Skip to main content
sharethis

ศาลปกครอง นัดพิพากษา คดีสรรหา กสทช. 22 ส.ค.เวลา 10.00 น. กรณีนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการสรรหา กรรมการ กสทช. ด้าน \สมชาย แสวงการ\" เผย กมธ.วุฒิสภา มีมติไม่รับเรื่องดีเอสไอสอบ กสทช. ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 19 ส.ค. ที่ศาลปกครองกลาง นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 1173/2554 ระหว่าง นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องคดี กล่าวหาว่า ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการกสทช. กับพวก ดำเนินการสรรหา กสทช. โดยไม่โปร่งใส เนื่องจากไม่เสนอชื่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ได้คะแนนเป็นอันดับ 5 ในสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ต่อประธานวุฒิสภา แต่กลับมีมติคัดเลือกใหม่ในวันที่ 29 เม.ย. และเสนอชื่อนายยุทธ์ ชัยประวิตร เป็นผู้เข้ารอบแทน นายกฤตยชญ์ ศิริเขต ตุลาการนอกองค์คณะคดีที่เข้าร่วมรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมด ได้แถลงความเห็นในห้องพิจารณาคดีว่า กรณีพิพาทเป็นกรณีการสรรหา กสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐและผลประโยชน์สาธารณะ เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นให้ประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช. ปฏิบัตินอกเหนือจากระเบียบที่ได้กำหนดไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลยพินิจดำเนินการ ดังนั้นการที่ประธานคณะกรรมการสรรหาสั่งให้มีการลงมติคัดเลือกผู้เข้ารอบเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. 2554 จึง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ และเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ การคัดเลือกในวันดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานคณะกรรมการสรรหา ทราบดีว่า นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท มีคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ. กสทช. เนื่องจากเป็นกรรมการ อสมท เพราะอยู่ในบอร์ดชุดเดียวกัน แต่ไม่แจ้งให้คณะกรรมการสรรหาทราบ อ้างว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับนายอรรถชัยนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วพบว่าข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวร้ายแรงจนอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกเสียไปได้ ดังนั้น การปกปิดข้อเท็จจริงกล่าวถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของนายอรรถชัย มากกว่าผู้สมัครคนอื่น นอกจากจะผิดต่อหลักความเป็นกลางแล้ว ยังถือเป็นการยกเว้นการกระทำที่ไม่สุจริต และทำให้การคัดเลือกดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง รวมถึงการที่ประธานไม่เปิดเผยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้สมัครให้ กรรมการท่านอื่นทราบเพื่อให้ลงมติว่าส่วนตัวมีสิทธิจะลงคะแนนหรือไม่ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ และทำให้กรรมการที่เหลือพิจารณาโดยไม่ได้รับข้อเท็จจริงเพียงพอ กระบวนการดังกล่าวจึงไม่ชอบมาแต่ต้น เมื่อปรากฏผลการลงคะแนนด้านเศรษฐศาสตร์ โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้คะแนนเป็นลำดับที่ 5 และการลงคะแนนในส่วนของนายอรรถชัยในลำดับที่ 4 ต้องเสียไปด้วยเหตุบกพร่องในองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ จึงถือว่ามีผู้ฟ้องเป็นผู้ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 สมบูรณ์ด้วยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการคัดเลือกที่มีข้อยุติเด็ดขาดแล้ว ดังนั้น การที่คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อต่อประธานวุฒิสภา โดยไม่มีชื่อนายสุรนันท์ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าสมควรพิพากษาให้เพิกถอนมติเสนอรายชื่อเพิ่มเติมในวันที่ 29 เม.ย. และให้เสนอบัญชีรายชื่อที่มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดี ก่อนที่วุฒิสภาจะลงคะแนนคัดเลือก กสทช. นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง ชี้แจงเรื่องคำแถลงดังกล่าว เป็นคำแถลงของตุลาการนอกองค์คณะ ตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองที่ต้องมีการถ่วงดุลระหว่างตุลาการองค์ คณะกับตุลาการนอกองค์คณะที่เข้าร่วมฟังข้อเท็จจริงในคดี โดยความเห็นดังกล่าวจะไม่ผูกพันองค์คณะผู้พิพากษาที่จะออกคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค. นี้ แต่ถ้าองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นต่างจากนี้จะต้องมีเหตุผลชี้แจงให้ชัดเจน ส่วนการจะล้มกระบวนการสรรหาทั้งหมดได้หรือไม่ ต้องดู พ.ร.บ.กสทช. ที่ระบุชัด ใน ม.15 ว.6 บอกว่ากระบวนสรรหาจะเดินหน้าต่อไปแม้มีการฟ้องร้อง เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลมีอำนาจที่จะอาศัยข้อยกเว้นนี้ได้ โดยในคำพิพากษาวันที่ 22ส.ค.นี้ อาจจะสั่งการในจุดนี้ด้วยขึ้นอยู่ดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับการจะให้ชะรอ หรือระงับการดำเนินการสรรหา แต่หลักคือศาลจะต้องพิพากษาตามคำขอ ซึ่งนายสุรนันท์ มีคำขอท้ายฟ้องแค่ให้ส่งชื่อให้เพิกถอนการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และให้ชดใช้ค่าะรรมเนียมศาลจึงไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหาทั้งหมด ส่วนการแถลงพาดพิงว่า ประธานคณะกรรมการสรรหา กระทำผิดอย่างร้ายแรงทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า มีบอร์ดอสมท เข้ารอบมาด้วย แต่ไม่แจ้งคนอื่นนั้นองค์คณะที่ทำคำพิพากษาอาจจะเห็นด้วยกับความเห็นนี้ หรือไม่ก็ได้ และคู่กรณีคดีนี้หรือคดีอื่น อาจจะหยิบไปอ้างอิงได้ แต่ไม่ใช่แนวคำพิพากษาที่จะต้องยึดตามและให้น้ำหนักอย่างชัดเจน กระบวนการหลังจากนี้องค์คณะตุลาการในคดีนี้จะประชุมและทำคำพิพากษา กมธ.วุฒิสภา มีมติไม่รับเรื่องดีเอสไอสอบ กสทช. ด้านโพสต์ทูเดย์รายงานวันเดียวกันว่า (19 ส.ค. 54) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติกสทช. วุฒิสภา มีมติไม่รับเรื่องดีเอสไอเข้าสู่การพิจารณาในกระบวนการตรวจสอบประวัติ เพราะอำนาจหน้าที่นี้เป็นของวุฒิสภา ขณะที่ประเด็นที่ดีเอสไอ ยื่นมาเป็นเรื่องกระบวนการสรรหา จึงได้ส่งเรื่องไปให้เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสรรหา นอกจากนี้ ประเด็นต่าง ๆ ที่ดีเอสไอยื่นมา ล้วนเป็นเรื่องที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลในการวินิจฉัย คณะกรรมาธิการฯไม่สามารถชี้ขาดได้ และได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติต่อไป ส่วนกรณีที่ตุลาการศาลปกครองได้แถลงสรุปคดีเกี่ยวกับกระบวนการสรรหากสทช.นั้น ต้องรอคำสั่งจากคณะตุลาการศาลปกครองที่จะอ่านคำพิพากษาในวันจันทร์ 22 ส.ค.นี้อีกครั้งหนึ่ง วุฒิสภาฯจึงจะมีการพิจารณาเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net