เมื่อ 'คำ ผกา' รู้เรื่องมิติทางสังคมของพุทธศาสนาดีกว่าพระ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเห็นวิจารณ์กันในเฟซบุ๊ค ทำนองว่า คำ ผกา ด่าท่าน ว. วชิรเมธี พระไพศาล วิสาโล แล้วลามปามมาถึงท่านพุทธทาสอีก ถามว่าคำ ผกา รู้พุทธศาสนาจริงหรือเปล่า รู้ธรรมะหรือเปล่า ปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ไม่รู้จริง ไม่ปฏิบัติ วิจารณ์มั่วๆ ไปเรื่อย อะไรประมาณนี้ คำถามคือ เวลาคุณอ่านพระไตรปิฎกคุณไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกพระพุทธเจ้าด่าบ้างหรือครับ คือถ้าคุณโกรธแค่คำวิจารณ์ของคำ ผกา ในพระไตรปิฏกมีข้อความที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “บุคคลใด ถ้ายังจิตให้โกรธแม้ต่อโจรที่กำลังใช้อาวุธทำร้ายร่างกายหรือประหารชีวิต บุคคลนั้นย่อมไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของตถาคต” ข้อความในพระไตรปิฏกมีคำด่า “คนเห็นต่าง” เยอะแยะไป เช่น ด่าว่าพวกที่ไม่เชื่อคำสอนพุทธเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นคนโง่ มีปัญญาทราม ฯลฯ และท่านพุทธทาสเองก็วิจารณ์หรือด่าไว้ครอบจักรวาลเช่นกัน หากจะมีใครวิจารณ์หรือด่าท่านบ้างท่านคงไม่ว่าอะไร เพราะท่านสอนให้ละตัวกู ของกู อยู่แล้วมิใช่หรือ จะว่าไปการด่าในพุทธศาสนานี่ก็มี “สองมาตรฐาน” เหมือนกัน เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชภิกษุณี อนุญาตด้วยเหตุผล “ความเท่าเทียมในความเป็นคน” เพราะเห็นว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษจึงอนุญาตให้บวชภิกษุณีได้ แต่เงื่อนไขการบวชที่เรียกว่า “ครุธรรม 8” กลับชี้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำและความเป็นสองมาตรฐาน เช่น ภิกษุณีบวชมาแล้ว 100 พรรษา ต้องทำความเคารพภิกษุแม้เพิ่งบวชเพียงวันเดียว ภิกษุสอน ด่า บริภาษภิกษุณีได้ แต่ภิกษุณีทำเช่นนั้นกับภิกษุไม่ได้ เป็นต้น มีผู้สงสัย \ความขัดแย้ง\" ระหว่างเหตุผลที่อนุญาตให้บวชกับเงื่อนไขของการบวชภิกษุณีดังกล่าว จึงวิเคราะห์ออกมาในงานวิชาการชื่อ “เหตุเกิด พ.ศ.1” ตั้งข้อสงสัยว่า “ครุธรรม 8 ไม่น่าจะใช่พุทธพจน์” น่าจะเป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นใหม่ในคราวปฐมสังคายนา เนื่องจากประธานสังคายนาคือพระมหากัสสปะและพระอรหันต์เสียงข้างมากที่ประชุมทำสังคายนานั้น ล้วนมีภูมิหลังมาจากวรรณะพราหมณ์ ซึ่งเป็นวรรณะที่ยึดถืออย่างเคร่งครัดว่าสตรีต้องมีสถานะต่ำกว่าบุรุษ ปรากฏว่า เจ้าของงานวิชาการนี้คือ พระมโน เมตฺตานนฺโท (จบปริญญาเอกจากอ๊อกฟอร์ต) ถูกชาวพุทธสายปกป้องพุทธศาสนาไปประท้วงให้เจ้าอาวาสขับออกจากวัด ต่อมาก็ลาสิกขาบทไป ประเด็นคือในทางวิชาการ ไม่มีใครยอมรับว่า ข้อความทุกข้อความในพระไตรปิฎก คือพุทธพจน์ทั้งหมด เรื่องราวในพระไตรปิฎกมีทั้งเรื่อง “ราหูอมจันทร์” หากชาวพุทธยืนยันว่านี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าพูดไว้จริง ก็เท่ากับยืนยันว่าพระพุทธเจ้าโกหก เพราะปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่ได้เกิดจากเทพราหูอมดวงจันทร์ ท่านพุทธทาสถึงขนาดพูดว่าฉีกพระไตรปิฎกทิ้งสัก 70 % เหลือไว้แค่ที่เป็นเหตุเป็นผลสัก 30 % ก็เพียงพอสำหรับศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์แล้ว ฉะนั้น ความเห็นต่างในการตีความคำสอนพุทธก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันพระสงฆ์และชาวพุทธก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง และเปิดใจรับคำวิจารณ์ หรือกระทั่งคำด่าจากคนในวงนอกได้ด้วย แต่ปัญหาที่เป็นจริงอย่างยาวนานคือ พระสงฆ์และชาวพุทธมักมองว่าคนวิจารณ์พุทธไม่รู้พุทธศาสนาจริง หรือมุ่งทำลายพุทธศาสนา จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่น่าเกิด เช่น กรณีโยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ และจับขังคุกถึง 6 ปี จากงานเขียนวิจารณ์ความเชื่อและพฤติกรรมที่ผิดจากหลักพุทธศาสนาในความเรียงเรื่อง “ผีตองเหลือง” และแม้แต่กรณีสันติอโศก กรณีธรรมกายที่ตีความนิพพานเป็นอัตตา ซึ่งเป็นปัญหาวงในของชาวพุทธด้วยกันเอง ก็ทำให้เกิดความแตกแยก เพราะเถียงกันเรื่องใครสอนผิดสอนถูก ใครรู้จริงใครรู้ไม่จริง ถ้ารู้ไม่จริง สอนผิดก็เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นคนบาป เป็นคนทำลายพุทธศาสนา ต้องถูกขจัดออกไปจากความเป็นพระ จากความเป็นชาวพุทธ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวเกิดจากอะไรครับ? เกิดจากการศึกษาของสงฆ์ที่เน้นเฉพาะการเรียนรู้ \"หลักธรรมของพุทธศาสนา\" ไม่เรียนหรือเรียนรู้น้อยมากเกี่ยวกับ “สังคมวิทยาศาสนา” หลักสูตรการศึกษาสงฆ์ตั้งแต่นักธรรมตรีถึงเปรียญ 9 ไม่มีการเรียนพุทธศาสนาในมิติทางสังคมวิทยาเลย มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่เน้นการสอนให้พระเข้าใจสังคม แม้พระเณรส่วนใหญ่จะมาจากคนชั้นล่างของสังคม แต่ขาดความเข้าใจโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคม จึงทำให้ตกเป็นเครื่องมือหรือกลไกของโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมนั้นโดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ตัวแต่เสพติดศักดินาพระไปแล้ว) ฉะนั้น สิ่งที่เถียงกัน ทะเลาะกันมากในวงการสงฆ์หรือชาวพุทธคือเรื่องใครสอนผิด สอนถูก ไม่มีการถกเถียงว่าทำอย่างไรพุทธศาสนาจึงจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต ชุมชน สังคม หากพบว่าใครสอนผิดก็ต้องขับออกไปจากความเป็นพระ จากความเป็นชาวพุทธ โดยไม่พิจารณาว่าเขาทำประโยชน์อะไรแก่ชุมชน แก่สังคมบ้าง จะพูดคุยปรับเปลี่ยนเรื่องที่สอนผิดให้ถูกได้อย่างไร โดยยังถือว่าเป็นชาวพุทธเหมือนกัน ต้องทำประโยชน์สังคมในด้านต่างๆ ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มถนัดจะทำ โดยไม่ทะเลาะแตกแยกกัน นี่คือปัญหาของวงการณ์สงฆ์และชาวพุทธบ้านเราที่คิดแค่ว่า รู้พุทธศาสนาหมายถึงแค่รู้ความถูก-ผิดของคำสอนพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่สนใจเรื่องสังคมวิทยาศาสนา แต่คำ ผกา ดูเหมือนจะเข้าใจสังคมวิทยาศาสนาดีกว่าพระด้วยซ้ำ และดูเหมือนเธอก็วิจารณ์พระสงฆ์บนพื้นฐานความรู้นี้ นอกเหนือจากการยืนยันเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน สังเกตได้จากที่เธอเคยให้สัมภาษณ์วิจักข์ พานิช ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเคารพความเชื่อ และคุณค่าของศาสนาแบบบ้านๆ พระสงฆ์แบบบ้านๆ ที่ในสายตาของพระเซเลบริตี้หรือชาวพุทธชนชั้นกลางมีการศึกษาดีอาจดูถูกว่า นั่นเป็นความงมงาย ไม่ใช่พุทธแท้ เพราะพุทธแท้ต้องสอนเรื่องสมบัติผู้ดี สอนเณรไม่ให้เป็นกะเทย ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยกว่าฆ่าคน เสียงของคนไร้การศึกษาหมื่นคนสู้เสียงของปราชญ์เพียงหนึ่งคนไม่ได้ หรือต้องใช้สโลแกน “วันนี้คุณนิพพานแล้วหรือยัง” แทน “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” เป็นต้น ถึงเวลาแล้ว ที่พระสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายปกป้องพุทธศาสนาต้องเปิดหูเปิดตา เปิดใจรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เปลี่ยนเรื่องเถียงกันแค่เรื่องใครสอนผิดสอนถูก มาเป็นเรื่องทำอย่างไรพุทธศาสนาจะเป็นประโยชน์แก่การสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ เป็นธรรม และมีสันติภาพ โดยพุทธศาสนาสามารถบูรณาการกับความรู้ร่วมสมัยในฐานะเป็นความรู้ที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ของวิเศษสูงส่งกว่าภูมิปัญญาใดๆ ในโลก"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท