Skip to main content
sharethis

ละหมาดกลางฝน – ชายมุสลิมกลุ่มนี้ต้องละหมาดกลางฝนเนื่องจากมีคนมาละหมาดกันหนาแน่น จนเต็มมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ระหว่างการละหมาดตะรอเวียะฮ์ ซึ่งมีเฉพาะในเดือนรอมฎอน แผงอาหารคาวหวานในย่านต่างๆ ในตัวเมืองปัตตานีในยามเย็น คึกคักขึ้นมาถนัดตา หลังจากเงียบเหงามาตลอดช่วงกลางวัน เช่น สองข้างทางถนนเส้นหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผิดปกติไปจากทุกวัน นั่นคือบรรยากาศวันแรกของเดือนรอมฎอนของที่นี่ ซึ่งคงไม่ต่างจากส่วนอื่นของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่อื่นๆ ที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น ผู้คนต่างเข้าเออออรอคิวซื้อของหวานและกับข้าวไว้เตรียมละศีลอดในช่วงเวลาประมาณ 6 โมงครึ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดระยะเวลาอีก 29 วันหลังจากนี้ บางร้านถือโอกาสในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ เป็นช่วงหยุดพักงานของพนักงานไปด้วย จากถนนโล่งๆ แล้วเกิดรถติดขึ้นมาทันที เพราะทั้งนักเรียน นักศึกษาและประชาชนต่างออกมาหาซื้ออาหารในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่สองข้างทางก็เต็มไปด้วยร้านขายอาหารจำพวกของหวานและกับข้าว ครั้งถึงเวลากลางคืน สินค้าจำพวกของหวานก็จะหายไป เปลี่ยนเป็นจำพวกก๋วยเตี๋ยว น้ำชา โรตี หรือกับข้าวรอบดึก หรือซื้อตุนไว้กินช่วงก่อนถึงเวลาถือศีลออดของอีกวัน ในช่วงเวลาประมาณตีห้า หรือเรียกว่า อาหารซะโฮร์ ถนนจาบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถือเป็นย่านขายอาหารคาวหวานใหญ่ที่สุดในเขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะในช่วงเดือนถือศีลอด ซึ่งถนนสายนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นตลาดรวมอาหาร ผู้คนมุ่งหน้ามาเดินจับจ่าย เลือกซื้ออาหารกันที่นี่ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนมพื้นเมือง เครื่องดื่ม อาหารที่ไม่ค่อยพบเห็นกันในเดือนอื่น ก็จะไปเห็นกัน อย่างตูปะซูตง หรือปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว แม่ค้าขนมจีบในตลาดจะบังติกอคนหนึ่ง เล่าว่า เริ่มเปิดร้านขายประมาณบ่าย 2 โมง ซึ่งในวันแรกของเดือนรอมฎอน ของขายหมดก่อน 6 โมงเย็น เช่นเดียวกับพ่อค้าน้ำแข็งที่บอกด้วยน้ำเสียงดีใจว่า “วันแรกก็ขายดีเลย น้ำมะพร้าวหมดแล้ว น้ำเขียวก็เกือบหมด” ที่ตลาดโต้รุ่ง แม้บรรยากาศไม่คึกคัก สู้ตลาดจะบังตีกอไม่ได้ แต่พ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็ยังเปิดขายเหมือนทุกวัน เริ่มตั้งร้านเวลาเดิม และเก็บร้านเวลาเดิม ถนนโรงเหล้าสาย ก. มีผู้คนออกมาซื้ออาหารพอสมควร ถึงขนาดที่ว่าบางร้าน เดิมขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ขายเสื้อผ้าแฟชั่น อย่างร้านไฮโซไซตี้ที่ปกติขายเสื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ก็เปลี่ยนมาตั้งแผงขายของหวานหลากสีสัน วนกลับมาสายหน้า ม.อ. ร้านนิมะ ตั้งอยู่ในย่านหอเช่า ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียน นักศึกษา เจ้าของร้านบอกว่า ขายในราคาที่ไม่แพงมาก เพราะกลัวเด็กไม่ซื้อ กะดะห์ เจ้าของแผงอาหารริมถนนหน้า ม.อ.เล่าว่า เดือนบวชทุกปีจะเตรียมของขายมากกว่าปกติสามเท่า แต่ปีนี้ของแพงขึ้น แต่ต้องขายในราคาเท่ากับปีที่แล้ว เพราะกลัวลูกค้าไม่ซื้อ แต่จะใช้วิธีลดปริมาณสินค้าลง เช่น แกงถุง ซึ่งก็ยังขายได้ สำหรับกับข้าวที่ขายดีที่สุดของร้านกะดะห์ น่าจะเป็นแกงเขียวหวานไก่ เพราะลูกค้าต่างชี้นิ้วสั่ง จนแม่ค้าตักใส่ถุงแทบไม่ทัน ตกกลางคืน หลังจากทุกคนอิ่มหนำกับอาหารมื้อแรกของวันถือศีลอดและได้พักผ่อนตามอัธยาศัยไปสักพักหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนมุ่งหน้าไปมัสยิดเพื่อร่วมกันละหมาดตะรอเวียะฮ์ ซึ่งมีเฉพาะเดือนรอมฎอนเท่านั้น หลังจากการละหมาดปกติ เสียงอาซาน เรียกร้องให้ออกมาละหมาดในช่วงค่ำคืน ส่งสัญญาณให้ชาวมุสลิมออกมาพร้อมหน้าที่มัสยิด ทำให้ทุกมัสยิดแน่นขนัดไปด้วยชาวมุสลิมผู้ศรัทธา จนบางแห่งล้นออกมานอกมัสยิดทุกปี เช่น ที่มัสยิดปะการอ ถนนโรงเหล้าสาย ก. หลังเที่ยงคืน เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สุดยอดของเวลาในรอบวัน สำหรับการประกอบศาสนกิจ ยิ่งในเดือนรอมฎอน ซึ่งถือเป็นสุดยอดของเดือนในรอบปี ทั้งสำหรับการละหมาด การกล่าวรำลึกถึงพระเจ้า การอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน และการขออภัยโทษ ดังนั้นอีกกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงเดือนรอมฎอน คือการลุกขึ้นมาละหมาดกลางดึก ยิ่งในช่วงๆ ท้ายของเดือน ยิ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากจะมีคืนหนึ่งที่เรียกว่า คืน ไลลาตุลก็อดร์ ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านเขียนว่า เป็นคืนที่ยิ่งใหญ่มหาศาลยิ่งกว่า 1,000 เดือน แน่นอนว่า บรรยากาศแบบกลางวันเงียบเหงา บ่ายเย็นคึกคัก ค่ำคืนผู้คนก็มุ่งหน้าไปมัสยิด ตกดึกลุกขึ้นประกอบศาสนกิจ จะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป และจะยิ่งเข้มข้นขึ้นจนกว่าจะถึงวันฮารีรายอ หรือวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอด ดูดวงจันทร์เทคโนโลยียังถูกต้าน วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เป็นวันที่สำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้เป็นวันดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันถือศีลอดในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลามเป็นวันแรกในวันรุ่งขึ้น หากมีผู้พบเห็นดวงจันทร์ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีร่วมกับ รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ หะยีวามิง อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีโปรแกรมดูดวงจันทร์ ที่ชั้น 8 ของโรงแรมซีเอส ปัตตานี ติดต่อกันเป็นปีที่สามแล้ว แต่มองไม่เห็นดวงจันทร์ เนื่องจากท้องฟ้าปิด รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ บอกว่า การดูดวงจันทร์ของประเทศไทย ยังไม่ยอมรับผลที่มาจากการคำนวณโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจากเครื่องมือเทคโนยีสมัยใหม่ แต่จะยอมรับผลจากการมองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น “ปีนี้ผลการดูดวงจันทร์ มีคนเห็นดวงจันทร์ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เหมือนหลายปีที่ผ่านมา เพราะจุดดูดวงจันทร์อยู่บนเทือกเขาสูงมาก ไม่มีสิ่งบดบังสายตา สังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ง่าย เป็นทำเลที่ดีมากทีเดียว จึงมีคนสนใจไปดูดวงจันทร์ที่นั่นเป็นจำนวนมาก” รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ บอกด้วยว่า วิทยาศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้มาก เช่นการคำนวณว่าจะเห็นดวงจันทร์หรือไม่ คือ โปรแกรมคำนวณการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเห็นดวงจันทร์ตอนไหน ตัวอย่างโปรแกรม Starry Night เป็นต้น “แต่ผู้รู้ในศาสนาอิสลามยังไม่เปิดใจรับในการใช้เครื่องมือดังกล่าว จึงต้องใช้การมองด้วยตาเปล่าแทน ซึ่งความจริงไม่ได้มีข้อห้ามในหลักการศาสนาอิสลามแต่อย่างใด” รองศาสตราจารย์นิแวเต๊ะ ทิ้งท้ายว่า นั่นอาจเป็นเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังจำกัด ทำให้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการคำนวณการโคจรของดวงจันทร์หรือ Moon Phase ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับประเทศซาอุดิอาราเบีย แต่ที่ประเทศมาเลเซีย มีการใช้วิธีการนี้มานานแล้ว จึงสามารถประกาศวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนได้เร็วกว่าประเทศไทยหนึ่งวันทุกปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net