Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมเพื่อการเข้าถึงยา เตือนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปลอดผลประโยชน์ก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องการเป็นองค์กรมหาชน ชี้อิสระในการทำงาน หมายรวมถึงอิสระทั้งจากนักการเมือง โลกทัศน์คับแคบของระบบราชการ และผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนด้วย ภาพจาก weisserstier (CC BY 2.0) (26 ก.ค.54) กรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเสนอแผนงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ผลักดันกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบราชการไปเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยอ้างว่าเพราะกรมทรัพย์สินฯ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้นั้น นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า จริงอยู่ การเป็นองค์กรมหาชนทำให้หน่วยงานมีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่ความคล่องตัวหรืออิสระในการทำงานนั้น ควรต้องหมายถึงความเป็นอิสระทั้งจากนักการเมือง กฎระเบียบและโลกทัศน์ที่คับแคบของระบบราชการ และที่สำคัญต้องเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของบริษัทที่เข้ามาจดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย “แต่จากการทำงาน ผลงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของอธิบดีฯ แสดงให้เห็นแต่ด้านที่กรมฯทำให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนสองฝั่ง คือทั้งผู้ทรงสิทธิและสาธารณชนอย่างไร เพราะการหารายได้เลี้ยงตัวเองได้มาก ในที่สุดจะมาจากการเร่งจดทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ฯลฯ ให้ได้จำนวนมากๆ อย่างไม่รอบคอบ ทั้งที่เป้าหมายอีกด้านที่กรมฯต้องทำคือ สร้างความสมดุล โดยทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นจะต้องมีคุณภาพเพียงพอต่อสังคมจึงจะได้สิทธิผูกขาดไป และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคน” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งทำงานด้านการเข้าถึงยามาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ณ เวลานี้ บทบาทของกรมทรัพย์สินฯยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ยังไม่เห็นว่าเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากพอ และยังมีความน่าเคลือบแคลงมากว่า โดยเป็นหน่วยราชการที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสั่งได้-ประเทศพัฒนาแล้วกดดันได้ “เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยาข้ามชาติจำนวนมากได้ ยื่นหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทบทวนคำสั่งปฏิเสธข้อถือสิทธิการใช้ยาเพื่อเตรียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ได้มีการปฏิเสธก่อนหน้านี้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานของคณะกรรมการสิทธิบัตร ปรากฏว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแทนที่จะส่งให้คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณา กลับส่งให้ ‘คณะอนุกรรมการสิทธิบัตร สาขาเคมี’ ซึ่งมีประธานซึ่งมีผู้ใกล้ชิดทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติชี้ขาดว่า คำวินิจฮัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรไม่เป็นบรรทัดฐาน แล้วจะให้สาธารณชนไว้วางใจได้อย่างไร” นายนิมิตร์กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญายังตั้งกรรมการจำนวนมากจากฝ่ายผู้ทรงสิทธิบัตรและที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทยาข้ามชาติ โดยที่ไม่มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วย หรือผู้บริโภคที่ทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรตั้งต้นจากการเริ่มหัดคิดและทำให้เป็นอิสระจากผลประโยชน์เสียก่อน จึงค่อยคิดเรื่องการเป็นองค์กรมหาชนที่อาจดีแค่เรื่องการจัดการ แต่อาจส่งผลเสียหายในระยะยาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net