สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธเถรวาทแบบไทยรับใช้อะไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ธรรมก็เช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ทั้งดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ ใครที่เข้าใจความหมายข้อนี้อย่างถ่องแท้ ย่อมประจักษ์ว่าทุกสรรพสัตว์คือพุทธ” (จาก “ดวงตะวันในดวงใจฉัน” (the my heart) ของ ติช นัท ฮันห์ แปลโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู หน้า 85) ผมคิดว่า ในขณะที่พุทธนิกายเซ็น และวัชรญาณรับใช้ความเป็นมนุษย์และมนุษยชาติ แต่พุทธเถรวาทแบบไทยกลับยังหลับหูหลับตารับใช้ระบบชนชั้น Egoism และทุนนิยมบริโภคผ่านการโปรโมทอุดมการณ์ธรรมราชา แฟชันปฏิบัติธรรมดูจิตดูใจไม่ใส่ใจสังคมและวัฒนธรรมการทำบุญทำทานเพื่อสรรพสมบัติ ไม่สนใจความเป็นธรรมทางสังคม อุดมการณ์ธรรมราชา บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในความหมายว่า รัฐใช้อุดมการณ์ทศพิธราชธรรมของพุทธเป็นอุดมการณ์ปกครองบ้านเมืองเพื่อความเป็นธรรมและผาสุก หรือรัฐใช้อุดุมการณ์นั้นเป็นเครื่องมือสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่อำนาจของตนเอง เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดูเหมือนท่านพุทธทาสภิกขุ จะเชื่อว่า เคยมีระบบที่รัฐใช้อุดมการณ์ธรรมราชาเป็นอุดมการณ์ปกครองเพื่อความผาสุกอยู่จริง แต่ถูกยกเลิกไป ดังที่ท่านกล่าวว่า เขาเคยมีอยู่ระบบหนึ่ง เขาเรียกว่าพระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ไปศึกษาดูเถอะ เป็นระบบสังคมนิยมแบบพระเจ้า องค์คุณ 10 ประการ ที่ทำให้เป็นพระราชามีทศพิธราชธรรมนั้น เป็นหลักสังคมนิยมแบบพระเจ้าทั้งนั้น โผล่มาก็ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺวํ มทฺทวํ ตปํ อโกธํ อวิหึสํ ขนฺตึ จ อวโรธนํ นี้ มันเป็นธรรมะสูงสุด และแบบสังคมนิยม แต่ถ้าถึงคราวเผด็จการก็ใช้ธรรมะเผด็จการ …ถ้าเผด็จการมันก็เผด็จการโดยธรรมะ อย่างพระเจ้าเผด็จการ หรือพระพุทธเจ้าเผด็จการ นี่นักการเมืองสมัยนี้เขาก็บอกว่าหาไม่ได้ มันก็มีส่วนจริง เพราะว่าโลกได้ทิ้งระบบที่ดีที่สุดอย่างนี้ไปเสียแล้ว เนื่องมาจากทิ้งพระเจ้าก่อน แล้วมันก็ทิ้งระบบที่บุคคลมีคุณธรรม ตามแบบของพระเจ้าเสียหมด[1] แต่ดูเหมือน ส.ศิวรักษ์ จะมองต่างออกไปว่า แต่ตามความเป็นจริงทางการเมืองนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ผมว่าเราต้องยอมรับความจริงนะครับ พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่มาถือพุทธ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ยกที่ดินถวายเป็นวัดแห่งแรก คือ วัดเวฬุวัน แต่พอมาถือพุทธแล้วแหยเลยครับ ถูกลูกฆ่าตาย ถือพุทธแล้วแหยครับ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่แย่งราชสมบัติพ่อได้ เพราะไปเข้ากับเทวทัต ไม่ได้เข้าหาพระพุทธเจ้า พระเจ้าโกศลก็เหมือนกันนะครับ นับถือพระพุทธเจ้าในเรื่องส่วนตัว เช่น ท่านเสวยมากไป พระพุทธเจ้าบอกเสวยให้น้อยลง ก็ดี แต่ท่านก็เป็นคนบ้าสมภารไปตลอดชีวิต พระเจ้าอโศกเองมานับถือพุทธ ทำดีมากเลย แต่พระเจ้าอโศกเองก็ล้มเหลว ถูกแย่งราชสมบัติภายในรัชกาลพระองค์เอง อีกนัยหนึ่ง บทบาทคำสอนศาสนาพุทธในทางการเมืองมีความล้มเหลวมาโดยตลอด หรือผู้มีอำนาจเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองในทางการเมืองยิ่งกว่าในทางศาสนา[2] แม้แต่เรื่องความสัมพันธ์เชิงรูปธรรมของรัฐกับพุทธศาสนา หรือรัฐกับสถาบันสงฆ์นั้น ก็ดูเหมือนนักวิชาการพระสงฆ์ กับนักวิชาการฆราวาสจะมองต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มุมองของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ขณะเป็นพระเทพเวที ที่ว่า ในสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะที่เข้ารูปเป็นมาตรฐานพอสมควร พระสงฆ์สั่งสอนหลักธรรมในการปกครองและสอนนักปกครองให้มีธรรม แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในกิจการเมือง ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ยกชูสถาบันสงฆ์ไว้ในฐานะที่ เหนือการเมือง โดยมีประเพณีทางการเมืองที่ปฏิบัติมาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ เช่นว่า ผู้ใดหนีเข้าไปในพัทธสีมาของวัดก็เป็นอันพ้นภัยการเมือง เหมือนลี้ภัยออกไปในต่างประเทศ ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นภัย และเป็นผู้พ้นภัยจากปรปักษ์ทางการเมือง ดังกรณีของข้าราชบริพารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์สมมติพระราชวังเป็นพัทธสีมาแล้วอุปสมบทให้ พาออกจากวังผ่านกองทัพของผู้ยึดอำนาจ ไปสู่วัดได้โดยปลอดภัย และกรณีของขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นต้น[3] ขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ มองว่า พุทธศาสนาและพระสงฆ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐ เช่น ศักดินา (กษัตริย์) แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา [4] จะเห็นว่า หากมองในเชิงข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์อุดมการณ์ธรรมราชาไม่ใช่ “สัจธรรมที่เป็นอกาลิโก” หากแต่เป็นขั้นตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมการเมืองในบางนครรัฐของอินเดียโบราณ บางนครรัฐที่นับถือพุทธในแถบเอเชียรวมทั้งสยาม และจะว่าไปแล้วอุดมการณ์ดังกล่าวก็ถูกใช้เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจทางการเมืองมากกว่าจะสร้างความเป็นธรรมและความผาสุกทางสังคมอย่างที่ท่านพุทธทาสมอง ปัจจุบันนี้แม้สังคมไทยจะผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 และ “ประกาศคณะราษฎร” ก็ระบุชัดว่า “แผ่นดินนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่เราก็ยังอยู่ในยุคของการปลูกฝังและโปรโมทความเชื่อเรื่อง “บ้านของพ่อ” พร้อมกับเชิดชูอุดมการณ์ธรรมราชาและสำทับ “ความกตัญญู” ของราษฎรที่ต้องมีต่อผู้ปกครอง ผ่านสื่อของรัฐ ระบบการศึกษาแบบทางการ และหนังสือต่างๆ รวมทั้งผ่าน “การตลาดหนังสือธรรมะ” ด้วย ซึ่งที่จริงแล้วตามหลักการของทศพิธราชธรรม (และจักรวรรดิวัตร) ในพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิมไม่มีการสำทับว่าผู้ใต้ปกครองต้องกตัญญูต่อผู้ปกครองแต่อย่างใด มีแต่เน้นว่าผู้ปกครองต้องมีปัญญา มีศีล มีคุณธรรม ความอ่อนน้อม ความซื่อตรง เที่ยงธรรม ดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรม ผาสุกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และผู้ปกครองควรรับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ตามความจำเป็นเท่านั้น วันก่อนผมบังเอิญเปิดไปเจอรายการ “พื้นที่ชีวิต” ทาง Thai PBS ดำเนินรายการโดย “คุณนิ้วกลม” เขาพาเที่ยววัดแห่งหนึ่ง มีคนจำนวนมากไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ท่องบทสวดไป สลับกับการตะโกนคำว่า “รวยๆ!!” พร้อมกับเอามือตบกระเป๋าตังค์ไปด้วย คำถามคือหากศาสนาหมายถึงศรัทธาหรือความเชื่อในคุณค่าบางอย่าง เช่น เชื่อในคุณค่าของความจริง ความดี ความงามสูงสุดคือพระเจ้า หรือเชื่อในความพ้นทุกข์ เชื่อในคุณค่าของอิสรภาพทางจิตวิญญาณ หรือเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ อิสรภาพและสันติภาพของมนุษยชาติ แต่ดูเหมือนพุทธศาสนาปัจจุบันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองความเชื่อในคุณค่าของเงิน ของวัตถุนิยม ของชนชั้น สังคมไทยมีวัฒนธรรมการทำความดีในนามของการทำบุญทำทานเพื่อให้ได้ “สรรพสมบัติ” เงินทองไหลมาเทมา เจริญรุ่งเรืองด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ “การตลาดหนังสือธรรมะ” ที่ตอบสนองความต้องการแบบนี้ รวมทั้งเรื่องอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ นับวันจะขยายตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับ “การตลาดหนังสือธรรมะ” ประเภทดูจิตดูใจตนเอง ไม่สนใจปัญหาสังคม มองปัญหาสังคมเป็นเรื่องกิเลส เรื่องความวุ่นวายทางโลกที่ผู้มุ่งทางธรรมไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็กำลังขยายตัวมากขึ้นๆ เช่นกัน เราแทบจะไม่ค่อยเห็นหนังสือธรรมะประเภทที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจความหมายและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นมนุษยชาติ นอกจากจะต้องอ่านหนังสือแบบเซ็น และวัชรญาณซึ่งก้าวหน้าอย่างกลมกลืนกับโลกสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องการทำความเข้าใจความหมายของความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษยชาติที่สอดคล้องกับมิติสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค และสันติภาพมากกว่า เช่น Concept ที่ว่า “ทุกสรรพสัตว์คือพุทธะ” เป็น Concept ของ “ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์” ที่สวยงามมาก ขณะที่พุทธเถรวาทแบบไทยแทบจะไม่กล้าเอ่ยประโยคเช่นนี้เลย เพราะไปถือว่าพุทธะเป็นสัพพัญญูเหนือมนุษย์ทั้งปวงในโลกธาตุ หากพุทธเถรวาทแบบไทยยังหลับหูหลับตาถวิลหาอดีต อยู่ในโลกแคบๆ ของตนเอง ไม่สนใจรับใช้ความเป็นมนุษย์และมนุษยชาติ พุทธศาสนาก็จะอยู่ในสภาพเป็นเครื่องมือของระบบชนชั้น ระบบการกดขี่เอาเปรียบ และเป็น “ยากล่อมประสาท” ภายใต้วัฒนธรรมการทำความดีเพื่อสรรพสมบัติและการตลาดธรรมะแบบ “สุขกันเถอะโยม” อย่างฉาบฉวยเช่นนี้ต่อไป และนั่นคือ “ความเสื่อม!” .................................................... [1] พุทธทาสภิกขุ.ธรรมกับการเมือง ชุดธรรมโฆษ (น.194-195) [2] ส.ศิวรักษ์.เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง:ความกล้ากับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอัน อยุติธรรม.http://www.prachatai.com/journal/2011/0132502.(1/14/211). [3] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก.หน้า 28. [4] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย.หน้า 66-67.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท