คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 4)

“แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนเสร็จ จะมีชุมชนที่อยู่อย่างเข้มแข็งได้อีกต่อไป เช่น กรณีเขื่อนสิริกิติ์ ที่อุตรดิตถ์ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งชุมชนท่าปลา หลังจากมีการสร้างเขื่อนเป็นที่เรียบร้อย ชุมชนท่าปลาก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องมีการขนย้ายออกและเวนคืนพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้า รวมไปถึง กรณีสร้างเขื่อนภูมิพล ก็ได้มีบทเรียนในพื้นที่ชุมชนฮอดทั้งอำเภอ ทั้งวัด และหมู่บ้านนั้นต้องจมอยู่ใต้เขื่อนทั้งหมด และมีการย้ายอพยพมาอยู่ที่เชียงดาว ดอยเต่า และกระจัดกระจายไปอีกหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้น เมื่อหันมามองชุมชนบ้านโป่งอาง ซึ่งมีความห่างจากเขื่อนเพียงแค่ 1กิโลเมตร จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้” ภายในบริเวณวัดโป่งอาง ชาวบ้านและคนทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น นั่งล้อมวงกันเพื่อถกถึงโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กันอย่างเคร่งเครียด หลายคนหยิบข้อมูลเอกสารของกรมชลประทาน ออกมาอ่านวิเคราะห์กันดู ชื่อโครงการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยสำนักนโยบายและแผน ว่าจ้าง 3 บริษัทในการดำเนินการ ได้แก่ บริษัทพีแอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทพิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด แผนการดำเนินงาน การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สัญญาจ้างเลขที่ จ.46/2553 (กสพ.1) ลงวันที่ 20 กันยายน 2553 วันที่เริ่มปฏิบัติงาน 24 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 รวมระยะเวลา 600 วัน 1) ที่ตั้งโครงการฯ ตั้งอยู่ ม. 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 2) ขนาด /ความจุ เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ 1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 62.0 เมตร ยาวประมาณ 500เมตร 3) พื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว) เขตป่าอนุรักษ์ ที่เรียกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A (สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญ) 4) ระยะทางการสร้างเขื่อนห่างจากหมู่บ้านเพียง 1 กม. เพียงข้อมูลคร่าวๆ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง ต่างพากันวิตกกังวลกันอย่างหนัก นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น และเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในวงคุยชาวบ้านในวันนั้นว่า จากการศึกษาเอกสารชุดนี้ จะพบว่า เป็นโครงการศึกษาของกรมชลประทานร่วมกับการบริหารโครงการ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 พิกัดที่ 19 องศาลิปดา เป็นโครงการประเภทของอ่างเก็บน้ำ มีความจุน้ำในระดับของอ่างเก็บน้ำในระดับกักน้ำ 50 ล้านลูกบาทเมตร โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำสูงสุดที่ 1,500 ไร่ นั่นหมายถึงว่า หลังจากที่มีการสร้างอ่างเสร็จเรียบร้อย น้ำก็จะมีการท่วมพื้นที่ป่าไปประมาณ 1,500 ไร่ ในสถานการณ์ที่น้ำนิ่ง และยังไม่รวมช่วงที่มีน้ำหลาก โดยตัวเขื่อนสูง 62 เมตร ซึ่งสูงกว่าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (เขื่อนแม่กวง ความสูงของเขื่อน 58 เมตร) ส่วนความยาวของหน้าสันเขื่อนโป่งอาง จะยาว 500 เมตร ในขณะเขื่อนแม่กวง ยาว 600 เมตร “เมื่อได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกรมชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ เขาบอกว่า ความสูงของเขื่อนจะสูงกว่าเขื่อนแม่กวง เท่ากับตึก 20 ชั้น หรือสูงกว่าตึกสุจิณโณ ของโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่เลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราคิดจินตนาการให้เห็นภาพ นั่นหมายความว่า เราจะมีเขื่อนแม่กวงแห่งที่สองมาตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโป่งอาง และมีโรงผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อปั่นไฟและนำน้ำไปใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดลำพูนอย่างแน่นอน” นายโอฬาร อ่องฬะ กล่าว และทุกคนเริ่มมองเห็นแล้วว่า ในการประชุมช่วงที่ผ่านมาทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 จนถึงล่าสุดในวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ทางทีมศึกษา นักวิชาการและบริษัทรับจ้างของกรมชลประทาน ไม่ได้สนใจศึกษาในเรื่องของการซ่อมแซมเหมืองฝาย ซ่อมแซมแหล่งน้ำเดิม ในสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง แต่จะมุ่งสนใจเรื่องของการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำโป่งอาง เท่านั้น จนกระทั่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา จึงมีแผนการศึกษาออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้วว่า จะมีการสร้างเขื่อนโป่งอางในพื้นที่จุดไหนอย่างไร เมื่อชาวบ้านร่วมกับนักพัฒนาท้องถิ่น ได้ร่วมกันวิเคราะห์จากเอกสาร จากเอกสารแบบสอบถาม จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน จึงพบว่ามีการกำหนดแนวทางการศึกษาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนไว้อยู่ 3 แนวทาง คือ ตัวเขื่อนจุดแรกมีระยะทางประเมินที่เหมาะสม ในด้านวิศวกรรมและมีความปลอดภัยกับชุมชน โดยตัวเขื่อน (ความหมายของอ่างเก็บน้ำ ก็คือ เขื่อน) สร้างปิดกั้นแม่น้ำปิง บริเวณห้วยก้อ หรือท่าคะนิน ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือจากบ้านโป่งอางเพียง 1 กิโลเมตร ในเอกสาร มีการระบุบอกว่า ถ้าโครงการนี้สำเร็จ จะสามารถส่งน้ำไปให้พื้นที่เกษตร ท้ายน้ำ จำนวน18,500 ไร่ “เมื่อมีการคำนวณพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอเชียงดาวแล้ว ตั้งแต่บริเวณ โป่งอาง ห้วยไส้ ทุ่งข้าวพวง แม่จา เมืองงาย เชียงดาว แม่นะ นั้นมีพื้นที่ไม่ถึง 18,500 ไร่และที่สำคัญ ในแต่ละพื้นที่ในเขตอำเภอเชียงดาว ไม่ว่าทุ่งข้าวพวง เมืองงาย หรือ เชียงดาว ก็มีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จำนวนพื้นที่ 18,500 ไร่ จึงตรงกับพื้นที่ที่มีการศึกษาในพื้นที่รับน้ำในแอ่งของเชียงใหม่ -ลำพูน เสียมากกว่า” ชาวบ้านจึงรู้ว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่ตรงทั้งหมด แต่เป็นข้อมูลที่เขียนเพื่อจะเลี่ยงบาลีในเอกสารทั้งหมด ซึ่งแท้จริงแล้ว ทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทาน นั้นมีการสรุปไว้ชัดเจนไว้ในตอนท้ายอยู่แล้วว่า จะเลือกพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตบ้านโป่งอาง เพราะมองว่า น่าจะมีการดำเนินการได้สะดวกและมีผลกระทบน้อย เนื่องจากมีถนนเข้าถึงและมีปริมาณน้ำที่มาก ในขณะทางเลือกที่ 2-3 นั้น ต้องทำถนนลึกเข้าไป จากข้อมูลดังกล่าว ได้ทำให้ชาวบ้านโป่งอางและหลายพื้นที่ในอำเภอเชียงดาวนั้นตื่นตัวและมองไปถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต หากมีการสร้างเขื่อน และทำให้รู้มากขึ้นว่า ใครได้ ใครเสียจากโครงการนี้ ทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย “เพียงแค่โครงการนี้เข้ามาทำการศึกษาเรื่องของการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนโป่งอางครั้งนี้ มีนักวิชาการรับจ้าง และบริษัทปัญญาฯ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ก็ได้ใช้งบประมาณในการศึกษาไปมากถึง 35 ล้านบาท และใช้เวลาศึกษาเพียง600 วัน อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเอกสารผ่าน มันก็มีความเหมาะสมและความชอบธรรมในการสร้างเป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้คำถามที่ตามมา อาจไม่ได้มีการสร้างในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่กระแสที่บอกว่ายังไม่มีการสร้าง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนมาสร้างในวันไหนก็ได้ ก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะต้องสร้าง และถ้าหากมีการอนุมัติโครงการและดำเนินการสร้าง จะต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 1,500 ล้านบาท” นายโอฬาร บอกเล่าให้ชาวบ้านฟัง ในขณะที่ชาวบ้านโป่งอาง รู้แล้วว่า เป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกกระทำที่ต้องเจออย่างจัง ก็คือ การอพยพออกจากพื้นที่ หากมีการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่อยู่บริเวณก่อสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีการเขียนไว้ในเอกสารการศึกษา ในเรื่องของค่าเสียหายและค่าชดเชย นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น ต่อกรณีนี้ นายโอฬาร บอกเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า กรณี การชดเชยค่าเสียหาย นั้นจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1) พื้นที่ทำกินจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย (มีโฉนด) และ 2) พื้นที่ตั้งในโครงการ ไปจนถึงน้ำท่วม นั้นไม่มีเอกสารสิทธิและพื้นที่เองก็อยู่ในเขตป่า “เพราะฉะนั้นเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ก็เป็นเรื่องทีเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีเอกสารสิทธิก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง” นั่นทำให้ทุกคนมองเห็นภาพ เหมือนที่ตัวแทนทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทานได้บอกกับชาวบ้าน ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ เมื่อวันก่อนว่าจะมีรถสิบล้อ รถยนต์ 30 - 40 คัน ต่อเที่ยวต่อวัน ใช้เวลาในการวิ่งเข้าออก เพื่อการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านมองเห็นภาพ แรงงานต่างด้าว แรงงานจากต่างถิ่น เป็นแรงงานจาก ภายนอกจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านโป่งอางอย่างมหาศาล สิ่งที่ติดตามมาก็จะเป็นเรื่องปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอบายมุข เหล้า ผู้หญิง การทะเลาะวิวาท และปัญหาอื่นๆ ที่จะเข้ามาในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะติดตามมาในหมู่บ้านโป่งอาง และเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการศึกษาว่า คนโป่งอาง จะรับได้หรือไม่ ในห้วงระยะเวลา 4-5 ปี “หลังจากมีการสร้างเสร็จแล้ว ชุมชนเองจะเป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้ แต่ถ้าชุมชนโป่งอางมีการสร้างเขื่อนเสร็จและมีการรวมตัวกันอย่างนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนเสร็จเรียบร้อย จะมีชุมชนที่อยู่อย่างเข้มแข็งอย่างนี้อยู่ได้ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งชุมชนท่าปลา หลังจากมีการสร้างเขื่อนเป็นที่เรียบร้อย ชุมชนท่าปลาอยู่ไม่ได้ จึงต้องมีการขนย้ายออกและเวนคืนพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้า รวมไปถึง กรณีสร้างเขื่อนภูมิพล ก็ได้มีบทเรียนในพื้นที่ชุมชนฮอดทั้งอำเภอ ทั้งวัด และหมู่บ้านนั้นต้องจมอยู่ใต้เขื่อนภูมิพลทั้งหมด และมีการย้ายหรืออพยพมาอยู่ที่เชียงดาว อยู่ดอยเต่าและกระจัดกระจายไปอีกหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้น เมื่อหันมามองชุมชนบ้านโป่งอาง ซึ่งมีความห่างจากเขื่อนเพียงแค่ 1กิโลเมตร จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้” นายโอฬาร กล่าวทิ้งท้าย ด้าน นายจตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง กล่าวว่า สรุปแล้วผลดีที่จะเขามาในหมู่บ้านเรานั้นไม่มีเลย จะมีเพียงแต่ผลเสีย อย่างไรก็แล้วแต่พี่น้องก็มีความเห็นที่ตรงกันในเรื่องของการคัดค้านไม่เอาเขื่อน หรือโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำปิงตอนบน “ก็ขอฝากกับทางพ่อแม่พี่น้องบ้านของเราด้วยว่า บางที บางครั้งที่เราจะต้องใช้เอกสาร เราก็ต้องช่วยกัน ส่วนด้านผู้นำที่อาสาเข้ามาช่วยก็ให้มีความร่วมมือกันอย่างจริงๆจังๆ ส่วนตัวของผมเองก็จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มร้อย ในการร่วมกันต่อต้าน เพราะสุดท้ายเองเราก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท