Skip to main content
sharethis

TK park ระดมมันสมองส่งเสริมการอ่านในอาเซียน หวังการอ่านเปิดทางเชื่อมความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน, สิงคโปร์ปรับตัวรับมือเทคโนโลยีสื่อสาร ให้ดาวน์โหลดเรื่องสั้นอ่านบนมือถือ ลาวสะท้อนปัญหายังขาดแคลนบุคลากร หนังสือและห้องสมุด

วันที่ 24 ส.ค. 2554 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อ ‘Thailand Conference on Reading 2011’

โดย ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาอง์ความรู้ (สบร.) และผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ (TK park) กล่าวเปิดงาน เป็นการเปิดประตูสู่โลกแห่งประสบการณ์ด้านการอ่าน โดยวิทยากรชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอาเซียนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้

นางทัศนัยกล่าวว่า สำหรับการประชุมวิชาการประจำปีนี้ มีความคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้นำความรู้ไปขยายองค์ความรู้ด้านการ ส่งเสริมการอ่าน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้งของไทยและเพื่อนบ้าน นำไปต่อยอดและขยายผลเชิงนโยบาย และหวังว่าเนื้อหาสาระของการสัมมนาจะทำให้เข้าใจตนเองและเพื่อนบ้าน และเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือในการพัฒนาพลเมืองอาเซียน โดยรากฐานของการอ่าน อันนำไปสู่ความสามารถในการคิด วิเคราะห์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างยั่งยืน

การอ่านคือหนทางสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน
ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “คิดสร้างสรรค์ ด้วยการอ่าน” โดยระบุว่า เป้าหมายของการสัมมนาวิชาการครั้งนี้เป็นการอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจความ เป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งสามารถ “อ่าน” ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งจากหนังสือหรือแท็บเบล็ต

การพยายามทำความเข้าใจระหว่างกันของอาเซียนขณะนี้เหมือนการย้อนกลับไปสู่ อดีตเพื่อไปสู่อนาคต ซึ่งหนังสือที่เป็นคู่มือสำหรับทำความเข้าใจอาเซียนมีอยู่มากมาย เช่น หนังสือวิชาการเรื่องอุษาคเนย์ของ ดี.จี.อี.ฮอลล์ ที่คณะอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลเป็นภาษาไทย โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิโตโยต้า ประวัติศาสตร์ของอาเซียนชี้ให้เห็นว่าประเทศแถบนี้เคยเป็นประชาคมมาก่อน มีการเชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม เนื่องจากเป็นดินแดนที่ถูกขนาบระหว่างอินเดีย จีนและอาหรับ เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง เป็นที่ตั้งของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรจามปา อาณาจักรศรีวิชัยที่ มัชปาหิต ทวารดี พุกาม อังกอร์ สุโขทัย อยุธยา ซึ่งอาณาจักรเหล่านี้มีความเหมือนกันมาก มีความเป็นพราหมณ์ พุทธ มุสลิมปนกันไปหมด หลายชาติมีรากภาษาเขียนอย่างเดียวกัน คือ สันสกฤต

อย่างไรก็ตาม ใน คริสศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เมื่อตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทและเริ่มล่าอาณานิคม ทำให้เดินแดนแถบนี้แยกออกจากกัน มีความแตกต่างกันมากขึ้น มาถึงช่วงหลังสงครามเย็นคือ ช่วงเวลาที่ประชาคมอาเซียแสวงหาอิสรภาพอีกครั้ง ประเทศในอาเซียนจึงเริ่มคบหากันโดยอาเซียนถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1967 และเพิ่งเริ่มเป็นประชาคมอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1999 นี่เอง เมื่อกัมพูชาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศอันดับสุดท้าย

การอ่าน จะทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่อาเซียนพยายามร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด และเป็นโอกาสแห่งการกลับไปสู่ความเป็นประชาคมเดียวกันอีกครั้ง

