Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง จนทำให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถบจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง จนทำให้เกิดกระแสการปลุก ผีเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกครั้ง โดยอาศัยสถานการณ์น้ำเป็นข้ออ้าง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี ทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง และหลายครั้งเมื่อนักการเมืองหายใจเข้าออก เป็นต้องน้ำลายหกด้วยผลประโยชน์ของไม่สักทองจำนวนมหาศาล ที่จะถูกตัดโค่นจากพื้นที่หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต่อสถานการณ์ดังกล่าว สมัชชาคนจน เห็นว่า 1) เขื่อนแก่งเสือเต้น ได้มีการศึกษาจากนักวิชาการหลายสำนักที่ยุติตรงกันแล้วว่า ไม่สมควรสร้าง เพราะมีผลกระทบจำนวนมาก ในขณะที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งได้เลย 2) เขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นที่เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า แล้วส่งผลถึงอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ปริร้าว ดังนั้นหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นถี่มากในขณะนี้ ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการพังของเขื่อนได้ 3) เขื่อนแก่งเสือเต้น จะนำไปสู่การทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย กว่า 24,000 ไร่ (สองหมื่นสี่พันไร่) และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่ (สามหมื่นหกพันไร่) รวมพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไปกว่า 60,000 ไร่ (หกหมื่นไร่) แนวคิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีเบื้องหลังคือผลประโยชน์ของบรรดานักสร้างเขื่อน ดังนี้ 1) กลุ่มนักการเมือง ซึ่งมีญาติเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็จะได้งบประมาณก้อนโตนี้ไป 2) บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งโยงใยกับนักการเมืองก็จะได้สัมปทาน ในการออกแบบเขื่อน การควบคุมการก่อสร้าง และอื่น ๆ อีกมากมาย 3) บริษัทขายอุปกรณ์การก่อสร้าง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโยงใยกับนักการเมืองก็จะได้สัมปทานการซื้อขายอุปกรณ์ในการสร้างเขื่อน ซึ่งไม่นับรวมถึงการคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นตามมา 4) ญาตินักการเมืองจะได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้สัมปทานไม้สักทอง มูลค่ามหาศาลนี้ ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้มาตลอดในพื้นที่ของการสร้างเขื่อน ดังเช่นเขื่อนราษีไศล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งล้มเหลวในการจัดการน้ำ และโครงการถูกยกเลิกไปในปัจจุบัน ขณะที่เขื่อนปากมูลซึ่งเดิมเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า แต่ก็ล้มเหลวจนมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเขื่อนมาเป็นเขื่อนเพื่อการชลประทาน ซึ่งก็ได้ล้มเหลวทั้งในด้านการใช้งานเขื่อน และทิ้งปัญหาไว้เป็นภาระของชาวบ้านในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือความจริงในทุกด้าน เขื่อนมักถูกสร้างขึ้นด้วยอุปทานที่ปั่นแต่งของนักการเมือง แต่เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนออกมารับผิดชอบความเสียหาย และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนเลย กรณีเขื่อนปากมูลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แกนนำค้านเขื่อนได้เป็นถึงรัฐมนตรี แทนที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านปากมูน แต่กลับขัดขวางคัดค้านไม่ให้แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน นี่คือสันดานของนักการเมือง สภาพความเสียหายจากน้ำท่วม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและเต็มที่ แต่หากคิดว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องต้นคือ น้ำจะท่วมชุมชนสะเอียบ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็เป็นประชาชนไทยเช่นกัน อันเป็นการเพิ่มพื้นที่น้ำท่วมขึ้นมาใหม่ ในขณะที่พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำยมก็ไม่มีหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วม ดังนั้นการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงไม่ใช้การคัดค้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หากแต่เป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ตั้งอยู่บนเหตุผลทางวิชาการและข้อเท็จจริง ทั้งยังเป็นการปกป้องป่าสักทองผืนสุดท้าย อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทั้งประเทศด้วย ความหื่นกระหายของบรรดานักสร้างเขื่อน ที่กำลังฉวยโอกาสในสภาพที่ประชาชนกำลังประสบกับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ด้วยการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขณะที่ในด้านกลับกันไม่มีนักการเมือง ราชการแม้แต่คนเดียวที่จะออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนมาแล้ว เช่นเขื่อนปากมูล ว่าจะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงอย่างไร พวกเรา ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อน ความเสียหายเกิดขึ้นมายาวนานกว่า 20 ปี โดยที่ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจรับผิดชอบ พวกเราได้พิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแล้ว พวกเราไม่เห็นประโยชน์อันใดที่สังคมจะได้รับจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้นพวกเราจึงมิอาจยินยอมให้พวกท่านดำเนินการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ และเราจะเข้าร่วมสนับสนุนชาวบ้านสะเอียบทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย และวิถีชีวิตของพี่น้องจนถึงที่สุด สมัชชาคนจน ขอเรียกร้องให้นักสร้างเขื่อนทั้งหลาย ได้กรุณารับผิดชอบต่อเขื่อนที่พวกท่านได้สร้างไว้ด้วย เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา และเขื่อนอื่นทั่วประเทศ ที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ พวกท่านควรจะไขปัญหาเก่าที่ค้างอยู่ให้เสร็จก่อน ขอความกรุณาอย่างสร้างปัญหาใหม่อีกเลย ท้ายที่สุด ในสภาพสังคมที่กำลังเข้าสู่บรรยากาศแห่งความปรองดอง การโหมกระแสเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ ย่อมเป็นการเสี้ยมให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาล ซึ่งท้าทายภาวะความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะกำราบบรรดานักการเมืองน้ำเน่าที่อยู่ในคณะรัฐบาลนี้ได้หรือไม่ หรือจะจัดสรรปันส่วนแบ่งเอื้อประโยชน์กันเอง เขื่อนแก่งเสือเต้น คือบทพิสูจน์นายกรัฐมนตรี ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล 21 สิงหาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net