Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมติดตามการเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ในหลายๆ เวที ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ออกไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งชี้โทษภัยของการรัฐประหารครั้งนี้ บ้างก็ถึงกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยหรือตัดสินคดีมิให้ถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ดังเช่นที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ ทั้งที่ไม่มีปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายใด ในทางตรงข้าม บางเวทีก็มีการพูดถึงผลที่คาดไม่ถึงของการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งก็คือการที่ประชาชนมีจิตสำนึกหรือมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการออกมาเรียกร้องทางการเมืองหรือการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ จนทำให้เข้าใจว่าได้ชัยชนะต่อฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายอำนาจเก่าได้แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างเช่นที่ว่าแล้วจริงๆ ล่ะหรือ จริงอยู่เมื่อมองเผินๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะประชาชนออกมาแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการการปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการจัดตั้งในค่ายทหาร ไม่ต้องการรัฐบาลที่มีผลพวงจากการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นผลของการเลือกตั้งในปี 2550 หรือ 2554 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายอำนาจเก่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฝ่ายทหารนั้นได้เรียนรู้ประสบการณ์อย่างมากมายไม่ว่าจากเหตุการณ์เมษา 52 หรือ พฤษภา 53 ว่าวิธีที่จะจัดการกับกระบวนการเสื้อแดงนั้นจะจัดการอย่างไร ทั้งๆ ที่รัฐบาลไหนก็ตามทั่วโลกถ้ามีคนตายจำนวนมากขนาดนี้ไม่มีทางที่อยู่ในอำนาจต่อไปได้ แต่ของไทยเรารัฐบาลกลับอยู่ต่ออย่างหน้าตาเฉย มิหนำซ้ำกองทัพซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลักในการจัดการกับผู้ชุมนุมกลับเพิ่มพลังต่อรองไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายหรืองบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่กล้าหือ แฟ้มภาพ: ประชาไท แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ การ “ฮั้ว” กันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้าไปบริหารประเทศ แต่ก่อนที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการฮั้วกันอย่างไร นั้น ผมขอนำเอาคำจำกัดความที่เสาวลักษณ์ เชฎฐาวิวัฒนา (2539) ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ฮั้ว” ในทางธุรกิจ ไว้ในคู่มือไขปริศนาดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมจะยกตัวอย่างต่อไป การฮั้ว (Collusion) คือ การทำข้อตกลงในทางลับระหว่างบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป ที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ทั้งสองบริษัทได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่นๆ หรือมากกว่าที่ควรจะได้รับ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือก็คือการแบ่งกันกินนั่นเอง เพราะเป็นการทำข้อตกลงในทางลับระหว่างบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ทั้งสองบริษัทได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทอื่นๆ หรือมากกว่าที่ควรจะได้รับ การฮั้วกันเกิดขึ้นในธุรกิจทุกระบบไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และอาจจะถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฏหมายก็ได้แล้วแต่การยอมรับของสังคม และข้อกฎหมายในประเทศแต่ละประเทศ เช่น การกำหนดราคาและปริมาณการผลิตน้ำมันร่วมกันของกลุ่มโอเปค เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อหันกลับมาพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยาแล้วจะเห็นได้ว่า แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากมาอย่างถล่มทลายถึงกว่า 15 ล้านเสียง สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดถึง 300 เสียง แต่ต้อง “ฮั้ว” กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ห้ามเอาคนนั้นหรือคนกลุ่มโน้นเป็นรัฐมนตรี เพื่อแลกกับความสะดวกในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการ “ฮั้ว” กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ทำให้ผลการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.กลายเป็น กสทบ.ไป เพราะมีแต่ทหารเข้าไปยึดครองจำนวนมากรวมทั้งตำแหน่งประธานและรองประธาน ในส่วนกรรมการที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นภาคธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกับนายทุนของรัฐบาล ฉะนั้น จึงอย่าไปหวังว่าจะสามารถไปจัดระเบียบคลื่นความถี่ของทหารหรือคลื่นความถี่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย คงทำได้เฉพาะคลื่นวิทยุชุมชนตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น มีการ “ฮั้ว” กันระหว่างแกนนำเสื้อแดงให้ละทิ้งอุดมการณ์ของการเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยการปูนบำเหน็จในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งทำให้เกิดการแปลกแยกระหว่างกลุ่มที่เคยเรียกตนเองว่าไพร่กลับกลายเป็นอำมาตย์ จนมีผลทำให้การตรวจสอบของการเมืองภาคประชาชนของกลุ่มคนเสื้อแดงอ่อนแอลง เพราะแกนนำกลายเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ที่ “ฮั้ว”กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงยังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำอีกเป็นจำนวนร้อย มีการ “ฮั้ว” กันระหว่างรัฐบาลและผู้สนับสนุนกับกลุ่มอำนาจเก่าในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ของรัฐบาล สื่อออนไลน์หรือเครือข่ายสังคมของกลุ่มที่สนับสนุนตนเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านให้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองโดยหลับหูหลับตาโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ตัวเองเคยไม่เห็นด้วย เช่น การโฆษณาอุดมการณ์ล้าหลังคลั่งชาติทั้งหลาย เป็นต้น เบื้องหน้าฉากของการเมืองในปัจจุบันอาจจะดูเหมือนว่ากำลังต่อสู้ยื้อยุดฉุดกระชากอำนาจกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มอำมาตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มทหาร แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังฉากเต็มไปด้วยการ “ฮั้ว” กันอย่างมหาศาล ปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทำตาปริบๆ ถูกหลอกไปวันๆ 0000000000000000000 หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21 กันยายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net