สิงคโปร์ส่งเสริมการอ่านไฮเทค ให้ดาวน์โหลดเรื่องสั้นและนิยายไว้อ่านในมือถือ

เกียง โก๊ะ ไล ลิน (Mrs. Kiang-Koh Lai Lin) ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน (Reading Initiative) จากหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board of Singapore)ได้เล่าประสบการณ์ของสิงคโปร์ที่มีโครงการส่งเสริมการอ่านจำนวน มาก และตั้งแต่ริเริ่มโครงการ ในปี 2548 มีการจัดกิจกรรมไปแล้วกว่า 1,600 ครั้ง โดยสามารถเข้าถึงนักอ่านกว่า 160,000 คน ที่สำคัญ มีการชักชวนคนจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น คนขับรถแท็กซี่ ช่างทำผม ครู มาตั้งกลุ่มการอ่าน (Reading Circle) หรือชมรมการอ่าน (Reading Club) ในหมู่คนที่ทำอาชีพเดียวกัน โดยตัวเกียง โก๊ะ ไล ลิน เคยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานห้องสมุดเด็กและเยาวชน และปัจจุบันเป็นกรรมการของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ด้วย
เกียง โก๊ะ ไล ลิน กล่าวว่า ห้องสมุดมีความสำคัญต่อพลเมือง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมาก และสิงคโปร์เริ่มมีการวางแผนระบบใหม่ในห้องสมุด มีห้องสมุดเกิดขึ้นหลายแห่งแม้ในห้างสรรพสินค้า และในปี 2010 ก็เริ่มมุ่งเน้นความสำคัญของห้องสมุดดิจิตอล โดยคาดว่าและเมื่อ 2020 ก็คาดว่าจะมีห้องสมุดรูปแบบใหม่ออกมาให้ประชาชนได้ใช้บริการ ในขณะนี้ห้องสมุดในสิงคโปร์มี 22 แห่ง มีคนใช้ราว 27 ล้าน และมีการยืมหนังสือกว่า 33 ล้านเล่ม

ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน กล่าวว่าเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา หอสมุดสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการใหม่ คือโครงการที่สนับสนุนการอ่านหนังสือในรูปแบบของดิจิตอล โดยผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดเรื่องสั้นหรือนิยายเข้าไปอ่านในโทรศัพท์มือถือ ได้ จากการดำเนินโครงการ พบว่าได้เสียงตอบรับค่อนข้างดีมาก โดยมีการโหลดหนังสือดิจิตอลไปอ่านแล้วกว่า 45,000 ครั้ง กลุ่มผู้อ่านหลักเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้ใหญ่อายุน้อย

"เด็กรุ่นใหม่ชอบอ่านจากมือถือ เราจึงทำให้สามารถอ่านเรื่องสั้นผ่านมือถือได้ ตอนนี้พวกเขาไม่ต้องมาห้องสมุด แต่เขาสามารถดาวน์โหลดเรื่องสั้นไปอ่านบนมือถือได้" เกียง โก๊ะ ไล ลิน กล่าว

เธออธิบายถึงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวของห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ เธอกล่าวว่า มีเป้าประสงค์หลักๆ อยู่สี่อย่าง อย่างแรก คือการส่งเสริมพฤติกรรมการอ่าน ส่งเสริมความสนใจเฉพาะด้าน และความเท่าทันเรื่องข้อมูลข่าวสาร โดยมีโครงการรณรงค์ระดับชาติให้ประชาชนสามารถอ่าน เขียน และถ่ายทอดได้ อย่างที่สอง คือการสร้างห้องสมุดสำหรับยุคสมัยหน้า เป็นการทำให้การอ่านเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คน ซึ่งมีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้มากขึ้น และมุ่งขยายการเข้าถึงห้องสมุดออกสู่ชุมชนต่างๆ ด้วยห้องสมุดเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเพิ่มเติมพื้นที่แสดงศิลปะ นิทรรศการ และวัฒนธรรมเข้าไปในห้องสมุดด้วย

อย่างที่สาม คือการสร้างความเป็นเลิศทางเนื้อหาเกี่ยวกับสิงคโปร์และภูมิภาค โดยในปัจจุบันทางห้องสมุดได้ริเริ่มโครงการ “I remember SG” ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับสิงคโปร์ เพื่อหวังให้ประชาชนรำลึกอดีตและประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ร่วมกัน โดยเราหวังว่าจะรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับความทรงจำของสิงคโปร์ห้าล้านชิ้น และนำมาจัดแสดงเมื่อถึงปี 2015 ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงขณะนี้ สามารถรวบรวมได้สามร้อยกว่าชิ้นแล้ว และอย่างสุดท้าย คือโครงการห้องสมุดดิจิตอล ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอำนวยให้คนเข้าถึงข้อมูลให้ง่ายมากขึ้น และช่วยให้คนช่วยรวมตัวกันเป็นชมรมอ่านหนังสือได้มากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้ เกียงโก๊ะไลลินอธิบายถึงแผนระยะสิบปีของการพัฒนาห้องสมุดว่า จะมุ่งให้ห้องสมุดสิงคโปร์มีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการสำหรับผู้ อ่านกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นการเข้าหากลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น และมีทิศทางการพัฒนาห้องสมุดไปในทางดิจิตอลมากขึ้น

ลาวเล่าประสบการณ์ ถมช่องว่างและความเท่าเทียมในการเข้าถึงหนังสือ
สมเพ็ด พงพาจัน ผู้อำนวยการโครงการ Room to Read สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ ช่องว่างและความเท่าเทียมในการเข้าถึงหนังสือ โดยเล่าถึงโครงการ Room to Read เพื่อส่งเสริมการเข้สถึงหนังสือของเยาวชนลาว ซึ่งเกิดจากผู้บริหารของไมโครซอฟท์ โดยพัฒนาใน 8 ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น กัมพูชา ลาว เวัยดนาม เนปาล เป็นอาทิ โดยความเชื่อมั่นว่าการอ่านจะทำให้คนมีคุณภาพ รวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นเอกราชได้

โครงการ Room to ส่งเสริมการเรียนรู้โดยการสร้างโรงเรียน สร้างห้องสมุด หรือทำห้องสมุดเฉพาะ ส่งเสริมการผลิตสื่อการสอน และการจัดทำหนังสือทีเป็นภาษาท้องถิ่น โดยที่ประเทศลาวมีการจัดทำห้องสมุดแล้วเสร็จไปแล้วร้อยกว่าแห่ง จากโรงเรียนที่มีอยู่สี่พันกว่าแห่ง มีการส่งเสริมการศึกษาของเด็กหญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย ให้เด็กผู้หญิงสามารถเรียนจนจบมัธยมปลาย

อย่างไรก็ตาม ยังคงประสบปัญหามีหนังสือแต่เด็กเข้าไม่ถึง ทำให้เด็กไม่ได้อ่าน หรือมีหนังสือที่เด็กอ่านแล้วไม่เข้าใจ
สมเพ็ดระบุว่า การทำงานยืนอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าคนลาวไม่ได้น้อยหน้าคนอื่นในด้านความ รู้ความสามารถ และต้องพัฒนาเด็กหญิงให้มีการศึกษาอย่างน้อยที่สุดมัธยม เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาของลาวผลิตคนที่มีคุณภาพ ตัดสินใจได้ แยกแยะข้อมูลความจริงได้ ประเทศลาวอาจจะล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หนังสือยังน้อย และห้องสมุดยังน้อยเมื่อเทียบกับโรงเรียนที่มีอยู่ในประเทศ แต่ลาวก็มีความตั้งใจและมีความฝันใหญ่ และจะไม่ยอมแพ้

"เราอาจจะเอาประเทศเราไปเทียบกับญี่ปุ่นหรืออเมริกาไม่ได้อย่างแน่นอน แต่เราจะยอมอยู่ที่เดิมหรือ ประเทศเจริญเขามีปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่จะพัฒนาเราก็ต้องทำให้ดีเพราะเราเรียนรู้จากเขา เราได้เปรียบกว่า เราต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับดูแลสิ่งแวดล้อม เราต้องไม่ให้มีปัญหาแบบเขา ในอีก 50 ปีข้างหน้าเราต้องพัฒนาและเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว" สมเพ็ดกล่าว

ในตอนท้าย ผู้อำนวยการโครงการ Room to Read จากลาวกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลลาวว่า ปัจจุบันนี้ รัฐบาลลาวส่งสัญญาณไฟเขียวให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานส่งเสริมการอ่าน โดยองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนใหญ่ได้รับทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เํธอย้ำว่าการอ่านจะทำให้คนเท่าเทียมกันได้ เพระการอ่านจะช่วยระดับชีวิตของคนอ่านหนังสือ

คนไทยไม่อ่านภาษาอังกฤษ ไม่เข้าใจภาษาเพื่อนบ้าน จะร่วมเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ รองเลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย กล่าวว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว มีการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกพบว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของคน 16 ล้านคนอ่านหนังสือไม่ออก รัฐบาลก็ทุ่มเทรณรงค์การอ่านหนังสือ ปัจจุบันอัตราการไม่รู้หนังสือก็ยังอยู่คือ 2 เปอร์เซ็นต์ จาก 67 ล้านคน และมีคนไม่รู้หนังสืออายุน้อยลงเรื่อยๆ

องค์กรประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยพบว่าเยาวชนไทยเพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่อ่านหนังสือแล้วเข้าใจเนื้อหา สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้แปลว่าเกิดช่องว่าวงหรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอะไรใน สังคม แต่สะท้อนให้เห็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งๆ ที่ช่องว่างในเรื่องโอกาสเข้าถึงการศึกษาของไทยไม่ได้กว้างมาก และไม่รุนแรงเท่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความเหลื่อมล้ำอื่นๆ แต่มีอุปสรรคที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสือไม่ได้มากเท่าทีควร ทั้งนี้เมื่อสำรวจตลาดหนังสือไทยก็จะพบว่าหนังสือที่ขายดีที่สุด คือหนังสือเรื่องย่อละคร หนังสือพิมพ์กีฬา นี่คือปัญหาว่าเยาวชนไทยกำลังอ่านอะไร
ดร. ชัยยศกล่าวว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของการอ่านนั้น ประชากรในเมืองแทบจะไม่เป็นปัญหา มีร้านหนังสืออยู่จำนวนมาก ขณะที่ในต่างจังหวัด มีห้องสมุดในหลักพันเท่านั้นจากจำนวนแปดพันตำบล แสดงให้เห็นว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อการที่คนจะอ่านได้

ปัญหาโครงสร้างการอ่าน ที่สำคัญคือ หนังสือที่มีในตลาดเป็นหนังสือที่ผลิตตามความต้องการของตลาดอย่างเสรี เป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง เพื่อความสนุกสนาน แต่เราไม่เคยมีมุมมองว่าการอ่านจะสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ โดย ดร.ชัยยศเสนอให้มีองค์การที่จะตรวจสอบคุณภาพหนังสือ ร่วมมือกับนักเขียนให้เขียนหนังสือที่ดีออกมาให้คนไทยอ่าน โดยยกตัวอย่าง ของเกาหลีที่สามารถใช้วัฒนธรรมในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ดร. ชัยยศตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นอกจากคนไทยอ่านหนังสือที่เน้นความบันเทิงแล้ว ยังไม่อ่านภาษาอังกฤษ ทั้งที่ การรณรงค์ก่าวไปสู่คงวามเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ระบุไว้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ซึ่งน่าสงสัยว่าคนไทยจะสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านเราได้หรือไม่ เพราะเพื่อนบ้านเช่น คนลาว หรือกัมพูชา สามารถเข้าใจภาษาไทย แต่คนไทยกลับไม่เข้าใจภาษาเพื่อนบ้าน ทั้งยังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคอีกประการของการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เช่นกัน

ท้ายที่สุด ดร.ชัยยศกล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการอ่านไม่ใช่แค่ทักษะเท่านั้น แต่ต้องยกระดับไปสู่วัฒนธรรมแล้ว ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เคยชิน ต้องปลูกจิตสำนึกใหม่ และต้องเห็นความสำคัญของการอ่าน

การจัดการประชุมวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อ ‘Thailand Conference on Reading 2011’ มีวิทยากรจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งเสริม การอ่าน ได้แก่ วิทยากรจาก ลาว ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และมีวิทยากรจากประเทศเกาหลีใต้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วย การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net