เสวนา “กะเหรี่ยงแก่งกระจาน : สิทธิมนุษยชนและปัญหาการจัดการป่าไม้”

วันที่ 8 ก.ย.2554 กลุ่มวิจัยความขัดแย้งและพหุวัฒนธรรมนิยม จัดเสวนาหัวข้อ “กะเหรี่ยงแก่งกระจาน : สิทธิมนุษยชนและปัญหาการจัดการป่าไม้” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีนักวิชาการสังคมศาสตร์ ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, ผศ.ชูพินิจ เกษมณี และวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ร่วมอภิปราย

การเสวนาครั้งนี้ มีชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอพยพจากป่าแก่งกระจานเดินทางมาร่วมฟังด้วย โดยคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงพื้นเมือง อายุ 103 ปี เดินทางมาพร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่งจากบ้านโป่งลึก บางกลอย จ.เพชรบุรี

นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย หมู่ 1 เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปขับไล่ชาวบ้านโดยไม่บอกกล่าว และได้เผาบ้านและยุ้งข้าวของชาวบ้านตั้งแต่ปฏิบัติการ 3 ครั้งแรก

“บางทีเขาไปอาศัยนอน อาศัยบ้านชาวกะเหรี่ยง พอถึงตอนเช้ากินข้าวด้วยกัน เสร็จแล้วไล่พวกออกจากบ้านแล้วก็เผาบ้านทิ้งเลย เป็นลักษณะอย่างนี้ ถ้ามีไก่ มีหมู เขาจะยิงทิ้ง เอามากิน เหมือนไม่มีเจ้าของ” นายกระทงกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยง 57 ครอบครัวซึ่งถูกอพยพออกจากป่าตั้งแต่ปี 2539 ส่วนหนึ่งย้อนกลับเข้าไปทำกินในป่าอีกนั้น นายกระทงกล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่จัดสรรที่ทำกินให้ไม่ครบ มีเพียง 47 ครอบครัวที่ได้ที่ทำกิน ส่วนอีก 10 ครอบครัวจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีที่ทำกิน และมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ลงจากป่ามา เพราะรู้ว่าจะไม่มีการจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยรองรับให้

เช่นเดียวกับ นายนิรันดร์ พงศ์เทพ ประธานสภา อบต.ห้วยแม่เพรียง ซึ่งได้เดินทางไปกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปฏิบัติการอพยพชนกลุ่มน้อยครั้งที่ 1 เล่าว่าครั้งนั้นได้พบชาวบ้านเพียงบางส่วน และเจ้าหน้าที่เจรจาให้ชาวบ้านอพยพลงมาโดยปฏิเสธที่จะจัดสรรที่ทำกินให้ ต่อมาในปี 2554 เจ้าหน้าที่ขึ้นไปอพยพชาวบ้านโดยไม่มีการเตือนก่อนการเผา จากนั้นก็มีชาวบ้านถูกจับกุมและถูกเผาบ้าน

“ทุกวันนี้ชาวบ้านทำกินได้ไม่ได้ก็ต้องอยู่ ที่กลับไปก็เพราะว่าที่ที่จัดสรรบางส่วนทำกินไม่ได้ เป็นหินเป็นลูกรัง เป็นที่ลาดชัน เขาต้องกลับไปถิ่นฐานเดิม ส่วนหนึ่งก็ไม่มีที่ทำกิน พอกลับไปแล้วถูกหน่วยงานไปเผา ไม่ใช่เผาครั้งนี้ครั้งแรก เผากันหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะอยู่กันข้างล่างจะไม่ค่อยรู้ แต่เวลามีการขึ้นไปผลักดัน จะมีการเผาอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่มีข่าวคราว ชาวบ้านไม่กล้าไปร้องเรียน เพราะไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร” นายนิรันดร์กล่าว

ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ใช้คำพูดกับชาวบ้านว่า ชนกลุ่มน้อย กองกำลังเคเอ็นยู การพูดเรื่องยาเสพติด การกล่าวว่าชาวบ้านเป็นกองกำลังต่างประเทศ เป็นชนเผ่าสัญชาติกะหร่างนั้น เป็นกระบวนการทำให้เป็นอื่น เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่ามนุษย์ (Dehumanization) ซึ่งนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการและการเผาของเจ้าหน้าที่

วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มองว่าเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อพยพและเผาบ้านชาวบ้านเกิดจากความไม่เข้าใจของ เจ้าหน้าที่ใน 4 ประการคือ ไม่เข้าในวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่เข้าใจวิธีการจัดการป่าโดยปรัชญาตะวันออก ไม่เข้าใจว่ากฎหมายที่ใช้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เข้าใจพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของตนเอง

วีรวัธน์ กล่าวว่าวิธีคิดในการจัดการอุทยานแห่งชาติของไทย ซึ่งลอกแบบมาจากอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone ของอเมริกา ทำให้มองป่าเป็นสถานที่พักผ่อนอันสวยงาม และไม่สนใจความรู้ในการจัดการป่าของคนพื้นเมือง มีการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในการจัดการป่า และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการผูกขาดการจัดการป่าให้อยู่ในมือของรัฐ

ช่วงท้ายวีรวัธน์ เสนอแนวทางการจัดการป่าที่ยั่งยืนว่า 1) ต้องยอมรับว่าป่าทุกแห่งในประเทศล้วนมีคนอยู่มาแล้วทั้งสิ้น 2) ค้นหาวิธีการจัดการป่าแบบไทยหรือแบบตะวันออก ที่มองคน ป่า ดิน น้ำ สัตว์ป่า แบบองค์รวม เช่น เขตอภัยทาน หรือวัดป่า 3) ไม่มุ่งตอบสนองในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่มุ่งตอบสนองต่อการรักษาความเชื่อ วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของคนท้องถิ่น และ 4) มีการจัดการป่าที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการจัดการแบบมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท