Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(หมายเหตุ - มีการเล่าเนื้อหาของการแสดงนี้ทั้งหมด)

 

ด้วยความที่ผมไม่ได้มีความรู้เรื่องละครเวทีแม้แต่น้อย ไม่ได้เป็นคนวงใน ไม่ได้รู้จักใครในวงการละครเวทีไทยเลย เป็นเพียงผู้ชมคนหนึ่ง ข้อเขียนชิ้นนี้จึงเป็นเพียงบันทึกวาบความคิดของคนที่สนุกกับการดูการแสดงคนหนึ่ง เป็นเสียงของคนดูต่อนักแสดงและต่อคนดูด้วยกัน เป็นข้อเขียนเพื่อชวนคุยเท่านั้น ที่น่าเสียดายก็คือว่าหากใครยังไม่ได้ดูการแสดงชุดนี้ก็อาจจะนึกภาพตามค่อนข้างลำบาก ในเนื้อหาของข้อเขียนเป็นการเล่าการแสดงทั้งหมด ต้องขออภัยไว้ในที่นี้

เร็วๆ นี้ (24 ก.ค.) ผมได้ดูการแสดงชุด ‘Flu-Fool’ ของคณะบี-ฟลอร์ (1) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ การแสดงวันนั้นเป็นวันสุดท้ายหลังจากที่ทางคณะเปิดแสดงมาได้อาทิตย์กว่า ผมได้รับข่าวสารของการแสดงนี้จากแฮนด์บิลที่ได้รับมาโดยบังเอิญจากเพื่อนฝูง เป็นแฮนด์บิลที่ออกแบบได้สวยงาม ผมก็เลยเริ่มจะสนใจขึ้นมา

จะว่าไปแล้ว ผมชอบและติดตามงานของกลุ่มบี-ฟลอร์และนักแสดงสมาชิกของกลุ่มนี้มาได้สักพักแล้ว งานแรกที่ผมได้ดูคือ แผ่นดินอื่น (the Other Land) ในปี 2551 (2) งานเกี่ยวกับผลงานเขียนชื่อเดียวกันของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เป็นการตีความงานวรรณกรรมเล่มนี้ ซึ่งเป็นเล่มที่ผมชอบที่สุดเล่มหนึ่งด้วย น้อยครั้งเหลือเกินครับที่ผมจะได้พบการเคลื่อนไหวของศิลปะแขนงอื่นมาเชื่อมโยงกับวรรณกรรมในลักษณะที่สร้างสรรค์ ไม่ทำอย่างขอไปที อย่างที่เห็นกันให้เกร่อ (เช่นการจัดละครเวทีเพื่อเฉลิมฉลองคนใหญ่คนโต ที่ต้องเอาศิลปะทุกแขนงมาเรียงร้อยสอดประสาน -อ้วก)

และเมื่อมาดูคำโปรยบนแฮนด์บิลนั้นก็ทำให้ผมตัดสินใจว่าต้องไปดู

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

“หากสิ่งที่คุณเชื่อกำลังล่มสลาย คุณจะละทิ้งมันไปสู่ความเชื่อใหม่ หรือยื้อมันไว้จนสุดแรง”

 

ผมเข้าใจว่า Flu-Fool เป็นภาคต่อของ ‘ละครเวทีมัลติมีเดีย’ เรื่อง Flu O Less Sense (ไข้ประหลาดระบาดไทย) เป็นภาคแรกที่สร้างขึ้นทันทีหลังจากเหตุการณ์พฤษภาฯมหาโหดปี 2553 โดยบนแฮนด์บิลกล่าวว่าเป็น “บทบันทึกในรูปแบบการแสดงของช่วงเวลาที่สังคมไทยอยู่ท่ามกลางสงครามข่าวสาร ความสับสนในข้อมูล ความศรัทธาที่สั่นคลอน มิตรภาพที่เปราะบาง ความตายและผู้ร้ายปริศนา” (เน้นโดยผู้เขียน) ส่วนภาคที่สองเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เน้นไปในการเคลื่อนไหวร่างกายและงานโมชั่นกราฟฟิก โดยการแสดงครั้งนี้มีทั้งสองภาค

สิ่งที่ผมสนใจที่สุดจากงานแสดงชุดนี้ไม่ใช่คำตอบ หากแต่เป็นคำถามมากกว่า คำถามทั้งชุดเดิมและชุดใหม่ๆ ที่หวังว่าวงการศิลปะจะเริ่มหันมาถามกันมากขึ้น หรือถามให้ถูกคำถามกันมากขึ้น

 

ในห้องแสดง (3)

การแสดงเริ่มต้นขึ้นที่สนามบินนานาชาติ เราเห็นนักท่องเที่ยวหลายชาติ (และหลายภาษาที่เราฟังไม่รู้เรื่อง) พร้อมกับกระเป๋าเดินทางของพวกเขา ภาพบนผนังฉายรูปการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง หากแต่คนไทยพยายามตะโกนกู่ร้องให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นฟังว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอะไร เพราะที่นี่คือสยามเมืองยิ้ม” เจ้าของบ้านยิ้ม รับด้วยเสียงหัวเราะของผู้ชม

และจากจุดนี้ไปเป็นการนำจานพลาสติกมาใช้อย่างแหลมคม เพราะจานพลาสติกนั้นจะว่าไปแล้วก็ได้รับความนิยมด้วยความรวดเร็วไปในหมู่ชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่เพราะว่ามันถูกและแตกยากเท่านั้น แต่เมื่อกรุงเทพมหานครได้กลายเป็นดินแดนเงินดินแดนทองของคนต่างจังหวัดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s เป็นต้นมา แรงงานจำนวนมหาศาล ทยอยเดินทางเข้าไปเสริมภาคบริการและอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ การมีจานพลาสติกหมายความถึงความคล่องตัว (mobility) ของแรงงานเหล่านั้นในการจะย้ายจากสถานที่ก่อสร้างหนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จากบริกรของที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จานพลาสติกในหะแรกเป็นภาพแทนของการรวมศูนย์ของกรุงเทพมหานครเหนือดินแดนทั้งหมดโดยรอบ (ทั้งในเชิงกายภาพและนามธรรม) การเข้าไปมีส่วนแบ่งในศูนย์กลางของอำนาจอาจหมายความถึงว่าคุณจำเป็นต้องพร้อมในการหอบข้าวหอบของหนีเมื่อ ‘เขา’ ไล่ด้วย จะว่าไปในชนบทเองก็มีจานกระเบื้อง (หรืออย่างน้อยก็สังกะสี) กันทั้งนั้น จานพลาสติกจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกิจที่เกิดมาเพื่อรองรับความเหลื่อมล้ำที่ยุคพัฒนาได้นำพามา

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

(ภาพจาก fuse.in.th)

 

ในการแสดงชุดนี้มีการใช้จานเป็นสัญลักษณ์แทนหลายต่อหลายอย่าง ในขณะที่คนไทยทุกคนมีจานของตัวเอง หรืออาจหมายความว่ามีข้าวกิน พวกเขากำลังเริงร่าไปกับความอิ่มหมีพีมัน แล้วความร่าเริงของพวกเขาก็หยุดลงเมื่อมีคนใส่ผ้าคลุมสีดำ ขมึงทึง มาพร้อมกับกีต้าร์ไฟฟ้าพร้อมกับเล่นท่อนฮุคของเพลง เจ็บนี้อีกนาน ของคุณออฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ต่อด้วยการยืนขึ้นบนโต๊ะร้องเพลง สยามเมืองยิ้ม ของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ (4)

 

จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย
มิเป็นทาสใคร และมีน้ำใจล้นปริ่ม
ทั่วโลกกล่าวขานขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม
เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม

คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย
ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม
ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม
เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ

เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ
ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน
คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล
แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้น เนรคุณ

คนไทยรักชาติและศาสนา
เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ
ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ
สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ

 

จากนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างต่อคนไทย เกิดมีผู้ที่เป็นเจ้าของจานทั้งหมด ถือสิทธิ์ในการครองจานทั้งหมด คนที่เหลือคือผู้ที่รอรับส่วนแบ่งจานของตัวเอง ด้วยสายตาเปี่ยมไปด้วยความหวัง ด้วยสายตาที่หิวโหย ในขณะนั้นที่ผนังคนละด้านเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง คนไทยที่เรารู้จักเริ่มได้รับเชื้ออะไรบางอย่างเสียแล้ว พวกเขาเริ่มหลงใหลไปกับประโยคอย่าง “ตายซะดีกว่าที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ” พวกเขารู้สึกหงุดหงิดใจที่เห็นการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง พวกเขารู้สึกว่านั่นเป็นการทำลายความสุขของพวกเขา พวกเขาอยากตายดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ พวกเขาอยากตายดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ!

พวกเขาคุยกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน ภายใต้หลังคาเดียวกันแล้วก็เริ่มทะเลาะกันจากความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน พวกเขาทะเลาะกันด้วยเสียงที่ดังขึ้นๆ มีภาพโขลงช้างฉายขึ้นที่ผนัง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจังหวะที่ฉลาด เพราะ “ช้างที่อยู่ในห้อง” นี่เองที่ทำให้การถกเถียงในสังคมไทยไม่มีโอกาสได้เป็นไปในทางสร้างสรรค์

ในขณะที่พวกเขาทะเลาะกันอยู่นั้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดภาพการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาทะเลาะกัน พวกเขากลับมาคุยกัน พวกเขาทะเลาะกันอีกครั้ง และทวีความรุนแรง

ศพแรกตายลง พวกเขาตกตะลึง เสียขวัญ จานถูกโยน ตกกระจัดกระจาย ศพต่อไป ศพต่อไป จากที่ทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย พวกเขาพยายามปลุกศพเหล่านั้นให้ฟื้นกลับคืนมา จานพลาสติกที่กระจัดกระจายคือศพของคนเสื้อแดงที่ตายเกลื่อน ดนตรีทั้งหมดหยุดลง พวกเขาพยายามเก็บรวบรวมจานเหล่านั้น เก็บศพเหล่านั้น

แต่แล้วกลับมีคนผู้หนึ่ง สวมชุดคลุมสีดำ ถือเอาไม้กวาดออกมา กวาดเอาจานที่กระจัดกระจายเหล่านั้นไปกองรวมกัน พวกเขาไม่สามารถพูดอะไรได้ ไม่สามารถต่อต้าน พวกเขาเงียบ ชายคนนั้นไม่สนใจใคร กวาดเอาศพเหล่านั้นทิ้งไปด้วยท่าทีฉุนเฉียว ท่ามกลางความหวาดกลัวที่ล้นออกมาถึงคนดู

 

ในคำอธิบายในหนังสือโปรแกรมตลอดปีของกลุ่มบี-ฟลอร์เขียนเอาไว้ว่า “มหากาพย์อ้างอิงแห่งยุคสมัยที่ตั้งคำถามกับความเป็นไทย ประชาธิปไตยแบบพ่อขุน สำนึกความเชื่อ + ความเป็นตัวตน = เอกลักษณ์(เพิ่ง)ถูกสร้าง(ดั่งโฆษณาชวนเชื่อ) อย่าถามหาอนาคตที่งมงาย จงเฝ้ารอคอยอดีตจะพิพากษาปัจจุบัน จงแผดเสียงหัวเราะแด่ยุคสมัยที่เราร่วมสร้าง มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ หวังว่าเวลาจะสำรอกความจริง.....ได้บ้าง” (5)

ก่อนที่จะพักครึ่ง เนื้อเรื่องสรุปไว้ได้อย่างเจ็บแสบด้วยการฉายภาพโครงการคิดบวก โครงการปรองดอง การรวมตัวกันใส่เสื้อขาวแล้วมาร้องเพลงของนักร้องค่ายแกรมมี่ แล้วตัดสลับไปกับภาพการกลายไปสู่ความสุดโต่ง (radicalization) ของประชากรโลก การเข้าสู่ลัทธิ (cult) ต่างๆ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าไข้ประหลาดได้เข้าไประบาดในประเทศสยามเมืองยิ้มแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว หรือกระบวนการหลังจากการสังหารหมู่กลางเมืองนั้นก็คือความสุดโต่งอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น?

 

พัก 15 นาที

 

ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้คือคุณธีรวัฒน์ มุลวิไล ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฯกว่าสิบปีและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบี-ฟลอร์ เขาสั่งสมประสบการณ์จากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมาก่อน นั่นทำให้ความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับสังคมของเขายังแนบอยู่กับอุดมการณ์ที่นักศึกษาในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานยึดถือ “...[ศิลปะ]มันต้องสะท้อนสังคม ไม่ว่าจะแปลกแหวกแนวขนาดไหนก็ต้องมีแก่นเรื่อง...” (6) หลายต่อหลายงานเขาปรากฏตัวในการแสดง แต่งานนี้เขาทำหน้าที่กำกับ เขาได้รับคำชมเชยอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิจารณ์ โดยเฉพาะในสื่อมวลชน ดังที่บางกอกโพสต์ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเขาว่า “ผู้กำกับฯที่มีสำนึกทางสังคมและการเมืองที่สุดคนหนึ่งของวันนี้” (7) ผมดื่มด่ำกับเบียร์ขวดเล็ก แล้วค่อยๆ เรียบเรียงความคิดก่อนจะกลับเข้าไปสู่ช่วงต่อไป

 

ในห้องแสดง (ต่อ)

 

การแสดงชุดนี้น่าจะเป็นชุด Flu-Fool ที่เพิ่งสร้างขึ้นในปี 2554 เป็นการตกผลึกของความคิดแล้วส่วนหนึ่ง มันเริ่มด้วยความตะลึงพรึงเพริดของความเชื่อโบราณที่ว่า หากมีความวิปริตอาเพศเกิดแก่บ้านเมือง จะต้องฝังคนสี่คนนาม อิน จัน มั่น คงที่สี่มุมเมืองเพื่อขจัดปัดเป่าความชั่วร้าย ฉากนี้เดินด้วยดนตรีทุ้มต่ำ แล้วศพของคนทั้งสี่ก็ถูกขนไปฝัง

 

ที่น่าสนใจก็คือการเปิดตัวของตัวละครหญิงผู้นั่งรถเข็นออกมา มีเสือตัวหนึ่งอยู่เคียงข้าง เขาออกมาเหมือนเป็นการสำรวจตรวจตราความเรียบร้อย ด้วยบรรยากาศที่มึนมัว ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะกลับมาเรียบร้อย หมดทุกข์ หมดโศก หมดโรค หมดภัยอีกครั้งเพราะอำนาจบารมีของคนคนนี้ คนใส่ชุดขาวออกมาเต้น ดูมีความสุข แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเหมือนติดสารเสพติดอะไรบางอย่าง พวกเขาล่องล่อยไม่มีทิศทาง ดูมีความสุขในโลกที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง – สำหรับผมคนเหล่านี้คือพวกเราคนไทย ที่สร้างโลกของตัวเองขึ้นมาเพื่อมีความสุขกับโลกเล็กๆ ใบนั้น ความสุขในการทำแพลงกิ้งไปพร้อมๆ กับการพับเพียบ (ราวกับว่าได้เอาไทยไปเชื่อมกับโลก แต่ขณะเดียวกันก็รักษาความเป็นไทยได้อย่างสำเร็จ)

พวกเขาอยู่ในการต่อสู้ที่ไม่มีจริง เป็นเพียงแค่ในเกมเมื่อตัวละครได้กลายเป็นนักต่อสู้ในเกมสตรีท ไฟเตอร์และเกมกดอีกหลากหลาย ราวกับว่าพวกเขาได้ต่อสู้แล้ว เขาได้เปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้เลยว่า สิ่งที่สู้กันอยู่นั้นมันเป็นเพียงแค่โลกจำลองเท่านั้นเอง เขาไม่รู้ หรือไม่ยอมรับรู้ ว่าจริงๆ แล้วบนถนนนั้นมีการต่อสู้เวทีใหญ่เกิดขึ้นอยู่ มีคนจำนวนมากที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออยู่รอด สำหรับคนกลุ่มแรก หากแพ้พวกเขาสามารถกดเริ่มใหม่ได้ แต่สำหรับกลุ่มหลังแล้ว, ความพ่ายแพ้อาจหมายถึงชีวิต

แม้ว่าพวกเขาคิดจะตั้งคำถามก็ตามที การแสดงชุดนี้ดักทางเราด้วยการแสดงปาหี่อับดุล ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แม้เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมไทยนั้นไม่สมเหตุสมผล เราพยายามหาคำตอบ หาทางออกให้ตัวเอง แต่เรากลับต้องไปหยุดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เสมอ

และผีมัมมี่อิน จัน มั่น คงก็ถูกนำออกมาขาย ไม่ใช่สิ, ต้องเรียกว่า ’ให้เช่า’ มากกว่า คุณจะสุข เจริญ ร่ำรวยได้ในพริบตาหากเชื่อ หากไม่ตั้งคำถาม หากอยู่เฉยๆ ในที่ๆ คุณควรอยู่

ช่วงที่สองนี้มีการเล่นกับวิดีโอและกราฟฟิกค่อนข้างมากกว่าตอนแรก เมื่อถูกพิสูจน์ได้แล้วว่ามันไม่ได้ทำให้พวกเรารวยขึ้น สุขขึ้น เจริญขึ้นจริง พอพวกเขาเริ่มจะร้องป่าว คนนั่งบนรถเข็นก็ปรากฏตัวออกมาอีกครั้ง เขามาเป็นผู้ช่วยปลดเปลื้อง ท่ามกลางเสียงแคนที่ดังทั่วภาคอีสานและพื้นดินที่แตกระแหงของชนบทไทย ก็เกิดมีหญ้าขึ้น เกิดมีความเขียวขจีของต้นไม้ใบไม้ขึ้น

 

บันทึกหลังชมละครเวที Flu-Fool: เพลงที่ไม่ได้ยิน

(ภาพจาก siamintelligence.com)

 

คนทุกคนรู้สึกเหมือนว่าตนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พวกเขาเต้นรำเริงร่า แต่คล้ายคนเมายาเท่านั้น พวกเขาฝันถึงหลักหกประการของคณะราษฎร – ตรงนี้ทำค่อนข้างดีในการประสานวิดีโอกราฟฟิกเข้ากับการแสดง พวกเขาในฐานะประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการจะร่างรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศของตนเอง

แต่แล้วคนในรถเข็นก็ออกมาอีกครั้ง...

พวกเขาหยุด รู้ถึงอำนาจที่ตัวเองไม่มี พวกเขาติดไข้ประหลาด นั่งดูทีวี เห็นความฝันของชาวนา เห็นทุ่งหญ้าสดสวย เห็นชีวิตในอุดมคติของชาวนา เกษตรกรมีความสุข พวกเขาเห็นพระผู้มาโปรดสัตว์อันต่ำต้อยทั้งหลายในวิดีโอ พวกเขานั่งเสพมันไปอย่างอัตโนมัติ

จนในที่สุด คนในรถเข็นก็ออกมาในรูปร่างของศักดิ์สิทธิ์ควรบูชา (ห้ามลบหลู่) เขาพยายามเขียนอะไรลงไปบนรัฐธรรมนูญด้วยไฟที่ดูเหมือนเย็น

