Skip to main content
sharethis

งาน \ทศวรรษ สู่อนาคต : 10 ปี 10 ความคิด ทิศทางสื่อ\" “เทพชัย” แนะสื่อเสนอข่าวเชิงลึก เป็นผู้นำความคิด หวังยกระดับคนไทยฉลาดขึ้น “สุทธิพงษ์” ย้ำคนข่าวต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องปากท้อง “นิรมล” ชี้ความคิดไม่ใช่สูตรสำเร็จ นักข่าวต้องปะติดปะต่อให้ดีก่อนเสนอสังคม 17 ก.ย. 54 - ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงาน จากทศวรรษ สู่อนาคต : 10 ปี 10 ความคิด ทิศทางสื่อ ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดา โดยมี นาย เทพชัย หย่อง ผอ.ไทยพีบีเอส นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กก.อำนวยการ บมจ.เนชั่นฯ นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กก.ผู้จัดการ บ.ทีวีบูรพา จำกัด นางสาวนิรมล เมธีสุวกุล ผู้ผลิตและพิธีกรรายการโทรทัศน์ บ.ป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด ร่วมแสดงทัศนะ นายเทพชัย กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสื่อสารมวลชนไทย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากบทบาทของสังคมการเมืองที่ทำให้เกิดความท้าทาย และสับสนในวงการสื่อ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในระบบสังคมและ ภูมิภาคอย่างรวดเร็วมากจนคาดไม่ถึง “ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง เป็นบริบทหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อโลกอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเร่งให้อีก 10 ปีข้างหน้าเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงได้อีก สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอาจจะส่งผลเป็นแรงกดดัน และเป็นสิ่งท้าทายว่าองค์กรสื่ออาจต้องกลับไปออกแถลงการณ์รายวันอย่างที่เคย เป็นมา เพียงแต่มีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นายเทพชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาความวุ่นวาย แตกแยกและเกียจชังที่ผ่านมา ต้องยอมรับก่อนว่า สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นบานปลาย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม แต่หากจะมองอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างมีความหวัง “สื่อ” ต้องทำหน้าที่อย่างที่สังคมคาดหวัง จัดการและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอภาคการเมือง “สื่อต้องถอยหลังไปสัก 2-3 ก้าว เพื่อมองดูตัวเองว่าจะพอใจการทำงานอย่างที่เป็นอยู่ หรือจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยิ่งในปัจจุบันสื่อใหม่ ทั้ง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ สามารถรายงานข่าวได้อย่างสื่อหลัก แต่สะดวก รวดเร็วกว่ามาก สื่อจึงควรปรับการทำงานภายใต้ฐานความคิดที่ว่า “ทำอย่างไรให้คนทำสื่อมีบทบาทมากขึ้น” เป็นคนที่ให้บทวิเคราะห์ที่มีความลึก อธิบายความ ให้ความรู้ ยกระดับความเข้าใจและเป็นผู้นำทางด้านความคิด ที่ไม่ใช่คนชี้นำ โดยที่ คนทำสื่อต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งก่อน ความท้าทายจึงอยู่ที่ เราพร้อมจะลงทุนและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากแค่ไหน” นายเทพชัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ด้วยว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก มีประชากรที่ไม่ใช่แค่คนไทยเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมรับมือมากน้อยแค่ไหน สื่อต้องพิจารณาตนเองว่าทำอะไร และนำเสนออะไรให้คนไทยฉลาดขึ้น หรือเข้าใจความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมไทยและสังคมโลกบ้าง “ยิ่งโลกมีความเปลี่ยนแปลง สื่อก็ควรจะสร้างให้ประชาชนและสังคมรู้ เช่น ในเรื่องเดียวกัน ปัญหาเดียวกันที่กำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ หรือการจัดการข้าว ประเทศอื่นๆ ที่เคยประสบปัญหาเหล่านี้มาก่อน มีการจัดการและแก้ไขกันอย่างไร หากสื่อสามารถปรับตัวได้ดังที่กล่าวมา ก็จะยังมีที่อยู่ได้ต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า” ขณะที่นายอดิศักดิ์ กล่าวถึงสภาพการณ์ของสื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเกิดขึ้นของฟรีทีวีจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคสามารถกำหนดช่องทางการรับข่าวสารได้ด้วยตนเอง ขณะที่การรุกคืบของโซเชียลมีเดียและนิวมีเดียก็ทำให้ผู้ใช้สามารถเป็นได้ ทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารได้ในคราวเดียวกัน สื่อจึงต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดทั้งในระดับผู้บริหารและตัวนักข่าว เพื่อให้องค์กรอยู่รอด โดยจะต้องรู้จักกลัวตาย กลัวไม่มีอนาคต ขณะเดียวกันต้องปรับวิธีการนำเสนอข่าวให้มีความครบวงจรรอบด้าน เป็นห้องข่าวดิจิทัลที่รวมศูนย์ ประการสำคัญต้องสามารถนำเสนอผ่านสื่อได้หลากหลายประเภทอีกด้วย ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การสู้รบในสนามสื่อมวลชนนั้น นอกจากเรื่องความอยู่รอดของสื่อเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ “ความรับผิดชอบ” เพราะต่อให้ตนเองอยู่รอด แต่หากสังคมอยู่ไม่ได้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดี ฉะนั้น คำถามคือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดแบบใดถึงจะดี และหลงเหลือความนับถือตนเองอยู่บ้าง ภายใต้เงื่อนของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด “โจทย์สำคัญที่คนทำงานสื่อต้องครุ่นคิดว่าจะวางตัวอย่างไร เมื่อสื่อมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของคนในประเทศ ทั้งนี้ สื่อต้องไม่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับลูกของเอเจนซี่โฆษณา ไม่กระโจนไปกับกิเลสโลภทั้งหลายที่เข้ามาชักจูง เพราะไม่เช่นนั้นจะแยกไม่ออกระหว่างสื่อกับการตลาด” สุทธิพงษ์ กล่าว และว่า สื่อต้องมีสำนึกใหม่ร่วมกันในการลดกิเลสโลภ เสียสละ แบ่งปันบางส่วน เพื่อให้เกิดดุลยภาพ โดยต้องปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากกิเลส หลุดพ้นจากการติดสินบนใต้โต๊ะ มีความเที่ยงธรรม รวมทั้งพัฒนาความสามารถของตนเอง ส่วนนางสาวนิรมล กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะที่คลุกคลีกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานว่า คนที่เป็นสื่อมวลชนไม่ควรนำความคิด ซึ่งมีลักษณะเป็น “สูตรสำเร็จ” ของคนใดคนหนึ่งมาเชื่อมโยงเป็นความคิดของตนเองและนำมาผลิตซ้ำ แต่สื่อต้องมีความรู้ความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงได้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากทิศทางของโลกในอนาคตกำลังผันผวนทั้งด้านคน สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากสื่อไม่รู้ต้นทาง ความเป็นมาของสิ่งต่างๆ รวมถึงยังไม่มีความตระหนักก็จะตามไม่ทัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net