คนหายอีก 2 ในบันนังสตา ร้อง DSI รับเป็นคดีพิเศษ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 26 กรกฎาคมพ.ศ. 2554 ญาติของนายอิบรอเฮง กาโฮง และนายดุลหามิ มะแร ชาวบ้านอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องการหายตัวไปของบุคคลทั้งสองเป็นคดีพิเศษ รวมทั้งช่วยติดตามเรื่องและประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ในการหาตัวบุคคลทั้งสองด้วย โดยมีนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ด้วย จากนั้นญาติของทั้ง 2 คน ได้ไปยื่นหนังสือให้ช่วยติดตามเรื่องและประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวพรเพ็ญ เปิดเผยว่า ในเวลา 11.30 น. ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ญาติจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวต่อสำนักพระราชวัง และผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม แจ้งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติของทั้งสองคนว่า ทั้งสองคนได้หายตัวไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 โดยมีข้อมูลเบื้องต้นจากญาติว่า ในวันดังกล่าว ทั้งสองคนได้ไปติดตามเรือที่ถูกยึดไปที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ค่ายนเรศวร บ้านสันติ 1 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าค่ายตำรวจพลร่ม จากนั้นได้หายตัวไป มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อไปว่า ที่ผ่านมานับแต่วันที่หายตัวไปญาติของบุคคลทั้งสอง ได้เดินทางไปยังค่ายค่ายนเรศวร เพื่อติดตามตามหาบุคคล 2 คนตลอดมา และแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจท้องที่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พร้อมกับได้ขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่มาโดยตลอด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งอีกว่า ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้ยอมรับว่า บุคคลทั้งสองสูญหายจริง แต่จากการติดตามคดีพบว่า ไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ญาติแต่อย่างไร อีกทั้งการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลและการติดตามบุคคลสูญหาย จึงได้เดินทางมากรุงเทพเพื่อยื่นขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามหายบุคคลสูญหายให้ได้ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร “การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง การติดตามหาอย่างเร่งด่วนอย่างจริงจังในระยะวันแรกๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการค้นหาความจริงและนำบุคคลกลับคืนสู่สภาพเดิม แต่อย่างไรก็ดี การสืบสวนสอบสวนนั้น ต้องดำเนินการอย่างเป็นอิสระอย่างจริงจังเท่านั้น จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเป็นธรรม และสามารถให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายได้” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ “อีกทั้งขณะนี้ญาติและชุมชนที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่หายไปทั้งสองเกิดความหวาดกลัวอิทธิพลในพื้นที่และต้องการให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน และสร้างความเชื่อมั่นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการทำคดี เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น เชื่อมโยงกับการติดตามเรือที่ถูกยึดไปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของค่ายตำรวจพลร่มดังกล่าว” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท