รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคในนโยบายด้านต่างๆ ดังคำแถลงของคณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่แถลง ต่อรัฐสภา ในวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ 5 ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสุขภาพของประชาชน ความมั่นคงของชีวิตและสังคม และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในภาคเอกชน โดยกล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ การส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ และการป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนัยดังกล่าวหากสามารถกำหนดรูปธรรมที่จะดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคและ การส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลก็จะทำให้สังคมเข้าใจและเห็นประโยขน์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค พบว่า มี ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นวาระค้างพิจารณาอยู่ในสภาฯ ซึ่งจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ขึ้นกับการยืนยันของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 153 ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่ค้างสภาจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภานัดแรก ทั้งนี้พบว่า กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ที่ค้างการพิจารณา 4 ฉบับ แบ่งตามลักษณะของขั้นตอนที่ค้างการดำเนินการ ดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่ผู้บริโภคเฝ้ารอคือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. 2. ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการสภาฯ พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.. 3. ร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุระเบียบวาระเพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภา คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. กล่าวสำหรับ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. มีความแตกต่างในนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไม่พบว่ามีการระบุถึงการเร่งรัดการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการระบุถึงเรื่องดังกล่าวในนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆมาโดยตลอด ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 61 ระบุให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคให้เสร็จสิ้นหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลชุดแรกที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยข้อทํจจริงแล้ว หากนับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว และหากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนาถึง 14 ปี รัฐบาลจึงควรสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระฯ เพื่อให้สอดคล้องกับที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ร่าง พรบ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ได้ผ่านการรับรองจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา แต่ต้องหยุดไปเนื่องจากการยุบสภาและการเลือกตั้ง ทั้งนี้ โดยความเป็นจริงแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกือบทั้งหมดของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านปัจจุบันได้เคยโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับบนี้มาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้กฎหมายนี้ตกไป แต่น่าจะช่วยกันทำความเข้าใจกับรัฐบาลถึงสาระและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงกฏหมายนี้ โดยที่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบมอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีและ องค์กรอิสระต่างๆเป็นผู้เสนอ แต่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ รวม 117 ฉบับ ไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า จะสมควรร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวตกไปโดยเสียเวลาเปล่าเและเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการให้เสร็จในหนึ่งปีภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รัฐบาลจึงควรเร่งยืนยันกฏหมาย ร่าง พรบ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ที่ผ่านการรับรองจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และ เป็นกฎหมายที่ประชาชนกว่าหมื่นคนได้ร่วมกันสนับสนุนและเสนอต่อสภาฯให้พิจารณา ทั้งนี้หากไม่มีการรับรองโดย ครม ในวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมาย ก็จะต้องเริ่มใหม่หมด เป็นการสูญเสียความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงขอชวน รัฐบาลใหม่ที่มีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ยืนยันรับรองกฎหมายต่างๆที่นำเสนอโดยภาคประชาชนหมื่นชื่อ ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. และ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. ที่มีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคม อย่างแข็งขัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท