Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนที่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศคนใดจะก้าวลงจากตำแหน่ง เขาหรือเธอเหล่านั้นย่อมคิดในใจว่า ผลงาน หรือ “Legacy” ของตนจะ “ตกทอด” ประหนึ่งมรดกทางการเมืองอันล้ำค่า หรือ “ตกค้าง” ดั่งพิษร้ายที่บ่อนทำลายประเทศ หากเรามอง “Legacy” ในแง่ดีเสมือน “ตำนาน” ที่เล่าขาน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช คงถูกจำในฐานะผู้นำที่ส่งทหารไปต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอย่างเข้มแข็ง เด็ดขาดและอาจหาญ ในขณะที่วันหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาอาจถูกจดจำในฐานะผู้ถอนทหารกลับบ้านจากสงครามอย่างสำเร็จและปลอดภัย อดีต ปธน. บุช ย่อมไม่อยากให้ใครกล่าวถึงเขาในฐานะผู้สั่งทรมานมนุษย์เพื่อล้วงข้อมูลการก่อการร้ายมาช่วยชีวิตทหารและคนของตนที่ตายไปมาก และ ปธน. โอบามา ย่อมแสลงใจหากใครจะนึกถึงเขาในฐานะผู้ใช้เครื่องบินรบไร้นักบิน (UAV หรือ drone – ควบคุมโดยมนุษย์จากระยะไกล) หากเครื่องจักรเหล่านี้ทำให้ประชาชนในบริเวณที่ถูกโจมตีเสียชีวิตไปมากกว่าการทำสงครามโดยทหารมนุษย์ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจถูกจดจำในฐานะผู้นำที่พาชาติผ่านวิกฤติเศรษฐกิจโลก จัดเก็บรายได้เข้าคลังจนประเทศมีเงินสำรองเป็นประวัติกาล และกล้ายุบสภาเพื่อต่อสู้ตามกติกา แต่คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่อยากถูกหลอกหลอนโดยวิญญาณของ 91, 92 หรือ 93 ศพ หรืออีกหลายศพของทหารไทยที่ชายแดนกัมพูชา สำหรับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันหนึ่งอาจถูกจดจำในฐานะผู้ที่นำแห่งยุคปรองดองภายใต้ความจริงและกฎหมาย สลายอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และเทิดทูนประชาธิปไตย หรือ คุณยิ่งลักษณ์อาจเป็นเพียงเผด็จการหน้าสวย ที่อวยประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยท่องคาถาปรองดองที่ตนกุมไว้เด็ดขาด พร้อมสมยอมต่ออำมาตย์นอกระบบ เมื่อคนที่บอกว่าตนรู้อนาคตคือคนโกหก และเมื่อความหวังของชาติขึ้นอยู่กับจิตใจของคนในชาติ ผู้เขียนจึงต้องฝากความหวังและกำลังใจไว้กับคุณยิ่งลักษณ์ดังนี้ 1. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องเป็นผู้นำการปรองดองอย่างจริงใจ เมื่อประชาชนเลือกคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ คุณยิ่งลักษณ์ต้องชัดเจนนับตั้งแต่การทำงานวันแรกว่าความปรองดองไม่ใช่ภาระของคณะกรรมการหรือหน่วยงานใดแต่ผู้เดียว (ซึ่งอาจต้องใช้เวลาทำงานเป็นปี) แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน และต้องเริ่มต้นจากความจริงใจของตัวคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน การเปิดประชุมสภาวันแรกเป็นโอกาสอันดีที่คุณยิ่งลักษณ์จะส่งสัญญาณปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าคำพูดนโยบาย หากคุณยิ่งลักษณ์เชื่อในการเมืองที่ปรองดอง บนพื้นฐานของความโปร่งใส ร่วมมือและรับฟังซึ่งกันและกัน อย่างน้อยที่สุด เรื่องตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็อาจขอให้พรรคฝ่ายค้านเสนอชื่อรองประธานสภาหนึ่งคนโดยพรรครัฐบาลลงมติสนับสนุน เป็นต้น (รัฐธรรมนูญ มาตรา 124 เปิดช่องให้สภามีมติแต่งตั้งประธานหนึ่งคนและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกสองคน กฎหมายมิได้บังคับให้ผู้นำในสภาทั้งสามคนต้องมาจากพรรคฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด) หลักการเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้ในอีกหลายบริบท ไม่ว่าจะในระดับคณะกรรมาธิการของสภาก็ดี หรือแม้แต่การแต่งตั้งนักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระชุดใดก็ดี หรือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบรัฐบาล เช่น การคงตำแหน่งของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไว้ก็ดี ฯลฯ 2. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องสนับสนุนคณะกรรมการอิสระฯ อย่างจริงจัง คุณยิ่งลักษณ์ให้คำมั่นสัญญาว่าการปรองดองจะอาศัยกลไกสำคัญคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธาน และคุณยิ่งลักษณ์สัญญาว่าจะ “เพิ่มอำนาจ” ให้ แต่ผู้เขียนย้ำว่าการสนับสนุนโดยตัวคุณยิ่งลักษณ์หรือรัฐบาลเอง เช่น การประกาศนโยบายต่อสภาเป็นการทั่วไป หรือใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่สุดท้ายยุบได้โดยฝ่ายบริหาร (เช่น โดยระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี) นั้นไม่เพียงพอต่อคำมั่นสัญญา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก หากคุณยิ่งลักษณ์ต้องการแสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมว่าคณะกรรมการฯจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการทุกภาคส่วน ก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณยิ่งลักษณ์จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีที่มีผลผูกพันหน่วยงานราชการ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลหรือเชิญเจ้าหน้าที่มาให้ปากคำ ตลอดจนเรื่องงบประมาณหรือช่องทางที่จะนำผลการดำเนินงานมารายงานต่อสังคม นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการฯ มิได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน คุณยิ่งลักษณ์ต้องช่วยนำแรงสนับสนุนจากผู้แทนของปวงชนมาสู่คณะกรรมการฯ เช่น ประสานกับสภาเพื่อตราพระราชบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่และกระบวนการสนับสนุนการปรองดอง หรืออย่างน้อยในขั้นแรกก็คือการประสานให้มี “มติสนับสนุนของสภา” ที่ผู้แทนทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาต่างลงมติเป็นการทั่วไปอย่างน้อยก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนความชอบธรรมของกระบวนการปรองดองอย่างชัดแจ้ง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรคสี่อนุญาตให้รัฐสภาสามารถ “มีมติพิจารณาเรื่องอื่นใด” ได้) ยิ่งไปกว่านั้น ในวันแรกที่คุณยิ่งลักษณ์แถลงนโยบาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนที่กล้าเรียกร้องให้ผู้แทนทั้งสองสภาแสดงความจริงใจในการปรองดอง โดยทำงานอย่างขันแข็ง เข้าประชุมพร้อมเพรียงและไม่พิงเก้าอี้นุ่มในห้องแอร์เพียงสัปดาห์ละไม่กี่วัน แต่หมั่นลงพื้นที่และร่วมเวทีเพื่อรับฟังแนวคิดการปรองดองจากประชาชน เพื่อให้พระราชบัญญัติหรือมติของสภา หรือแม้แต่ข้อมูลจากประชาชนที่สนับสนุนงานของคณะกรรมการฯ ได้รับการพิจารณาและปรากฏผลอย่างเร่งด่วน 3. นับแต่วันแรก คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดมั่นใน “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ที่พร่ำสัญญาไว้ “หลักนิติธรรม” ต้องเป็นมากกว่าคำสวยหรูที่หยิบมาอ้างจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และต้องเป็นหลักการสูงสุดในการปรองดองและบริหารประเทศ เพื่อมิให้การปรองดองเป็นเพียงการปลอกและดองกติกาไว้ขณะผู้มีอำนาจจัดสรรประโยชน์ระหว่างกัน ในฐานะนักกฎหมาย ผู้เขียนย้ำว่า “หลักนิติธรรม” นั้น มิได้แปลว่าสิ่งใดหากมีกฎหมายบอกไว้อย่างเสมอภาคสิ่งนั้นจะถูกต้องเป็นธรรมเสมอไป กล่าวคือ “นิติธรรม” ไม่ใช่ “นิติทำ” ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายเท่าเทียมกันแล้วจะทำอะไรก็ได้ หากจะแปล “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ตามรัฐธรรมนูญไทยให้ชัด อย่างน้อยต้องแปลความรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ให้ครบถ้วนทั้งมาตรา กล่าวคือ “หลักนิติธรรม” ต้องควบคู่กับ “หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” และ “หลักการแบ่งใช้อำนาจ” หลักการเหล่านี้อาจเรียกว่า “หลักนิติธิปไตย” ซึ่งหมายถึง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ปวงชนเป็นใหญ่ ย่อมต้องปกครองด้วยกฎหมายที่เคารพเจตจำนงและสิทธิเสรีภาพของปวงชน มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจของปวงชนตามกฎหมายอย่างสมดุล อีกทั้งสอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและประเพณีการปกครอง และต้องมิใช่กฎหมายที่สร้างขึ้นโดยผูกขาด ไม่ว่าจะโดยอำนาจบริหารที่ขาดการตรวจสอบ อำนาจเผด็จการทางรัฐสภา หรืออำนาจตุลาการที่ตีความกฎหมายอย่างไร้มาตรฐาน และต้องมิใช่การอาศัยเสียงข้างมากกดขี่สิทธิพื้นฐานของเสียงข้างน้อย (กล่าวคือต้องเคารพทั้ง majority rules และ minority rights) (อนึ่ง “หลักนิติธิปไตย” ดังกล่าวย่อมมีสาระใกล้เคียงกับ “หลักนิติธรรม” ตามแนวคิดแบบอังกฤษหรือ “หลักนิติรัฐ” ตามแนวคิดภาคพื้นยุโรป ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมคำอธิบายเรื่องไว้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/rule-of-law) ยกตัวอย่างให้ชัด สมมติวันหนึ่งมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดบางกลุ่มอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า ก็มิได้แปลว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ทันที แต่ต้องพิจารณาถึงหลักนิติธิปไตยให้ถ่องแท้ อาทิ กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งตรงกันข้ามกับเจตจำนงของประชาชนในการปรองดองหรือไม่ และเป็นการบั่นทอนอำนาจฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจตุลาการในการพิจารณาคดีจนทำให้การแบ่งใช้อำนาจเสียสมดุลหรือไม่ ทั้งนี้ร่างหรือกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวย่อมสามารถถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตีความให้ร่างหรือกฎหมายดังกล่าวตกไปได้ ในทางตรงกันข้าม หากกระบวนการปรองดองหมายถึงการอาศัยประชามติเพื่อเยียวยาแก้ไขการลงโทษอย่างอยุติธรรมที่สืบผลมาจากความไม่ชอบธรรมของอำนาจนอกระบบอันไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน อันเป็นการกดขี่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด อีกทั้งลุแก่หลักสมดุลแห่งการใช้อำนาจ ซึ่งล้วนไม่ชอบด้วยหลักนิติธิปไตยมาแต่ต้น ย่อมถือเป็นกรณีการปรองดองที่ต่างจากตัวอย่างการนิรโทษกรรมที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ คุณยิ่งลักษณ์จะพูดถึงหลัก “นิติธรรม” เพียงเฉพาะเรื่องปรองดองหรือนิรโทษกรรมไม่ได้ แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดหลักการดังกล่าวอย่างเสมอต้นแสมอปลายในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหาร ดั่งที่เคยมีนายกรัฐมนตรีตั้ง “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ไว้ หรือการเร่งรัดสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องภาษีที่ดิน ที่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผลักดันเข้าสภาได้สำเร็จ หรือการใช้กฎหมายสนับสนุนประสิทธิภาพของศาล ดังที่อดีตประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยให้ผู้พิพากษาเพิ่มเวลาทำงานเพื่อช่วยกันพิจารณาคดีที่มีค้างในศาลเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทยในสายตาชาวต่างชาติ โดยปราบปรามแหล่งมั่วสุมที่กลาดเกลื่อนทั่วประเทศและโจษจันจนขายหน้าไปทั่วโลก ฯลฯ ที่สำคัญ หากคุณยิ่งลักษณ์เชื่อในหลักการเหล่านี้จริง นับแต่วันแรกที่แถลงนโยบายต่อสภา คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความกล้าหาญในฐานะผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธลัทธิรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง และไม่ปล่อยให้ใครกล้าตบเท้าทับรัฐธรรมนูญและตบหน้าประชาชนได้ ในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. ยังมีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ทำนองว่า “การปฏิวัติ” (รัฐประหารยึดอำนาจ) ยังเป็นทางเลือกในสังคมไทย อีกทั้งกล่าวเชิงข่มขู่ว่า “แม้ทหารทุกคนไม่มีใครอยากจะปฏิวัติแต่ถ้ามีปัจจัย…ทหารก็จะต้องมาทบทวนบทบาทกันอีกครั้ง” เมื่อมีผู้ดูถูกเหยียบหยามการตัดสินใจของปวงชนและรัฐธรรมนูญเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดคุณยิ่งลักษณ์และผู้แทนปวงชนในสภาต้องออกมาร่วมกันประณามบุคคลดังกล่าว และไม่ปล่อยให้การปรามาสสติปัญญาทางประชาธิปไตยของปวงชนเป็นเรื่องปกติอีกต่อไปในสังคมไทย แม้วันนี้คุณยิ่งลักษณ์จะยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และอาจกำลังสาละวนอยู่กับเก้าอี้ดนตรีและร่างนโยบายที่จะแถลงต่อสภา แต่ขอฝากให้คุณยิ่งลักษณ์คิดให้หนักแน่นว่า สิ่งต่างๆที่คุณยิ่งลักษณ์ลงมือทำนับแต่วันแรกจะเป็นเครื่องวัดว่าในวันสุดท้าย ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะถูกขานเป็นตำนานจากชั้นตำราประถมไปถึงบทกวีในพิพิธภัณฑ์ หรือจะเหลือเพียงชื่ออันเจ็บปวดที่ประชาชนคนไทยลืมไม่ลงแม้ไม่อยากจะนึกถึงก็ตาม หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2554 ข้อมูลเกี่ยวกับเกี่ยวกับ “นิติรัฐ-นิติธรรม” รวบรวมไว้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/rule-of-law

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net