“สมยศ” ร่อนจดหมาย หวังนักสิทธิ-นักสหภาพฯ ทั่วโลก จี้ไทยปล่อยนักโทษการเมือง

25 ส.ค. 54 – กลุ่มนักกิจกรรมได้เปิดเผยจดหมายของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกคุมขังไว้มาตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมา โดยในจดหมายระบุว่าเป็นการเขียนในวันที่ 20 ส.ค. 54 ซึ่งสมยศมีความคาดหวังว่านักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานทั่วโลก จะได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยต่อไป

   

 

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2554
 
ผมถูกจองจำอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมาด้วยข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือ ละเมิดต่อมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ผมขอขอบพระคุณทุกท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ร่วมกันแสดงความห่วงใย มาเยี่ยมเยือนที่เรือนจำและได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองใน ประเทศไทย
 
ผมได้ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงานมากว่า 20 ปี เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรอดพ้นจากความยากจน หิวโดย มีชีวิตความเป็นอยู่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาทิเช่น สิทธิการประกันสังคมในปี 2533 สิทธิการลาคลอด 90 วันได้รับค่าจ้าง และสิทธิการทำงานที่ปลอดภัยในปี 2536 สิทธิการได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง และประกันการว่างงานในปี 2546 สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และการนัดหยุดงานในปี 2548
 
สิทธิของผู้ใช้แรงงานในด้านต่าง ๆ เกิดจากการต่อสู้ที่เข้มแข็งของขบวนการแรงงาน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่าความก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานได้มาภายใต้ การเมืองประชาธิปไตย มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นมักจะทำลายสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างเช่น การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้นำแรงงานนายทะนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มฆ่าตาย มีการยกเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจำกัดสิทธิการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงาน ในขณะที่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้มีการจ้างงานเหมาค่าแรงขยายตัวมากขึ้น และมักจะกดค่าจ้างให้ต่ำอยู่เสมอ
 
ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้น ผมจึงไปเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยการจัดทำนิตยสารการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร เมื่อประชาชนได้รวมตัวกันเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการชุมนุมเดินขบวนหลายครั้งจนกระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างป่าเถื่อนในเดือนพฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ รัฐบาลได้สั่งปิดนิตยสารแล้วจับกุมผมไปขังไว้ที่ค่ายทหารจังหวัดสระบุรี โดยไม่มีความผิดเป็นเวลา 21 วัน
 
หลังจากได้รับการปล่อยตัวผมก่อตั้งนิตยสาร Red Power วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลด้านต่าง ๆ ได้เปิดโปงรัฐบาล ซึ่งให้สัญญาจะเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ 250 บาทเท่ากันทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2553 แต่ไม่ได้ทำตามสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เปิดโปงเบื้องหลังการสั่งฆ่าประชาชน 91 ศพ ในเดือนตุลาคม 2553 รัฐบาลสั่งปิดโรงพิมพ์ที่รับจ้างพิมพ์งานให้กับ Red Power ทำให้ผมต้องไปทำการผลิตที่ประเทศกัมพูชา
 
นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา มีประชาชนทุกสาขาอาชีพ อาทิเช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักกิจกรรมแรงงาน นักศึกษา นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ฯลฯ ต้องกลายเป็นนักโทษการเมืองในคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลายคนถูกซ้อมทุบตีในเรือนจำ หลายคนต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศหลายคนต้องถูกเนรเทศออกไปจากประเทศไทย
 
มีนักกิจกรรมแรงงาน 3 คนด้วยกันซึ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือ อาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ และภรรยา ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่อังกฤษ นางสาวจรรยา ยิ้มประเสริฐ หัวหน้าโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Compaign) ไม่สามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้อีกต่อไปอีกต่อไป นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training)
 
ประชาชนคนไทยถูกปลูกฝังให้ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยที่ใครก็ตามที่มีความเห็นแตกต่างไปจากนี้ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
 
ผมเป็นเพียงสื่อมวลชนที่เป็นเวทีความคิดอิสระที่ทุกคน ทุกฝ่าย มีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือกระทั่งมีความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบัน แต่ผลลัพธ์ก็คือ ผมถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
 
กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิด เห็นทางการเมือง และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวอีกด้วย อันเป็นการละเมิดต่อหลักปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
การถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมือง สูญเสียอิสรภาพในทุกด้าน ทำให้ชีวิตของผมเหมือนกับ “สัตว์เลี้ยงในกรงขัง” ผมได้รับความเจ็บปวดทุกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง นักโทษการเมืองคนอื่น ๆ หลายคนสูญเสียชีวิตครอบครัวและอาชีพการงานไปอย่างน่าเสียดาย
 
ผมได้รับทราบข่าวจากผู้มาเยี่ยมเยียนว่าเพื่อน ๆ นักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานทั่วโลกได้ร่วมกันประท้วงต่อรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าความหมายของประชาชนคนไทย และประชาชาติทั่วโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของสังคมสันติสุข ที่มีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
ผมเชื่อมั่นอย่างเต็มที่เปี่ยมว่าพลังแห่งความร่วมมือและการสมานฉันท์ สากลของสหภาพแรงงานและผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลกจะได้ร่วมกันเรียกร้องต่อ รัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นผลสำเร็จซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ ก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยต่อไป
 
 
ด้วยจิตใจสมานฉันท์
 
(นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท