Skip to main content
sharethis

22 สิงหาคม พ.ศ.2554 เวลา 14.00 น. อนุกรรมการสิทธิฯ เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อตรวจสอบกรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องการปรับปรุงตลาดดอยมูเซอ ทั้งนี้ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ชุมชนมูเซอ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ได่ออกแถลงการณ์และข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ดังนี้ 0 0 0 แถลงการณ์ข้อเสนอการบริหารจัดการตลาดดอยมูเซออย่างมีส่วนร่วม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวเขามูเซอกับหน่วยงานบริหารจัดการส่วนจังหวัด อันสืบเนื่องมาจากทัศนคติที่ต่างกันในการดำเนินโครงการปรับปรุงพัฒนาตลาดดอยมูเซอ อ.แม่สอด จ.ตาก จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวแจ้งความดำเนินคดีขึ้นนั้น ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งต่อพ่อค้าแม่ค้าคนเมืองที่ขึ้นมาค้าขายบนตลาดดอยมูเซอ และชุมชนชาวมูเซอ ๒ หมู่บ้าน (บ้านห้วยปลาหลด บ้านมูเซอใหม่) ๖ ป๊อก จำนวน ๒,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่นี้ และมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการก่อเกิดและพัฒนาตลาดดอยมูเซอ ตลาดดอยมูเซอ เป็นพื้นที่กลางที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนให้ดำเนินการสร้างภายใต้แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นในพื้นที่สูงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นตลาดจึงเป็นกลไกกลางในการจัดการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนมูเซอค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนสามารถเลิกปลูกฝิ่น เลิกทำไร่เลื่อนลอย เลิกบุกรุกพื้นที่ป่า มาสู่การปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงมีความหมายความสำคัญมากกว่าสถานที่ค้าขายหรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเป็นพื้นที่ที่ความหมายทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยของชาวมูเซอในพื้นที่ดอยมูเซอแห่งนี้ด้วย หากแต่ทางจังหวัดกลับต้องการปรับปรุงตลาดให้มีความมีเป็นตลาดการค้าขายอย่างจริงจัง และจัดสรรพื้นที่ให้คนเมืองในการเข้ามาค้าขาย โดยละเลยประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัยเดิม จากมุมมองความคิดเห็นที่ต่างกันนี้เอง ชาวมูเซอที่ได้รับผลกระทบจากโครงการปรับปรุงตลาดดอยมูเซอ จึงได้รวมกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวมูเซอจำนวนกว่า ๓๐๐ คน จัดตั้งกลุ่มพัฒนาตลาดดอยมูเซอ เพื่อหวังให้กลุ่มเป็นองค์กรชุมชนที่จะมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และพัฒนาข้อเสนอนำไปสู่การบริหารจัดการร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กลุ่มพัฒนาตลาดดอยมูเซอจึงมีข้อเสนอในการบริหารจัดการตลาดดอยมูเซออย่างมีส่วนร่วมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดังนี้ ๑.ในระหว่างการปรับปรุงตลาดดอยมูเซอ ทางจังหวัดต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับปรุงตลาดดอยมูเซออย่างมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องมาภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ ตัวแทนจากจังหวัด ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าชาวมูเซอ ตัวแทนชุมชนมูเซอในพื้นที่ปัญหา ตัวแทนพ่อค้าแม่กลุ่มคนเมือง ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยาน พืชสวนดอยมูเซอ กรมทางหลวง วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยล้านนา จ.ตาก และนักวิชาการอิสระ โดยคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับปรุงตลาดดอยมูเซออย่างมีส่วนร่วม ควรมีบทบาทหน้าที่ในการระดมความคิดเห็นและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคลี่คลายสถานการณ์และหาแนวทางการจัดการอย่างมีส่วนร่วม ๒.ในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าว กลุ่มพัฒนาตลาดดอยมูเซอเสนอให้อนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินป่าไม้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการไกล่เกลี่ยปัญหา ๓.ภายหลังการปรับปรุงตลาดดอยมูเซอเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตลาดอย่างมีส่วนร่วม ที่มีโครงสร้างการดำเนินงานจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดดอยมูเซอ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรร การเข้าถึงสิทธิ การบริหารจัดการตลาดอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป ๔.ปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจระหว่างชาวเขามูเซอและคนเมืองนั้นสั่งสมมาเป็นเวลานาน ทั้งเรื่องวิถีชีวิตที่ต่างกัน ขนบ จารีตความเชื่อต่างๆ ที่ทำให้มักจะเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ กลุ่มพัฒนาตลาดดอยมูเซอเสนอให้ทางจังหวัดจัดหรือสนับสนุนให้เกิดเวที หรือ กระบวนการในการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มอย่างมีส่วนร่วมและสันติ ที่ไม่ใช่เฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องตลาดดอยมูเซอเท่านั้น แต่รวมถึงกรณีปัญหาอื่นๆ ด้วย โดยจัดตั้งคณะทำงานลดความขัดแย้งขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจังหวัด ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ ตัวแทนสถาบันการศึกษา วิชาการ ตัวแทนท้องถิ่น เป็นต้น กลุ่มพัฒนาตลาดดอยมูเซอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net