Skip to main content
sharethis

23 ก.ค.54 เวลา 10.00 น. ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว กลุ่มกิจกรรมการเมืองต่างๆ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “ม.112!?” รวมถึงการเปิดวงเสวนา 112: ถึงเวลาคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหา โดยกลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย และ Thailand Mirror ผู้อภิปรายมี ประกอบด้วย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ และ วาด รวี นักเขียนอิสระ ผู้นำในการรวบรวมรายชื่อนักเขียนในแถลงการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 และหยุดใช้ข้อกล่าวหานี้ โดยมี จอม เพชรประดับ จาก Voice TV เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ บรรยากาศภายในงานครั้งนี้เป็นไปอย่างคึกคัก และการเสวนาได้รับความสนใจจากประชาชนจนล้นห้องประชุม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทยว่า เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยชนะไม่ใช่เพราะมีมวลชนมาก แต่เพราะฝ่ายอำมาตย์ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าในรอบ 5 ปีที่ผ่าน ตั้งแต่ทำรัฐประหาร เพราะถ้าดูจากกระแสประวัติศาสตร์โลก ประเทศที่ก้าวหน้าเขาไม่ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบนี้กันแล้ว ต่อให้รัฐบาลบริหารงานผิดพลาดเค้าก็ไม่ทำแบบนี้ เค้าตัดสินทางการเมืองด้วยเสียงประชาชน ในเรื่องของกฎหมายหมิ่นฯ สุธาชัยให้ความเห็นว่า จากตัวเลขที่นักวิชาการฝรั่งประเมินหลังจากรัฐประหาร19 กันยายน 2549 มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นถึง 500 เท่า โดยถ้าเป็นฝ่ายเสื้อแดงโดนคดีนี้จะไม่ได้ประกัน แต่ถ้าเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองคดีอะไรก็ได้ประกัน เช่นกรณีของคุณดา ตอร์ปิโด และคุณสนธิ ที่เป็นการดำเนินการสองมาตรฐาน โดยตอนนี้คุณดาติดคุกแล้วสามปี แต่คุณสนธิก็ได้ประกันตัวและไม่ได้ติดคุกเลย เรื่องสิทธิการประกัน รัฐธรรมนูญระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แปลว่ามีความผิด แต่ในคดีหมิ่นฯ ผู้ถูกกล่าวหากลับถูกจับและไม่ได้รับการประกัน ฉะนั้นตั้งแต่นี้ไปใครโดนคดีหมิ่นฯ ก็จะหนีเลยเพราะไม่ได้ประกัน จากนั้นศาลก็อ้างว่าไม่ให้ประกันเพราะกลัวจะหนี กลายเป็นวงจร ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นคนเสื้อแดงแล้ว ศาลจะใช้การตีความให้ผิดไว้ก่อนเสมอ อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวว่า การพูดถึงปัญหา 112 มีการพูดถึงมาเยอะแล้ว แต่ด้วยฐานะของการเป็นนักมานุษยวิทยา สิ่งที่จะพูดจะไม่ได้เป็นมองมาตรา 112 จากแง่มุมของกฎหมาย แต่จะมองมาตรา 112 ในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมไทยว่ามาตรา 112 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ในสังคมไทยการเชื่อในการใช้อำนาจเหนือชีวิต ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของเจ้าเหนือชีวิตคือทำตัวอยู่ใต้และอยู่เหนือกฎหมายในเวลาเดียวกัน คือพระราชอำนาจในการลดโทษประหารชีวิตเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น สถานะในความเป็นเจ้าเหนือชีวิตจึงถูกนำมาใส่ในกฎหมาย เช่นในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 8 สิ่งที่เราเผชิญมันไปไกลกว่า112 แต่มันคือเรื่องของอำนาจเหนือหัว อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คืออำนาจอธิปัตย์ที่ชนชั้นนำนำมาใช้กับประชาชน อำนาจอธิปัตย์ที่นำมาใส่ในรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยควบคู่ไปกับอำนาจของประชาชนในไทย วาด รวี ให้ความเห็นว่า มาตรา 112 เกี่ยข้องกับนักเขียนด้วยเช่นกัน เพราะในการเขียนหนังสือ ความคิดใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากไม่มีเสรีภาพ มาตรา112 กระทบนักเขียน ทั้งเสรีภาพในฐานะพลเมืองของรัฐประชาธิปไตย และในฐานะของนักเขียน พื้นที่ของการเขียนหนังสือเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิด ซึ่งเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นเสมอ ความขัดแย้งคือจุดกำเนิดของความคิดใหม่ๆ ความคิดเห็นที่ทั้งดีทั้งเลว ย่อมต้องมีเสรีภาพในการนำเสนออย่างเท่าๆ กัน ความคิดแย่ๆ หรือความคิดที่ใช้ไม่ได้จะนำไปสู่ความคิดที่ดีกว่า ในพื้นที่ของการแสดงความคิดหรือแสดงปัญญาจะต้องมีสิทธิในการแสดงความคิดเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการไม่เห็นด้วยกับการแก้ 112 มีทางออกที่ดีกว่าไหม ทุกวันนี้เขายังไม่มี การที่คุณยังไม่มีความคิดที่ดีกว่า แต่คุณใช้กำลังใช้อำนาจ ใช้อำนาจนำในเชิงวัฒนธรรมเพื่อที่จะกฎขี่ปราบปราม ไม่ใช่หลักการของเสรีภาพ แล้วการที่คุณจะเขียนเรื่องวิกฤติการเมือง โดยไม่เขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เขียนเรื่องสังคม แต่ไม่เขียนเรื่องสถาบัน ก็เฟค ก็เป็นงานเขียนที่ไม่จริง คุณบอกว่าจะจะอภิปรายปัญหาสังคม โดยที่ไม่พูดถึงประเด็นสถาบัน มันก็จะเป็นการอภิปรายที่แหว่งวิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net