Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ พร้อมด้วยกลุ่มคนงาน TRY ARM และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เข้ายื่นจดหมายแสดงความห่วงใยต่อทูตญี่ปุ่นกรณีบริษัทอาซาฮี โกเซ ฟ้องบล๊อกเกอร์ชาวมาเลเซียเรียกค่าเสียหาย 3.2 ล้านดอลลาร์ หลังเปิดเผยคนงานพม่า 31 คนร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิท​ธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ภาพ :การชุมนุมและยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติและองค์กรแนวร่วมหน้าสถานทูตญี่ปุ่น วันนี้ (17 ส.ค.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) พร้อมด้วยกลุ่มคนงาน TRY ARM และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย(Thai Labour Campaign) ประมาณ 20 คน ได้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความห่วงใยต่อกรณี 'ชาร์ลส เฮคเตอร์' บลอกเกอร์-นักกิจกรรมชาวมาเลเซียถูกฟ้องร้องจากบริษัทญี่ปุ่นในคดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ(หรือประมาณ 100 ล้านบาท) หลังเปิดเผยการละเมิดสิทธิแรงงานพม่า ในมาเลเซีย โดยทางเครือข่ายฯยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดและยกเลิกการฟ้องร้อง รวมถึงออกมาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าวในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จากนั้นเวลา 11.00 น.ทางสถานทูตได้ส่งนายยูคิฮิโก คาเนโก( Mr.Yukihiko Kaneko) เลขานุการเอกประจำสถานทูต(First Secretary, Embassy of Japan in Thailand) มารับจดหมาย พร้อมกับกล่าวว่าเข้าใจข้อเรียกร้องของทางเครือข่าย แต่ทางสถานทูตไม่มีอำนาจไปบอกบริษัทหรือคนญี่ปุ่นคนอื่นๆว่าให้ทำหรือไม่ทำการใดๆ และทางเราเข้าใจว่าความยุติธรรมนั้นจะมาจากคำตัดสินของศาล ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นสมาชิกของ OECD แต่สมาชิกของ OECD นั้นไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมกับรับจดหมายไป โดยมีนายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ได้เป็นผู้ยื่นและอ่านจดหมายฉบับดังกล่าว ใจความว่าทางเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติต้องการมาแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อกรณีที่บริษัทที่บริษัทอาซาฮี โกเซ ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินฟ้องนายชาร์ล เฮเตอร์ ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทนายความและบล็อกเกอร์ในคดีหมิ่นและเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินถึง 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่นายชาร์ล เฮเตอร์ ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนกรณีที่คนงานพม่า 31 คน ที่ทำงานในโรงงานของอาซาฮี โกเซ ร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่นิ่งเฉยและดำเนินการในการปกป้องสิทธิมนุษยชน นายเสถียร ทันพรม ยังกล่าวย้ำอีกว่า “ในฐานะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งการที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกมองได้ว่าเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว” “และทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและรักษาหลักการของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคลและหน่วยงานในสังคมเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล และทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดและยกเลิกการฟ้องร้องนักกิจกรรมและทนายความ(นายชาร์ล เฮเตอร์) รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีต่อบริษัทของญี่ปุ่นในการที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากความรุนแรง การคุกคาม การตอบโต้ ถูกเลือกปฏิบัติ กดดันหรือการกระทำต่างๆที่ไม่ถูกกฎหมาย จากการที่พวกเขาเหล่าเรียกร้องสิทธิที่ระบุไว้ในปฏิญญาดังกล่าว” ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าว ส่วนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติต่อไปในกรณีนี้ ประธานเครือข่ายฯได้เปิดเผยว่าจะให้เวลาในการพิจารณาแก้ปัญหา แต่ทางเครือข่ายจะคอยติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการต่อไป ย้ำว่าการที่มาวันนี้เพื่อมาแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับทราบ ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีนี้จะเป็นผลบวกกับรัฐบาลญี่ปุ่นเองในการเข้าไปปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ด้านนางสาวจิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงาน TRY ARM ได้กล่าวถึงข้ออ้างที่ทางตัวแทนสถานทูตว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการทางศาลไม่เกี่ยวกับกระบวนการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ว่าถึงอย่างไรประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ซึ่งมีแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ(OECD Guidelines for MNEs) ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นเองต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นักลงทุนของตนซึ่งไปลงทุนอยู่ทั่วโลกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่อ้างว่าให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ถ้าหากนักลงทุนของญี่ปุ่นไปลงทุนประเทศที่มีการกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็หมายถึงให้ปฏิบัติตามนั้นแล้วจะมีแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติของ OECD ไว้เพื่ออะไร รัฐบาลญี่ปุ่นต้องตระหนังเรื่องนี้เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับคนงานและประชาชนในประเทศที่นายทุนญี่ปุ่นมาลงทุน หลังจากยื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานทูตเสร็จในเวลา 11.30 น. โดยประมาณทางเครือข่ายได้แยกย้ายกันออกจากบริเวณหน้าสถานทูตโดยสงบ ทั้งนี้ในระหว่างชุมนุมทางผู้ชุมนุมได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้าออกเป็นสถานที่ยื่นหนังสือ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ของทางญี่ปุ่น สร้างความไม่พอใจกับผู้ชุมนุม ทำให้มีการเจรจากันประมาณ 20 นาที ทางผู้ชุมนุมจึงยอมออกมายื่นหนังสือบริเวณริมถนนวิทยุหน้าสถานทูตซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 10 เมตร จดหมายที่ทางเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติได้ยื่นต่อทางสถานทูต : วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ 2554 เรียน ฯพณฯ นายเซอิจิ โคจิมะ 177 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ : 0-2207-8500 |0-2696-3000 โทรสาร : 0-2207-8510 เรื่อง บริษัทอาซาฮี โกเซฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาร์ลส เฮคเตอร์คดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เราเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องกรณีที่บริษัทอาซาฮี โกเซฟ้องนักกิจกรรม ทนายความ บล็อกเกอร์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาร์ลส เฮคเตอร์คดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาได้เปิดเผยต่อสาธารณชนกรณีที่คนงานพม่า 31 คน ที่ทำงานในโรงงานของอาซาฮี โกเซ ร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีแพ่งนี้ แต่เรามีความห่วงใยถึงท่าทีที่รัฐบาลญี่ปุ่นนิ่ง-เงียบและมิได้ดำเนินการใดๆ ในส่วนที่รัฐบาลควรจะทำ อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) การที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกมองได้ว่าเป็นการส่งเสริมและเป็นนัยยะของการให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีนี้คือ นาย ชาร์ลส เฮคเตอร์ เนื่องมาจากการที่เขาได้เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทญี่ปุ่นต่อคนงาน เราอยากจะกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องของสภาทนายความ มาเลเซียที่ได้ออกแถลงการณ์เรียกขอในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ .ศ 2554 [1] ซึ่งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการในการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยทันทีต่อกรณีข้อกล่าวหาที่ชาร์ลส เฮคเตอร์ ทำให้สังคมสนใจ และปฏิบัติการโดยทันทีในการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมและรักษาหลักการ ของ“ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล และหน่วยงานในสังคมเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการยอมรับระดับสากล” (ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่า “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน” ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติลงมติรับรองในเดือนธันวาคม ปี 2541 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นกระทำทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่ามีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากความรุนแรง การคุกคาม การตอบโต้ ถูกเลือกปฏิบัติ กดดันหรือจากการกระทำต่างๆที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาได้กระทำการใช้สิทธิที่ถูกต้องชอบธรรมในการเรียกร้องสิทธิที่ระบุในปฏิญญา ขอแสดงความนับถือ นายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ [1] http://www.malaysianbar.org.my/press_statements/press_release_defend_human_rights_defenders_and_safeguard_migrant_workers.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net