ตลกร้าย กรณี “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ถูก มติชน “เชิญออก”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“การยอมรับความแตกต่างและใช้ความแตกต่างเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมเป็นความงดงามของ ปชต. แต่การปิดกั้นผู้อื่นคือ อนารยะ” -- ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ 31 กรกฎาคม เวลาประมาณ 8 โมงเช้า ผ่านทวิตเตอร์แอคเคานท์ @Prasong_Lert https://twitter.com/#!/Prasong_lert/status/97452873906008064 ----------------------------------------------- การที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นักข่าวอาวุโส ผู้ทำงานที่เครือมติชนมาร่วม 26 ปี และมีชื่อเสียงทางด้านการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ถูกบีบออกจากมติชนเป็นเรื่องที่สะเทือนใจและน่าเป็นห่วงสำหรับคนที่รักประชาธิปไตยและสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หากทว่า ท่ามกลางเสียงแสดงความเห็นใจและเสียใจต่อกรณีนายประสงค์ และความเงียบจากฝ่ายเสื้อแดงที่เรียกตนว่า “รักประชาธิปไตย” ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตความย้อนแย้งระดับตลกร้าย มาให้ช่วยกันพิจารณาดังนี้ 1. วันที่ 31 กรกฎาคม เวลาประมาณ 8 โมงเช้า นายประสงค์ทวีตผ่านทวิตเตอร์แอคเคาท์ @prasong_lert เพื่อขอบใจผู้ที่แสดงความชื่นชมและเป็นห่วงเป็นใยต่อชะตากรรมของตนว่า “@xxxxxxx ขอบคุณครับ การยอมรับความแตกต่างและใช้ความแตกต่างเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมเป็นความงดงามของ ปชต. แต่การปิดกั้นผู้อื่นคือ อนารยะ” ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อความนายประสงค์ทุกอย่าง แต่อดมิได้ที่จะถามว่า จุดยืนของนายประสงค์ช่วงที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต่อสื่อเสื้อแดง เป็นอย่างไร ซึ่งรวมถึงคนอย่างนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไล่บี้จนต้องไปพิมพ์หนังสือ Red Power ในประเทศกัมพูชา ทั้งยังถูกจับกุมข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงคำถามเช่น ในช่วงปี 2552 ซึ่งวิทยุ สถานีโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์เสื้อแดงจำนวนมากถูกไล่ปิด นายประสงค์เคยแสดงจุดยืนบ้างไหมเรื่องความจำเป็นที่สังคมไทยควร “ยอมรับความเห็นต่าง” นี่ยังไม่รวมถึงจุดยืนของนายประสงค์ต่อการทำลายความเห็นต่างอย่างแท้จริงในสังคมไทยอย่างร้ายแรงที่สุด อย่าง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่าที่ผู้เขียนจำได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายประสงค์ในเวทีสาธารณะอย่างน้อยสองครั้ง จุดยืนของนายประสงค์ต่อกฎหมายที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยพื้นฐานนี้ก็คือ ไม่ต้องไปทำอะไร และไม่มีปัญหาอะไรกับกฎหมายนี้ ผู้เขียนจึงอดแปลกใจไม่ได้ว่า มาวันนี้ นายประสงค์กลับกลายเป็นผู้ที่ชื่นชอบ “ความแตกต่าง” ทางความคิดไปได้อย่างไร 2. ก่อนหน้านั้น นายประสงค์ได้ทวีตขอบคุณ “เปลว สีเงิน” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์ผู้ที่กระทำต่อนายประสงค์ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่า เป็นสิ่งที่พึงกระทำอยู่ แต่อยากจะชี้ให้เห็นถึงตลกร้ายในเรื่องนี้ว่า นายประสงค์มิได้ตระหนักหรือไงว่า เปลว สีเงินก็มีระดับ การยอมรับ “ความแตกต่าง” ทางการเมืองในระดับที่น่าจะเรียกได้ว่าต่ำเช่นกัน ดูได้จากการที่เปลว สีเงิน จัดการปิดปากอดีตคอลัมนิสต์ไทยโพสต์ สีแดง ที่ใช้นามปากกาว่า “ใบตองแห้ง” ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่มติชนเพิ่งจัดการกับนายประสงค์ 3. ส่วนบรรดาเสื้อแดง โดยเฉพาะบรรดาเสื้อแดงที่เรียกตนว่า เป็นพวกหัวก้าวหน้า หรือเสื้อแดงเพี่อประชาธิปไตยก็ตาม พวกเขาเงียบหายไปไหนกันหมดล่ะ ทำไมไม่ออกมาปกป้องให้สังคมและสื่อมีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง หากพวกคุณไม่เห็นคุณค่าของความเห็นต่าง และความสำคัญของความเห็นต่างอันหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย (ซึ่งก็น่าจะเป็นสังคมแบบที่คุณอยากเห็นมิใช่หรือ) พวกคนเสื้อแดงก็ควรสำเหนียกว่า หากพวกคุณไม่ออกมารักษาสิทธิของผู้เห็นต่าง ณ วันนี้ ในวันหน้า เมื่อใดที่รัฐบาลที่เห็นต่างจากพวกคุณกลับมามีอำนาจ ความเห็นของสื่อหรือนักข่าวที่แดง ก็จะถูกเหยียบย่ำจัดการ ไม่ต่างจากการที่นายประสงค์ถูกกระทำในวันนี้ แบบทีใครทีมัน แบบที่ใครมีอำนาจ ก็ปิดปากผู้ไม่มีอำนาจ หรือผู้เห็นต่าง ผู้เขียนอยากบอกคนเสื้อแดง และคนเสื้อสีอื่นๆ ว่า หากเราไม่ปกป้องสิทธิในการแสดงออก สังคมไทยก็ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าคุณสนใจแต่จะปกป้องเสียงที่เห็นเหมือนคุณ หรือเสียงที่คุณเห็นว่าเป็น “คนดี” ในมุมมองของคุณ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะดีอย่างไร มันก็ไม่สามารถทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ความคิดเห็นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะทางการเมือง เศณษฐกิจ หรือสังคม สามารถมีที่ยืนได้ โดยไม่ถูกทำลายหรือปิดกั้น 4. ผู้เขียนยืนยันว่า กรณีนายประสงค์ถูกบีบออก เป็นสิ่งที่สังคมต้องออกมาร่วมกันเรียกร้องให้มติชนตอบคำถามให้ชัดเจน หรือไม่ก็ต้องออกมาประณามมติชน หากเหตุผลที่บีบออกเพียงเพราะคนที่รักทักษิณเกลียดประสงค์เกินไป อย่างไรก็ตามนั่นก็ไม่ได้ทำให้นายประสงค์กลายเป็นผู้ที่รักและสนับสนุนปกป้องความเห็นต่างโดยปริยายและอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเห็นต่างที่ต่างจากนายประสงค์ หากเราย่อมต้องถามเช่นเดียวกันว่า นายประสงค์เชื่อมั่นว่า สังคมต้องมีพื้นที่สำหรับผู้เห็นต่าง โดยไม่ต้องถูกทำให้เงียบ ไล่ออก หรือถูกโยนเข้าคุกเข้าตารางจริงหรือ หรือเป็นเพียงการที่นายประสงค์ท่องคาถาใหม่ หรือใส่หัวโขนใหม่ ภายใต้บริบทที่ถูกยัดเยียดให้ใหม่ ผู้เขียนเสียใจที่ต้องตอบว่า ผู้เขียนกังขาอย่างยิ่งว่า จุดยืนแท้จริงของนายประสงค์เป็นอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ถึงแม้เราจะเห็นต่างกัน ผมก็ขอยืนยันว่า คนไทย ไม่ว่าเสื้อสีแดง สีเหลือง หรือสีอะไร ก็ควรออกมาประณามผู้กระทำการปิดปากนายประสงค์ เพื่อว่า วันหนึ่งสังคมไทยจะได้เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อที่ว่า สังคมจะเรียนรู้ยอมรับว่า คุณอาจเห็นต่างจากผม แต่ผมเชื่อว่า คุณมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่าง โดยไม่ถูกปิดปาก และจักสู้ปกป้องสิทธิในการเห็นต่างของคุณและทุกคน ปล.1 การเขียนบทความเกี่ยวกับนายประสงค์ ผู้เคยเป็นนายกสมาคมนักข่าวสองสมัย ทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นมาได้อีกว่า การจัดอันดับเสรีภาพของสื่อไทย จากองค์กรต่างประเทศเช่น Freedom House องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน และ Committee to Protect Journalists ได้ตกลงไปฮวบฮาบจนกระทั่งทุกวันนี้ไทยตกมาอยู่อันดับดับท้ายๆ ของโลกร่วมกับสังคมเผด็จการหลายประเทศไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นภายใต้การนำของคุณประสงค์ในฐานะสมาคมนักข่าวฯ แล้วสุดท้ายมติชนก็มาจัดการกับนายประสงค์แบบนี้หลังจากเขาพ้นตำแหน่งที่สมาคมฯ ได้ไม่กี่เดือน มันช่างเป็นตลกร้ายเสียจริง ปล.2 สำหรับหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งเรียกตนเองว่า เป็น “หนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อสังคมคุณภาพ” นั้น น่าจะเปิดพื้นที่วิพากษ์รัฐบาลเพื่อไทย/ยิ่งลักษณ์/ทักษิณให้มากขึ้น ในเมื่อเพื่อไทยกำลังจะตั้งรัฐบาล แต่ผู้บริหารกลับเลือกที่จะผลักไสนายประสงค์ออก ผู้เขียนก็มองมิออกว่า มันจะช่วยทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมคุณภาพ” ได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท