กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและความสำคัญกับประชาชนไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Universal Periodic Review(UPR) หรือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นกลไกการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนเองในรอบทุกๆ 4 ปี โดยจะสลับหมุนเวียนกันไปปีละ 48 ประเทศ จนครบแล้วจึงเริ่มกระบวนการรอบใหม่ โดยประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศสุดท้าย ก่อนที่กระบวนการรอบใหม่จะเริ่มต้นขึ้นในปีถัดไป สำหรับประเทศที่เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รัฐบาลจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิของตนเอง เพื่อรายงานให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับทราบ นอกจากรายงานในส่วนของรัฐบาลที่มีความยาว 20 หน้า A4 แล้ว ในกระบวนการทบทวนนี้ยังมีรายงานอีก 2 ส่วนที่จะเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อช่วยถ่วงดุลและตรวจสอบข้อมูลในรายงานฉบับของรัฐบาล คือรายงานฉบับของผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จะเป็นผู้รวบรวมจากรายงานต่างๆ ที่ออกมาจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ตรวจการณ์พิเศษ หรือคณะทำงาน ในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ของสหประชาชาติ แล้วรวบรวมให้เป็นรายงาน 1 ฉบับ ความยาว 11 หน้า กับรายงานอีกฉบับที่สำคัญมากคือรายงานที่ส่งมาจากภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งรูปแบบของรายงานที่ภาคประชาสังคมส่งเข้าไปจะมี 2 ประเภท คือรายงานร่วมที่มีองค์กรจัดทำตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งอาจจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเดียว หรือครอบคลุมหลายประเด็นก็ได้ ขนาดความยาวไม่เกิน 10 หน้า กับอีกประเภทเป็นรายงานเฉพาะประเด็นที่มีความยาวไม่เกิน 5 หน้า รายงานในส่วนของภาคประชาสังคมนี้ ทาง OHCHR เป็นผู้รวบรวมจากรายงานทั้งหมดที่ส่งเข้าไปให้เหลือเป็นรายงานหนึ่งฉบับที่มีความยาว 11 หน้า เช่นเดียวกันกับรายงานของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งรายงานทั้งสามส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิ ซึ่งจะจัดขึ้นที่สภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระบวนการทบทวนนี้จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อประเทศ สำหรับทั้งการรายงานสถานการณ์ของประเทศตน การรับฟังคำถาม ข้อติชม หรือข้อเสนอแนะ จากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งการตอบข้อสงสัยต่างๆที่มี หลังจากนั้นอีก 6 เดือนจะมีการรวบรวมทั้งรายงาน และข้อเสนอแนะต่างๆ ออกมาเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการให้ประเทศนั้นๆ พิจารณารับข้อเสนอแนะ ซึ่งสำหรับประเทศไทยกระบวนการรับรองข้อเสนอแนะนี้จะจัดขึ้นที่สภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในเดือนมีนาคม 2555 และหากรัฐบาลรับรองข้อเสนอแนะข้อใดในรายงานดังกล่าว จะถือว่าข้อเสนอแนะนั้นเป็นพันธกิจที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตาม กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธินี้ หากดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าเป็นกลไกที่ห่างไกลจากตัวประชาชน แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว กระบวนการนี้มีจุดแข็งอยู่หลายประการ อันดับแรกคือการที่เปิดให้มีการรับข้อมูลจากภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลที่จะใช้ถ่วงดุลกับข้อมูลที่ส่งไปจากภาครัฐ เพื่อเป็นการชี้ให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงในประเทศของเรา นอกจากนี้กลไกนี้ยังครอบคลุมถึงประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ ต่างจากกลไกอื่นๆ ที่เคยมีมา เช่นอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิฉบับต่างๆ ที่จะครอบคลุมเฉพาะประเทศที่ได้ลงนามให้สัตยาบรรณกับอนุสัญญาฉบับนั้นเท่านั้น ในขณะเดียวกันกลไกตัวนี้อาจจะมีข้อด้อยอยู่บ้าง เช่น การที่ข้อเสนอแนะที่รัฐบาลได้รับจากประเทศต่างๆ นั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับใช้อย่างอนุสัญญาอื่นๆ ที่เป็นกฎหมาย ทำให้รัฐบาลอาจเลือกที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ แต่ถึงแม้ว่าข้อเสนอแนะนั้นจะไม่มีสภาพบังคับ หากรัฐบาลย่อมไม่กล้าที่จะปฏิเสธอย่างรุนแรงต่อคำเสนอแนะของประชาคมโลก อีกทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ก็สามารถหยิบยกเอาข้อเสนอแนะเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐบาลของตนเองในเวลาต่อไปได้อีกด้วย และเนื่องมาจากกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนนี้เป็นกระบวนการที่ยังคงใหม่มากสำหรับทุกประเทศ ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรายงานฉบับภาคประชาสังคมค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประชาชนยังไม่รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนี้ สำหรับประเทศไทยที่มีรายงานของภาคประชาสังคมออกมาถึง 27 ฉบับ ก็มิได้หมายความว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสูงตามไปด้วย การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงตัวกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจึงเป็นอีกงานที่สำคัญสำหรับทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการนี้สามารถทำงานเป็นกลไกพัฒนาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศได้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท