จะเห็นว่า เป็นข้อความในกัณฑินชาดก (และเพิ่มเติมตัวอย่างในอินทริยชาดก) “ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง” (พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อ 13 หน้า 5) ว่า “เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ผู้ยิงไปเต็มกำลัง เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใดตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น บัณฑิตก็ติเตียนแล้วเหมือนกัน” บริบทของการตรัสข้อความนี้คือ เกิดปัญหาว่าพระรูปหนึ่งจะสึกเพราะภรรยาเก่าลวงว่าจะไปแต่งงานกับคนอื่น การอยากจะสึกของพระรูปดังกล่าวนั้นตามค่านิยมของสังคมสงฆ์หมายถึงการตกอยู่ใน “อำนาจ” (ในเรื่อง หมายถึงความติดใจในรสปลายจวักและในทางกามารมณ์) ของตรีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อชีวิตพรหมจรรย์ของพระ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสข้อความในพระไตรปิฎกนั้นในบริบทของการสอนพระที่ตกอยู่ใน “อำนาจ” ของสตรีในความหมายดังกล่าวนั้น จนทำให้อยากสึกไป (โดยการสอนนั้นใช้วิธีเล่านิทานชาดกประกอบ ซึ่งการสอนด้วย “นิทาน” น่าจะเป็นที่นิยมในยุคนั้น) แต่ข้อความว่า “เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ” เราอาจเข้าใจได้ว่า ข้อความนี้น่าจะเป็นการพูดถึงความจริงที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมยุคนั้นที่หัวเมืองใดมีผู้หญิงเป็นผู้นำอาจทำให้อ่อนแอเนื่องจากเป็นยุคสมัยที่ “ศึกชิงเมือง” เกิดได้ตลอดเวลา หรือเป็นยุคที่สังคมยังไม่ยอมรับบทบาทความเป็นผู้นำของสตรี ซึ่งเป็นไปได้ว่าพระพุทธเจ้าก็เห็นด้วยกับการไม่ยอมรับบทบาทเช่นนั้นด้วย ทว่าการไม่ยอมรับบทบาทความเป็นผู้นำของสตรีดังกล่าวนั้น เป็นเพียงค่านิยมร่วมสมัยในยุคหนึ่ง (ในยุคใกล้เคียงกับพุทธกาล เพลโตก็ถือว่าสตรีไม่ใช่เสรีชน) ไม่ใช่ “หลักการตายตัว” ของพุทธศาสนาที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย ฉะนั้น การที่พระเกษมอ้างคำพูดของพระพุทธเจ้า (ถ้าใช่?) ที่ว่า “เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ” เพื่อเป็น “คำตอบสำเร็จรูป” กับยุคปัจจุบันว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” จึงเป็นการอ้างแบบอีเดียต คือไม่รู้จักใช้สติปัญญาจำแนกแยกแยะว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงในบริบทของสังคมวัฒนธรรมยุคกว่าสองพันปีที่แล้ว ไม่ใช่ความจริงที่เป็นหลักการทั่วไปเหมือนความจริงของอริยสัจสี่ หรือไตรลักษณ์ที่ปรับใช้ (apply) ได้กับทุกยุคสมัย ส่วนข้อความที่ว่า “สตรีผู้มีปัญญาทราม” ที่พระเกษมอ้างถึง แม้จะเป็นข้อความในพระไตรปิฎกจริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อความที่พูดถึงธรรมชาติของความเป็นผู้หญิง หรือเป็นคำตัดสินค่าความเป็นเพศหญิง เพราะมีข้อความมากมายในพระไตรปิฎกที่ระบุว่า “บุรุษผู้มีปัญญาทราม” ซึ่งทั้งสองข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่พาดพิงถึงสตรีหรือบุรุษบางคนที่แสดงออกถึงความมีคุณภาพทางปัญญาเช่นนั้น เช่น ข้อความว่า “พระอ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียต” ในที่นี้ก็หมายเฉพาะพระบางรูป ไม่ใช่พระทุกรูป เป็นต้น หากย้อนไปดูข้อความโปรยต้นบทความจะเห็นว่า พระเกษมเชื่ออย่างสุดโต่ง (extreme) ว่าปัญหาทุกเรื่องหา “คำตอบสำเร็จรูป” ได้จากพระไตรปิฎก หรือสามารถอ้างพระไตรปิฎกมาตอบปัญหาในชีวิตและสังคมปัจจุบันได้ทุกเรื่อง นี่ก็เป็นความเชื่อแบบอีเดียตเช่นกัน เมื่อเชื่อแบบอีเดียตเช่นนี้จึงทำให้อ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียตดังกล่าวแล้ว จะว่าไปวิธีคิด และทัศนคติที่มองคำถามท้าทายทางวิชาการเป็นคำด่า มองกัลยาณมิตรทางวิชาการเป็นตัวปัญหา และวิธีอ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียตดังกล่าว คือภาพสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษา และวัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมสงฆ์ที่ฝังรากลึกมานาน และยังมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ของการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท