Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (8 ก.ย. 54) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังจาที่ประชุมพิจารณ์กระทู้ถามสดเสร็จสิ้น ได้รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี2553 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือทีวีไทย หรือไทยพีบีเอส ซึ่งการอภิปรายของสมาชิกได้แสดงความเห็นต่อบทบาทและการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างกว้างขวางต่อการแสดงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน โดยทั้งนายชวน หลีกภัย และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายบทบาทการทำงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ทั้งนี้ยังมีการอภิปรายโดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วย ไฮไลท์ารอภิปรายของจิรายุ ห่วงทรัพย์ และสุนัย จุลพงศธร ในรัฐสภา เมื่อ 8 ก.ย. 54 (ที่มา: เรียบเรียงใหมจาก Youtube.com/fazhi2006 [1]. [2] โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ อภิปรายว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 มีไอทีวีเป็นทีวีเสรีเกิดขึ้น และในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นคนแก้สัญญาสัมปทานเปิดให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อแก้ไขภาวะขาดทุน กลุ่มชินคอร์ปจึงเข้ามา ไม่ได้เป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อาจเพราะเป็นชื่อที่บางคนไม่ชอบและหาว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณแทรกแซงสื่อ แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ดูแลสื่อทั้งสิ้น หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐบาล คมช.เรียกค่าเสียหายไอทีวี 1 แสนล้านบาท ไม่มีจ่ายก็จอดำจากคนมีอำนาจที่กดรีโมทไทยพีบีเอสหน้าจออาจมีความชื่นชม ว่ามีสารคดีสาธารณะ แต่หลังจอมีกระบวนการสอบเข้าที่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ทราบว่า ป.ป.ช. สตง. เข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ เพราะพูดกันมากกว่ามีกลุ่มคนที่ผลิตรายการที่ได้ผลิตรายการแบบซ้ำๆ ต้องตรวจสอบว่าเป็นคนของใครหรือไม่ เพราะยิ่งกว่าสถานีโทรทัศน์ลับแล สถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส มีการใช้เงินของคนที่ดื่มสุราต้องเสียภาษีปีละ 2,000 ล้านบาท โดยในปี 2552 239 ล้านบาทเป็นงบประมาณจากภาษีสุรา และสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นหนี้ท่าน โดยปี 2552 กรมสรรพสามิต จ่ายเงินให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสปีละ 1,798 ล้านบาท รวมทั้ง 2 แหล่งงบประมาณ เป็นเงิน 2,038 ล้านบาท ปี 2553 ได้งบประมาณ 2,097 ล้านบาท “ผมอยากเรียกร้องให้สภาแห่งนี้ช่วยพิจารณาว่า เป็นไปได้ไหม เราร่างกฎหมายแก้ไข เลิกเสียทีเถอะ มันยังไม่ถึงเวลา ช่อง 11 มี ดูแลกันได้ไหม ไทยพีบีเอส สมัยก่อนมีช่อง 11 แล้ว ทำไมต้องเพิ่มทีวีแบบนี้ขึ้นมาอีกช่อง ผมไม่เห็นด้วยแต่ต้น ท่านจะไปเขียนกฎหมายอย่างไรก็แล้วแต่ก็ว่ากันไปประเทศมันเปลี่ยนไปตามจังหวะชีวิตของโลก ท่านบอกจะเดี๋ยวจะมีการแทรกแซงสื่อ อ้าว แล้วที่เป็นอยู่แบบนี้นี่มันอย่างไรครับ ท่านช่วยอธิบายให้ผมฟังหน่อยครับว่า แนวคิดในการทำงานแบบนี้ ถ้าเป็นทีวีปกติก็เอาไปเป็นของรัฐ ทุกวันนี้ทีวีเป็นของรัฐทุกช่อง ทีวีบางช่องก็พยายามทำตัวเป็นกลางก็ว่ากันไป แต่ไทยพีบีเอส ผมรู้สึกไม่มีความสุขที่จะจ่ายปีละ 2,000 ล้านบาท และปีนี้ใช้ 1,965 ล้านบาท และถ้าปีหน้าเขาจะพิจารณารายการใหม่ จะทำเรื่องผู้ก่อการร้าย ทำเรื่องคนหล่อหน้าชั่วที่เขาพูดกันในสภาเมื่อวานนี้ แล้วต้องขออีก 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท สภาแห่งนี้ไม่ต้องจ่ายหรือครับ” “สุดท้าย ท่านผู้อำนวยการ ท่านคณะกรรมการของไทยพีบีเอส ผมอยากให้ท่านเป็นทีวีเสรีจริงๆ เอาล่ะ 10 คนบริหาร 10 หุ้น อาจจะทำไม่ได้ แต่อย่าได้โยงเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องครับ ถ้าประเทศไทยมีโทรทัศน์แบบนั้นได้ ท่านเป็นแบบอย่างน้อยก็ห่างอังกฤษ 20 ปี แบบบีบีซี แต่ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาจริงๆ ท่านพยายามบอกว่าปลอดการแทรกแซง มันก็เห็นกันอยู่นี่แหละครับ สุดท้ายผมขอขอบคุณที่ประเทศไทยยังมีโทรทัศน์ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกช่วยพิจารณาในรายละเอียดนอกจากที่เราได้รับกันมาแล้วเราอ่าน มันยังมีทั้งหน้าจอ หลังจอ และกลางจอ” นายจิรายุ อภิปรายตอนหนึ่งในสภา ด้านสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าเรื่องไอทีวีเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดที่ต้องรู้ ว่าระบบธุรกิจในประเทศนี้มีระบบธุรกิจหนึ่งที่เรียกว่าทุนนิยมขุนนาง ทำธุรกิจอะไรก็ไม่เคยขาดทุน พอจะขาดทุนก็ยัดขายทักษิณ ขายชินคอร์ป เขาจะขึ้นเป็นนายกฯ ก็ต้องรับ ทำไมรับ ทำไมต้องขาย ก็เพราะบริหารขาดทุน ใครเป็นแกนนำบริหารก็พี่ชายคุณเทพชัย หย่อง คุณสุทธิชัย หยุ่น พอรับชินคอร์ปซื้อมาด้วยความจำเป็น พอรับเข้ามา ก็เลยรับศัตรูมากลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเนชั่น นายสุนัย อภิปรายด้วยว่า ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าไทยพีบีเอสเป็นผลผลิตของเผด็จการ เงินที่ใช้ก็มาจากภาษีบาป เหล้า บุหรี่ และรถถัง ซึ่งเป็นบาปที่สุด ส่วน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ชุดใหม่ ทรัพย์สินอยู่ในมือทหารเกือบทั้งประเทศ พล.อ.สนธิ จริงไหมครับ วิทยุทหารหมด โทรทัศน์ทหารหมด กรรมการใน กสทช. คนจับตาว่ามาจากไหน เพราะเหมือนมีตัวแทนทหารนั่งอยู่ สุนัยอภิปรายว่า หลังรัฐประหารปี 2549 มีการสร้างเครือข่ายของสิ่งที่เรียกว่า “สื่อเลือกข้างขึ้นมา” สื่อเลือกข้างเสื้อแดงมีที่ไหนเมื่อก่อน ไม่มี ท่านไปสร้างระบบเผด็จการ ชื่นชมระบบเผด็จการ ใครจะไปทนได้ สุนัยคนหนึ่งทนไม่ได้ ท่านพยายามจะโจมตี “นักธุรกิจการเมือง” ท่านครับ ธุรกิจการเมืองมันต้องใช้สตางค์ ต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และนี่จะไม่พูดถึง “ธุรกิจทหารการเมือง” เลยหรือประเทศนี้ ไอ้ที่กินคลื่นวิทยุมายาวนาน ที่ไปนั่ง พล.อ. ต่างๆ ไปนั่งบริหารในธนาคารต่างๆ นั่นไม่ใช่ธุรกิจทหารการเมืองหรอกหรือ ตกลงเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือแขกยามคุ้มครองทหาร จนระบบธนาคารพังเมื่อปี 2540 หลังถูกกัดกินด้วยระบบทุนนิยมขุนนางอย่างนี้มาอย่างยาวนาน การยึดไอทีวี ที่อ้างว่าเป็นหนี้แล้วต้องยึดเขา เกิดมาเคยเห็นไหมครับ ทวงหนี้แสนล้านเจ็ดวัน รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์) โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวงหนี้แสนล้านภายใน 7 วัน ถ้านั่งเบิกก็ไม่รู้จักเบิกอย่างไร เจตนาจะยึดเขาพูดกันตรงๆ ดีกว่า นายสุนัยอภิปรายว่า ระบบต่างๆ มีปัญหาหมด ระบบนายทุนยังถูกด่าได้ แต่ระบบทุนขุนนางถือปืนนั้น ยิ่งกว่าพันธมิตรฯ ขึ้นป้ายบอกประชาชน อย่าเลือกสัตว์เดรัจฉานเข้าสภา หาว่าพวกเราเป็นวรนุช แล้วพวกที่ขี่รถถังเข้าสภา ไม่อภิมหาสัตว์เดรัจฉานเลยหรือ และอยากถามว่าหลังจากการรัฐประหารใครได้ ประโยชน์นายสุทธิชัย หยุ่น หรือเครือเนชั่น ได้เข้าไปจัดผังรายการหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net