ใช่ ด้วยไฟที่ดูเหมือนเย็น

 

หลังการแสดง

 

ผมเสียดายที่ไม่ได้ชวนเพื่อนฝูงอีกหลายคนมาด้วย เสียดายที่ไม่สามารถหาใครนั่งคุยอย่างจริงจังด้วยได้ (อย่างเช่นคนที่มีความรู้เรื่องเทคนิคการแสดง หรือคนที่สามารถแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกำกับแสง กำกับเสียง เป็นต้น) จึงเกิดความอึดอัดว่าไม่อยากให้การแสดงนี้ผ่านไปโดยไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับมันเลย

ผมเฝ้าคอยหางานศิลปะในวงการศิลปะที่จะพยายามตั้งคำถามที่สังคมโดยกว้างกำลังตั้งอยู่ และหลายครั้งก็รู้สึกผิดหวังที่คนในวงการศิลปะกลับตั้งใจจะไม่มองมัน คล้ายกับว่าพวกเขาเป็นโรคประหลาดนี้เสียเอง (ดังที่อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ “จัดหนัก” เอาไว้เกี่ยวกับงานวรรณกรรมโดยเฉพาะกวี (8) มีหลายคนที่ชื่นชอบดนตรีและคอมพิวเตอร์กราฟฟิก หลายคนชอบการเคลื่อนไหวของร่างกาย หลายคนชอบแสง เพราะเป็นอะไรใหม่ที่พวกเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้เห็นมาก่อน แต่สำหรับผม สิ่งที่ใหม่ที่สุดได้เกิดขึ้นในคืนนั้น (และมันคือ “โครงสร้างของอารมณ์” ที่เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ว่าไว้) มันได้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยแล้ว อย่างน้อยก็ในงานศิลปะประเภทละคร ซึ่งมันทำให้ผมมีความหวังต่อไป

 

คือผมไม่ได้ยินเพลงนั้นเลย

 

Flu-Fool

  • กำกับการแสดง ธีระวัฒน์ มุลวิไล
  • นักแสดง ดุจดาว วัฒนปกรณ์ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ นานาเดกิ้น วรัญญู อินทรกำแหง ศรุต โกมลิทธิพงศ์ บัณฑิต แก้ววันนา ศักรินทร์ ศรีม่วง
  • กำกับเทคนิค ทวิทธิ์ เกษประไพ
  • ประพันธ์เพลง กฤษฎา เรเยส
  • ออกแบบแสง ภาวิณี สมรรคบุตร
  • ออกแบบภาพเคลื่อนไหว เตชิต จิโรภาสโกศล หลี ซื่อต่อศักดิ์
  • ออกแบบวีดีโอสารคดี นพพันธ์ บุญใหญ่
  • ดูแลการผลิต จารุนันท์ พันธชาติ

 

เชิงอรรถ

  1. http://www.bfloortheatre.com/
  2. http://bangbangbandit.wordpress.com/tag/กนกพงศ์-สงสมพันธุ์/
  3. นี่เป็นการจดและจำล้วนๆ ไม่ใช่การทวนบท แต่นี่คือการตีความ เป็นการสะท้อนภาพจากสายตาคนดูคนหนึ่ง ซึ่งสามารถหลงลืม สามารถมีอคติ สามารถง่วง สามารถหัวเราะ ฯลฯ เป็นผลสะท้อนทางความคิดหลังจากที่ได้ดูงานศิลปะของคนดูคนหนึ่งเท่านั้น
  4. ในการแสดงไม่ได้ร้องเต็มเพลง เน้นโดยผู้เขียน
  5. B-Floor Theatre 2011 Productions
  6. http://www.whoweeklymagazine.com/entertainment_content_detail.php?t=who&t1=entertainment&id=63
  7. B-Floor Theatre 2011 Productions
  8. http://prachatai3.info/journal/2011/05/34441

 

หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม: เพลงที่ไม่ได้ยิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net