คนงานล่าชื่อดันนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมออกจดหมายเชิญชวน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สภาองค์การแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐและรัฐวิสาหกิจ องค์กรประชาชน ลงชื่อเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงกับประชาชน (นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท) โดยมีรายละเอียดดังนี้ เรียน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สภาองค์การแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐและรัฐวิสาหกิจ องค์กรประชาชน ตามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่เกี่ยวกับพี่น้องผู้ใช้แรง คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน 300 บาท ทันที ทั่วประเทศ และการปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น นโยบายดังกล่าวถือเป็นความคาดหวังในการที่จะนำมาปฏิบัติ แต่วันนี้ผู้ใช้แรงงานเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่น ในความไม่ชัดเจนที่จะปฏิบัติได้จริงของรัฐบาล เกิดความคลุมเครือ เนื่องจากเสียงคัดค้านของนายจ้าง ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า โดยอ้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งสร้างความสับสนให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ มีความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 300 บาท ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จากการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตรายวันของผู้ใช้แรงงานเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 พบว่าผู้ใช้แรงงาน 1 คนมีค่าใช้จ่ายรายวันประมาณ 348 บาท และค่าใช้จ่ายรายวันของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวรวม 3 คน ประมาณ 562 บาท ซึ่งตามหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของแรงงานและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคน ฉะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงจะต้องสูงกว่านี้ เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมเห็นว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี อยู่ได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูง และจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตด้วยการส่งเสริม การปกป้องอุตสาหกรรมส่งออก ที่อาศัยการใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก มองข้ามความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน ที่มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในสังคมมานานหลายสิบปี กับการใช้นโยบายกดค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องอยู่ในภาวะคุณภาพชีวิตที่ต่ำ มาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเครื่องมือ อันจะทำให้เราสามารถสร้างอำนาจซื้อสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางสังคม เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม จึงขอเชิญชวนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมลงชื่อเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงกับประชาชน ตามแบบฟอร์มลงชื่อนี้ โดยส่งรายชื่อกลับมายัง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เลขที่ 503/20 ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรสาร 02-2513170 และอีเมล์ tlsc.labour@gmail.com หรือที่สภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงงาน/สมาพันธ์แรงงาน/กลุ่มสหภาพแรงงาน/สภาองค์การลูกจ้าง/กลุ่มองค์กรแรงงาน/กลุ่มองค์กรประชาชน ที่ท่านสังกัด ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำเสนอต่อรัฐบาลในการรณรงค์วัน Decent Work วันที่ 7 ตุลาคม 2554 นี้ เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม 16 กันยายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท