Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กูเกิลเพิ่งเปิดให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ชื่อว่ากูเกิลพลัส (Google+) สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับการใช้ชื่อในเครือข่ายสังคมแห่งใหม่นี้

ด้วยเหตุผลที่ว่าบริการกูเกิลพลัสต้องการให้ผู้ใช้เชื่อมสัมพันธ์กันกับผู้คนในโลกของความเป็นจริง กูเกิลจึงมีนโยบายให้ใช้ชื่อสามัญ (common name) โดยกูเกิล [1] อธิบายนโยบายดังกล่าวไว้ดังนี้

ชื่อสามัญของคุณคือชื่อที่คุณ ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานนิยมใช้เรียกคุณ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าชื่อทางกฎหมายของคุณคือ Charles Jones Jr. แต่คุณมักใช้ Chuck Jones หรือ Junior Jones ชื่อเหล่านี้ก็เป็นชื่อที่ยอมรับได้

กูเกิลยังได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติดังกล่าว เช่น ให้ใช้ชื่อและนามสกุลเต็มในภาษาเดียวกัน ให้ระบุชื่อเล่นหรือนามแฝงในส่วนของชื่ออื่น ๆ (Other Names) งดใช้ตัวอักษรแปลก ๆ เช่นตัวเลข หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ เป็นต้น

เมื่อนโยบายด้านชื่อนี้ถูกบังคับใช้ ผู้ใช้จำนวนหนึ่งพบว่าบัญชีผู้ใช้ของตนโดนระงับใช้ชั่วคราวเนื่องจากผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการตั้งชื่อ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามชื่อ หรือ Nymwars

 

Google+ Home

(เว็บไซต์กูเกิลพลัส เครือข่ายสังคม ที่ให้บริการโดย Google)

 

1. เหตุผลของกูเกิล

นอกจากความสะดวกของการค้นหาเพื่อนด้วยชื่อสามัญแล้ว กูเกิลยังให้เหตุผลอีกจำนวนหนึ่งสำหรับนโยบายนี้ [2] เช่น

  • ในสังคมที่ใช้ชื่อจริง ผู้ใช้จะประพฤติตัวอย่างมีอารยะมากกว่าในสังคมที่ยอมให้ใช้นามแฝง
  • สังคมที่ใช้ชื่อจริงจะปลอดภัยกว่า เพราะว่าการหลอกลวงทำได้ยากขึ้น
  • กูเกิลกังวลว่าการอนุญาตให้ผู้ใช้ใช้ชื่อปลอม จะทำให้ผู้่ใช้คิดว่าผู้อื่นไม่สามารถติดตามเชื่อมโยงไปถึงตัวตนที่แท้จริงได้ ซึ่งในขณะนี้กูเกิลยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยเช่นนั้นได้ ทำให้ไม่อยากให้เกิดความอันตรายกับผู้ใช้

นอกจากนี้กูเกิลยังได้ย้ำว่ากูเกิลเข้าใจดีถึงความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้นามแฝง แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก่อนจะเลือกใช้นโยบายดังกล่าวนี้

 

2. ความจำเป็นของชื่อปลอม

บล็อกเกอร์หลายคนพยายามให้เหตุผลถึงความจำเป็นของการอนุญาตให้ใช้นามแฝง [3] [4] [10] หรือมีผู้รวบรวมกรณีของผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ [5] ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของความปลอดภัย และเรื่องของอิสระในการเลือกใช้อัตลักษณ์บนโลกออนไลน์

ในด้านความปลอดภัย ดานาห์ บอยด์ [4] ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้นามแฝงคือกลุ่มที่ถูกกระทำโดยระบบของอำนาจหรือกำลังต่อสู้กับอำนาจต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักกิจกรรม [6] กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สตรี หรือเยาวชน ที่ได้อาศัยเกราะของนามแฝงเพื่อแยกตัวตนที่แท้จริงออกจากตัวตนในโลกออนไลน์ การบังคับใช้นโยบายชื่อสามัญไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับคนกลุ่มนี้เลย

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ปกติที่พบในโลกออนไลน์ก็คือการที่ผู้ใช้หนึ่งคนมีหลายอัตลักษณ์บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้หนึ่งคน ในมุมหนึ่ง อาจจะเป็นพนักงานธรรมดาที่ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในเครือข่ายสังคม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ใช้คนนั้นอาจจะเป็นผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องขององค์กรที่เขาทำงานอยู่ แน่นอนว่า นโยบายบังคับใช้ชื่อสามัญจะทำให้การใช้งานลักษณะดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่กูเกิลบอกว่าถ้าต้องการใช้นามแฝงก็ให้ระบุนามแฝงดังกล่าวในส่วนของชื่ออื่น ๆ ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เนื่องจากการมีหลายอัตลักษณ์เกิดขึ้นเพราะว่าต้องการแยกอัตลักษณ์หนึ่งออกจากตัวตนในชีวิตจริง

ส่วนในประเด็นที่กูเกิลเป็นห่วงว่าจะทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายถ้าเชื่อใจว่ากูเกิลจะรักษาความปลอดภัยของนามแฝงนั้น ผู้ใช้คนหนึ่ง (ดูจากบทสนทนาใน [2]) กล่าวว่าจะต้องแยกประเด็นกันระหว่างการที่ใครก็ได้สามารถเข้าถึงชื่อจริงของผู้ที่ใช้นามแฝงได้โดยง่ายผ่านทางระบบทั่วไป กับการที่จะต้องเจาะระบบเข้าไปเพื่อข้อมูลเหล่านั้น ในกรณีแรกน่าจะสามารถป้องกันได้ไม่ยาก ส่วนในกรณีที่สองกูเกิลอาจจะประกาศว่าไม่รับรองความเป็นนิรนามของผู้ใช้ แต่ยินยอมให้ใช้นามแฝงได้ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบเอง

 

3. เหตุผลและเหตุผล

ที่น่าสนใจก็คือมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ใช้ไม่พอใจกับเงื่อนไขนี้ ก็แค่เลิกใช้และไปเลือกใช้บริการเครือข่ายสังคมอื่นเท่านั้น แน่นอนมีผู้ใช้หลายคนเริ่มเลิกใช้กูเกิลพลัสแล้ว อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งทำให้คนกลุ่มที่ไม่พอใจเรียกร้องประเด็นนี้กับกูเกิลแทนที่จะเลิกใช้แล้วเดินจากไปเฉย ๆ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญและกำลังสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ

หลาย ๆ คนรวมไปถึงอดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ได้ให้ความเห็นว่าความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ตควรจะต้องหมดไปได้แล้ว [7]แนวคิดดังกล่าวเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากเหตุการณ์จลาจลที่อังกฤษที่มีการใช้สื่อสังคมในการประสานงานการก่อเหตุต่าง ๆ ดังนั้นในสายตาของผู้ที่เห็นความสำคัญของความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ต การที่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ เช่น เฟซบุ๊กและกูเกิลพลัส มีนโยบายที่เอื้อต่อความเป็นนิรนามบนอินเทอร์เน็ต จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ในมุมกลับกัน ถ้าเราเชื่อว่ากูเกิลเข้าใจเหตุผลและความต้องการของกลุ่มที่ต้องการนามแฝง แต่ยังยืนยันนโยบายการบังคับใช้ชื่อสามัญตามเดิม เราอาจจะมองเห็นความต้องการอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายหลังบริษัทที่มีคำขวัญว่า "ไม่ทำสิ่งที่เลวร้าย" [8] และพยายามยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในหลาย ๆ กรณี

เอสอี สมิธ [9] กล่าวว่าประเด็นทั้งหมดอยู่ที่ว่ากูเกิลมีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากกว่าถ้าผู้ใช้ใช้ชื่อจริง และสงครามชื่อก็การปะทะกันระหว่างระบบทุนนิยมกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยที่มีเรื่องของอัตลักษณ์ออนไลน์เป็นเดิมพันนั่นเอง

 

ลิงก์อ้างอิง

  1. Your name and Google+ Profiles
  2. กรุณาอ่านคำตอบของ Joseph Smarr วิศวกรของกูเกิล
  3. A Case for Pseudonyms โดย Jillian York
  4. "Real Names" Policies Are an Abuse of Power โดย danah boyd
  5. Who is harmed by a "Real Names" policy?
  6. Google Plus, Pseudonyms, & Activists โดย Neal Ungerleider
  7. Facebook's Randi Zuckerburg: Anonymity Online 'Has To Go Away' โดย Bianca Bosker
  8. Our philosophy
  9. The Google+ Nymwars: Where Identity and Capitalism Collide โดย s.e. smith
  10. Real names are also just labels

หมายเหตุ:

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net