Skip to main content
sharethis

วานนี้ (8ส.ค.) หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีการจัดนิทรรศการ ASEAN Festival โดยกลุ่มฟิล์มกาวัน (Film Kawan) กลุ่ม SEA Compass และกลุ่มอุษาคเนย์ที่รัก นิทรรศการ ASEAN Festival ถูกจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน และกำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมก้าวเข้าสู่การรวมเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “สุนทรียะ(ภาพ)อาเซียนในสื่อหลากมิติ” โดยการเสวนาครั้งนี้ได้พูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวกับภาพความเป็นอาเซียนที่ถูกสะท้อนผ่านสื่อในมิติต่างๆ นำเสวนาโดยธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนอิสระ ศรัณย์ บุญประเสริฐ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว และธนัชพร จันทรา นักจัดรายการวิทยุ กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินรายการโดย รศ. กำจร หลุยส์ยะพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สุนทรียภาพใน “สื่อ” ทำให้คนในอาเซียนเชื่อมโยงกัน ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนและนักถ่ายภาพผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุษาคเนย์ได้ยกตัวอย่างผ่านงานทางด้านวรรณกรรม หนังสือ บทเพลง และดนตรีของชาติในอาเซียนว่ามีรากฐานที่เชื่อมร้อยกันอยู่ ธีรภาพกล่าวว่าตนไม่อยากมองภาพของอาเซียนที่ถูกสะท้อนผ่านสื่อออกมาในด้านลบ เพราะตนเห็นว่ามีเพียงสุนทรียภาพเท่านั้นที่ทำให้คนในอาเซียนเชื่อมโยงกันได้ ธีรภาพเห็นว่าสุนทรียภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมาทางสื่อนั้นจะช่วยให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย เช่นเดียวกับธนัชพร จันทราที่มองว่าภาษาคือสื่อกลางทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกัน เธอกล่าวต่อไปว่าสุนทรียภาพทางสื่อนั้นจะช่วยลดอคติ และเป็นตัวกลางที่จะสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกัน หากจะเข้าใจสุนทรียภาพอาเซียนผ่านสื่อนั้นต้องเข้าใจในความเป็นอาเซียนเสียก่อน ศรัณย์ บุญประเสริฐ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยวกล่าวว่าภาพลักษณ์ความงามของอาเซียนที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น ที่ผ่านมาก็อาศัยช่องทางผ่านทางสื่อในการสะท้อนภาพออกมา ศรัณย์กล่าวต่อไปว่าการจะเข้าใจในสุนทรียภาพในสื่อของอาเซียนนั้น เราต้องเข้าใจในความเป็นอาเซียนเสียก่อน เขาเห็นว่าประเทศไทยเองก็รู้จักอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านน้อย เพราะที่ผ่านมาเรามองเพื่อนบ้านจากมุมของเราเองโดยไม่ได้มองในมุมของอีกฝ่าย ศรัณย์กล่าวต่อไปถึงการมองอาเซียนและเพื่อนบ้านผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกมองเพียงด้านเดียวเช่นกัน เขาเสนอว่าควรมีการปรับปรุงฐานคิดเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในรากฐานทางวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นรากเหง้าที่อาเซียนมีร่วมกัน และการตั้งเป้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียนนั้น เขาเห็นว่าความเป็นหนึ่งเดียวของการตลาดยังไม่พอ หากแต่ต้องให้ความสำคัญของการสร้างความรู้ความเข้าใจของวัฒนธรรมอาเซียนผ่านทางสื่อด้วย ประวัติศาสตร์เป็นเพียงชุดข้อมูลเสมือนจริงที่ถูกเรียงร้อยจากจินตนาการ ศรัณย์กล่าวถึงภาพของอาเซียนที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อในประเทศไทยปัจจุบันว่า เรื่องของเพื่อนบ้านที่ถูกถ่ายทอดออกมาส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวเขามองว่าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ภาพของเพื่อนบ้านที่ถูกสะท้อนออกมานั้นยังมีข้อจำกัดตรงที่ถูกมองผ่านในมุมมองของเราเองจนนำไปสู่ปัญหาต่อเพื่อนบ้านในหลายครั้ง เช่น กรณีที่ภาพยนตร์ไทยบางเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งคลิปของชาวลาวที่ถูกโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ยูทูป ศรัณย์กล่าวว่าการที่เราไปกระแทกเพื่อนบ้านและยกตัวเองขึ้นนั้น ฝ่ายเพื่อนบ้านเองก็มีสื่อของตนออกมาอีกแบบเช่นกัน เขาเห็นว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นเพียงชุดข้อมูลเสมือนจริงที่ถูกเรียงร้อยด้วยจินตนาการที่ไม่มีใครทราบว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร ศรัณย์จึงเสนอว่าควรมีการชำระประวัติศาสตร์ของอาเซียน เพราะประวัติศาสตร์แต่ละฉบับของอาเซียนนั้นต่างก็มีจุดที่แตกต่างกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net