Skip to main content
sharethis

กลุ่มเยาวชนพม่า “เจเนอเรชั่น เวฟ” ลักลอบติดป้ายในย่างกุ้งและพื้นที่อื่นทั่วพม่า โดยเป็นป้ายที่พิมพ์รูปนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำและมีข้อความเรียกร้องให้ รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งมีกว่า 2 พันคนในปัจจุบัน 

กลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟลักลอบติดป้ายเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าเมื่อคืนวันที่ 12 ส.ค. โดยเจ้าหน้าที่พม่าได้รีบเข้ามาปลดป้ายดังกล่าวออกทันทีในคืนนั้น (ภาพ 1 ถึง 6) ขณะที่บางป้ายที่หลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่ ยังคงอยู่ที่ป้ายรถเมล์จนถึงตอนเช้า (ภาพที่ 7 ล่างสุด) (ที่มาของภาพ: กลุ่ม Generation Wave)

 

ประชาไท – เยาวชนพม่าในนามกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” (Generation Wave) ได้จัดการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีอยู่กว่า 2 พันคนในพม่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา

โบโบ” ตัวแทนกลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วงครบรอบเหตุการณ์ 8 สิงหาคม 1988 หรือ “8888” ทางกลุ่มไม่ได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึก แต่ในคืนวันที่ 12 ส.ค. สมาชิกของกลุ่มได้จัดการรณรงค์ใต้ดิน โดยทำการติดป้ายไวนิลที่เขียนข้อความว่า “บะหม่าปยี ลุดม็อกเย” หรือ “ปลดปล่อยพม่า” (Free Burma)

โดยในป้ายรณรงค์ยังพิมพ์ข้อความที่ระบุว่า “ประชาชนทั่วโลกยืนอยู่ ข้างประชาชนพม่า เพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ จงปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน” พร้อมพิมพ์ภาพนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกรัฐบาลจองจำ โดยกลุ่มรณรงค์ดังกล่าวได้นำป้ายรณรงค์ไปติดทับป้ายโฆษณาตรงที่หยุดรอรถ ประจำทางในกรุงย่างกุ้ง และพื้นที่อื่นๆ ในพม่ารวม 33 จุด

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่ารีบเก็บป้ายรณรงค์ดังกล่าวภายในคืนนั้น ทันที แต่มีบางป้ายที่หลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และถูกติดอยู่จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 13 ส.ค.

สำหรับกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อยู่ในพม่า ทำการรณรงค์และผลิตสื่อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ก่อตั้งเมื่อ 9 ต.ค. ปี 2550 หลังเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) ทั้งนี้กลุ่มเจเนอเรชั่น เวฟ มักทำการรณรงค์ด้วยการติดป้าย แจกแผ่นพับ พ่นสเปรย์หรือกราฟิตี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงฮิฟฮอฟเพื่อล้อเลียนรัฐบาลทหารด้วย

ทั้งนี้สมาชิกกลุ่ม “เจเนอเรชั่น เวฟ” ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าจับกุมอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากรัฐบาลถือว่ากิจกรรมของกลุ่มและกลุ่มเป็นการรวมตัวสมาคมที่ผิด กฎหมาย โดยขณะนี้ยังคงมีผู้ถูกจับกุม 15 ราย ส่วนใหญ่มักถูกจับกุมในข้อหารวมตัวเป็นสมาคมที่ผิดกฎหมาย ตามประกาศของสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) ฉบับที่ 6/88 ซึ่งเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2531 หรือ ค.ศ. 1988

ขณะที่ “เซยา ถ่อว์” (Zayar Thaw) ศิลปินฮิฟฮอฟและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มได้ถูกจับกุมเช่นกัน เมื่อ 12 มีนาคม ปี 2551 ในข้อหารวมตัวเป็นสมาคมที่ผิดกฎหมาย และครอบครองเงินตราต่างประเทศ โดยในขณะที่เขาจับกุม เขามีเงินสกุลบาท ดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิตของมาเลเซีย รวมกันเป็นเงินประมาณ 600 บาท โดยล่าสุดเขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้เขาทำการแสดงดนตรีในระหว่างการแสดง คอนเสิร์ตเมื่อต้นเดือนนี้

แม้ประธานาธิบดีพม่าเต็ง เส่ง ได้เชิญให้นางออง ซาน ซูจี เข้าพบเป็นครั้งแรกที่กรุงเนปิดอว์เมื่อ 19 ส.ค. และช่วงกลางเดือนนี้รัฐบาลได้อนุญาตให้นางออง ซาน ซูจี พบกับผู้สนับสนุนทางการเมืองของเธอที่เมืองพะโค แต่ประเทศพม่ายังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการ เมืองของประชาชน และจากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) หรือ AAPPB เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักโทษทางการเมืองในพม่ากว่า 1,995 คน

ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่ารายงานเมื่อ 28 ส.ค. ว่า สมาชิกรัฐสภาพม่าได้เรียกร้องไปยังประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ให้มีการนิรโทษกรรมทั่วไปแก่นักโทษที่ถูกจับตัวโดยไม่กระทำความผิดทั้งหมดใน ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 ส.ค.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net